กมธ.ประชามติ เคาะใหม่ใช้เสียง ปชช. 50,000 ชื่อ เสนอทำประชามติ สุดท้ายได้ทำหรือไม่ เป็นอำนาจ ครม.

‘กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ’ เคาะใหม่ ใช้ 50,000 ชื่อ ปชช. เสนอทำประชามติ ย้ำ สุดท้ายได้ทำหรือไม่ยังเป็นอำนาจ ครม.เหมือนเดิม

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 2 เมษายน ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แถลงผลการประชุมของ กมธ. กรณีการแก้ไขายละเอียดมาตราที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 9 ที่รัฐสภาเห็นชอบไปแล้ว ว่า เรื่องการเข้าชื่อของประชาชนได้มีการทบทวน และพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้วเห็นว่า การที่ภาคประชาชนจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงขั้นทำประชามติ ยังต้องใช้เสียงประชาชน 50,000 ชื่อ ที่ประชุมจึงเห็นว่า หากประชาชนจะเสนอให้ทำประชามติก็ต้องใช้เสียง 50,000 ชื่อเช่นกัน โดยเสียงส่วนใหญ่ให้ใช้เกณฑ์ประชากรเป็นหลักในการเสนอชื่อ

นายวันชัยกล่าวว่า ประเด็นต่อมาคือ ไม่ว่ากรณีที่ ครม.มีมติเห็นชอบ หรือรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ สุดท้ายคือภาคประชาชนเป็นผู้เสนอก็ยังให้เป็นอำนาจของ ครม.ที่จะพิจารณาเห็นสมควร โดยพิจารณาถึงเรื่องงบประมาณ และเหตุแห่งความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้นำมาประกอบการพิจารณาในการทำประชามติแต่ละครั้ง

นายวันชัยกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาตกลงกันแล้ว เสียงส่วนใหญ่มีความเห็นให้แก้ไขปรับปรุงมาตรา 10 และ 11 ให้สอดรับและแก้ไขไปได้ด้วยความเรียบร้อย ขอยืนยันว่าที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า กฎหมายฉบับนี้จะตกไปนั้น เท่าที่พิจารณามาทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่น่าจะมีปัญหา โดยกฎหมายฉบับนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 เมษายน และคิดว่าการพิจารณาในที่ประชุมจะผ่านไปได้

Advertisement

เมื่อถามว่า ขณะนี้การพิจารณาเสร็จสิ้น 100% แล้วหรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า ขณะนี้เหลือเพียงมาตราอื่นที่ปรับให้สอดรับกัน แต่ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เสร็จเรียบร้อย

เมื่อถามว่า เมื่อประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อ ครม.แล้ว มีกรอบเวลากำหนดหรือไม่ว่า ครม.จะต้องพิจารณาตรวจสอบโดยใช้เวลาเท่าใด เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่า ครม.สามารถใช้ช่องทางนี้เตะถ่วงได้ นายวันชัยกล่าวว่า หลักเกณฑ์และวิธีการที่ กมธ.กำหนด ตามมาตรา 9 (5) แปลว่าหลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ ให้เป็นอำนาจของ กกต. ฉะนั้น เมื่อยื่นไป ครม.แล้วจะใช้เวบลาเท่าไหร่ เป็นรายละเอียดที่ กกต.ต้องเป็นผู้กำหนด กมธ.เพียงแค่กำหนดว่าไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อเท่านั้น ส่วนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และการถูกจำกัดสิทธิต้องเป็นไปตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด

เมื่อถามว่า หลักเกณฑ์ที่ ครม.จะใช้ดุลพินิจในการให้ทำประชามติมีกรอบอย่างไร นายวันชัยกล่าวว่า โดยหลักแล้ว ครม.เขียนไว้ว่า เมื่อ ครม.พิจารณาแล้วเห็นสมควร แต่กรณีมีเหตุแห่งความจำเป็นเรื่องงบฯ หรือมีเหตุที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ครม.อาจจะกำหนดวันที่แตกต่างจากที่กำหนดไว้ก็ได้ สรุปคือให้ ครม.มีอำนาจตามมาตรา 166 แต่เชื่อว่า ครม.ต้องนำมติของที่ประชุมรัฐสภา และเสียงของประชาชนมาพิจารณาอย่างสำคัญ

Advertisement

เมื่อถามว่า ถ้าเรื่องนี้มีประเด็นทางการเมืองเข้ามา ครม.อาจจะมีมติที่จะไม่ดำเนินการได้ใช่หรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาว่า ครม.ไม่ได้หมายถึง ครม.ชุดนี้เท่านั้น เป็นเรื่องของ ครม.ชุดต่างๆ ไม่ว่าจะใช้สมัยใดก็ต้องใช้กำหมายฉบับนั้น ครม.ต้องฟังเสียงของรัฐสภา เพราะ ครม.ก็มาจากรัฐสภาด้วย แต่ ครม.จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องให้อำนาจ เพราะเขาเป็นผู้ใช้งบประมาณ แต่ในการตัดสินใจก็ต้องฟังเสียงรัฐสภากับขประชาชนเป็นสำคัญ

เมื่อถามว่า ในมาตรา 9 มีการะบุไว้ชัดเจนแล้วว่า เมื่อที่ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกฯทราบแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเลย ตรงนี้จะไปย้อนแย้งกันการพิจารณาของ กมธ.ที่ให้นำเข้า ครม.เพื่อให้ ครม.พิจารณาก่อนหรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า กมธ.พิจารณาปรับปรุงแแก้ไขให้สอดรับกันแล้ว โดยปรับมาตรา 10 และ 11 ให้สอดรับ และดำเนินการตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากทำตามที่มาตรา 9 ระบุไว้เป๊ะๆ เลยจะทำไม่ได้ เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงเขียนมาตรา 11 มาให้สอบรับกัน

เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจหรือไม่ว่าจะไม่ทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีปัญหา นายวันชัยกล่าวว่า ไม่มี ซึ่งตรงนี้ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน และยอมรับได้ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะทุกคนอยากให้กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้โดยคำนึงถึงรัฐธรรมนูญ และประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image