เรียนรู้รูปภาพใหญ่การเมืองแห่งทวีปยุโรปจากชีวิตเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ

FILE PHOTO: REUTERS/Paul Edwards/Pool/

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2564 เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระสวามีแห่ง สมเด็จ
พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 99 พรรษา ที่ปราสาทวินด์เซอร์ แคว้นเบิร์กเชียร์ โดยพระองค์อยู่เคียงข้างควีนเอลิซาเบธที่ 2 ตลอดระยะเวลา 73 ปี ถือเป็นพระสวามีที่รับใช้ประมุขแห่งอังกฤษอย่างยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษเลยทีเดียว

เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2464 เป็นเจ้าชายแห่งกรีซและเดนมาร์ก เดิมมีพระนามว่า เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก พระบิดาคือ เจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซ พระมารดา คือเจ้าหญิงอลิซ แห่งแบทเทนเบิร์ก เป็นธิดาองค์โตของเจ้าชายหลุยส์แห่งแบทเทนเบิร์ก แต่หลังจากการปฏิวัติในประเทศกรีซเมื่อ พ.ศ.2465 พระบิดาถูกศาลปฏิวัติของกรีซขับไล่ออกจากประเทศกรีซ เจ้าชายฟิลิปจึงต้องออกจากประเทศกรีซไปอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และเมื่ออายุได้ 7 ขวบ จึงย้ายมายังประเทศอังกฤษเพื่ออาศัยอยู่กับญาติข้างแม่สายเมาท์แบทเทน (เนื่องจากนามสกุลแบทเทนเบิร์กนั้นออกจะเป็นเยอรมันมากไป จึงเปลี่ยนมาเป็นเมาท์แบทเทน เหมือนกับชื่อราชวงศ์ของอังกฤษที่เปลี่ยนจากราชวงศ์จาก “ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา” เป็นราชวงศ์ วินด์เซอร์ เพราะตอนนั้นอังกฤษรบกับเยอรมนีตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นเอง) ซึ่ง
เอิร์ลเมาท์แบทเทน ได้รับเจ้าชายฟิลิปเป็นบุตรบุญธรรม เจ้าชายฟิลิป จึงเติบโตและได้รับการศึกษาในฝรั่งเศส, เยอรมนี และอังกฤษ พระองค์เข้ารับราชการทหารในราชนาวีอังกฤษเมื่อปี พ.ศ.2482 ในพระชันษา 18 ปี และในปีนั้นเอง พระองค์ทรงเริ่มติดต่อทางจดหมายกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธในพระชันษา 13 ปีในฐานะทหารเรืออังกฤษ ทรงเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองโดยทรงปฏิบัติหน้าที่ในกองเรือเมดิเตอร์เรเนียนและกองเรือแปซิฟิก ภายหลังสงครามสิ้นสุด ทรงได้รับอนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ พระองค์ทรงสละฐานันดรทั้งหมดของกรีซและเดนมาร์ก และกลายเป็นสามัญชนของอังกฤษโดยใช้ชื่อและนามสกุลอังกฤษ เป็น นายฟิลิป เมาท์แบทเทน นายฟิลิปได้รับพระราชทานยศขุนนางเป็นดยุคแห่งเอดินบะระ, เอิร์ลแห่งเมริออเน็ต และบารอนกรีนิช แล้วจึงได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง
เอลิซาเบธเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ต่อมาเมื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.2495 ดยุคแห่งเอดินบะระจึงลาออกจากทหารเรือในยศนาวาโท ดยุคแห่งเอดินบะระได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าอังกฤษอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2500

ครับ ! เรื่องการเมืองในทวีปยุโรปรวมทั้งอังกฤษด้วยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.1019 ซึ่งเป็นปีที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายก็เกิดประเทศต่างๆ ขึ้นมาอย่างมากมายและประเทศแทบทุกประเทศก็จะมีกษัตริย์ปกครองเรียกว่าการเมืองในทวีปยุโรปก็คือ การเมืองที่มีระบบกษัตริย์เป็นประมุขนั่นเอง คราวนี้บรรดากษัตริย์เหล่านี้ซึ่งเดิมก็เป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่เมื่อตั้งตัวเป็นกษัตริย์แล้วก็มีประเพณีว่าเป็นชนชั้นเจ้าไม่ใช่เป็นชนชั้นคนธรรมดาสามัญแล้วต้องมีราชวงศ์สืบทอดอำนาจกันต่อไปจึงมีกฎเกณฑ์หลักปฏิบัติที่ตราเป็นกฎหมายขึ้นมาส่วนใหญ่ก็จะคล้ายๆ กันคือการสืบทอดอำนาจจะยึดสายตรงเป็นหลักคือต้องเป็นลูกชายคนโตของกษัตริย์องค์ที่เกิดจากภรรยาหลักที่มีเชื้อเจ้าเหมือนกันเท่านั้น ซึ่งการแต่งงานของบรรดากษัตริย์เหล่านี้ก็มีประเพณีว่าทางฝ่ายหญิงต้องนำทรัพย์สมบัติ หรือดินแดนมามอบให้ฝ่ายชายเป็นค่าสินสอด (จริงๆ นะครับ) ทำให้เจ้าบางราชวงศ์เช่นราชวงศ์ฮับสเบิร์ก (Habsburg) แห่งประเทศออสเตรียสามารถขยายอาณาจักรออกจนเป็นจักรวรรดิที่เรืองอำนาจในยุโรปได้ยุคหนึ่งด้วยการแต่งงานโดยแท้

เมื่อประเพณีและกฎหมายเกี่ยวกับกษัตริย์ของทวีปยุโรปได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงแล้วปรากฏว่าประเทศเยอรมนีในช่วงก่อนยุคของนโปเลียนนั้นเคยแบ่งออกเป็นประเทศต่างๆ ร่วม 300 ประเทศเลยทีเดียว ดังนั้นดินแดนเยอรมันจึงเป็นแหล่งรวมของบรรดากษัตริย์ และเจ้าหญิง เจ้าชายทั้งหลายเพื่อการแต่งงานแก่บรรดากษัตริย์และเจ้าทั่วยุโรป

Advertisement

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าบรรดากษัตริย์และเจ้าทั้งหลายส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปต่างก็มีเชื้อสายเยอรมัน
ทั้งสิ้น โดยอังกฤษเองก็เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดแจ้งที่สุดเมื่อครั้นสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์สวรรคตใน พ.ศ.2257 (สมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย) เจ้าชายจอร์จ ซึ่งเป็นเจ้าเยอรมันราชวงศ์แฮโนเวอร์ เสด็จมาปกครองอังกฤษตามคำกราบทูลเชิญของคณะขุนนาง เพราะอังกฤษขาดสมาชิก
พระราชวงศ์สายตรงที่จะครองราชย์ได้ขณะเดียวกันสมาชิกพระราชวงศ์พระองค์อื่นๆ ก็มีผู้ตั้งข้อรังเกียจต่างๆ ไปหมดเนื่องจากส่วนมากนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในขณะที่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ไม่ใช่แค่นั้นเจ้าชายจอร์จเป็นเชื้อสายพระญาติที่พอจะครองราชสมบัติอังกฤษได้เพราะทรงเป็นโปรเตสแตนต์ จึงอภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งอังกฤษ แต่พระองค์
ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการบ้านเมืองของอังกฤษ อีกทั้งไม่ทรงสันทัดภาษาอังกฤษด้วย เป็นเหตุให้พระองค์ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างราบรื่น ทำให้บทบาทของคณะองคมนตรียิ่งลดลงไปด้วยนอกจากจะเคยขัดแย้งกับกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ อยู่แล้ว เมื่อมีกษัตริย์เชื้อสายเยอรมันที่ตรัสภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ และไม่สนพระทัยที่จะปกครองบ้านเมืองมาเป็นประมุขอีกด้วย ในระยะนี้เองที่คณะเสนาบดีหรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งแต่เดิมเคยบริหารประเทศภายใต้อำนาจของกษัตริย์และคณะองคมนตรี จึงกลายเป็นผู้ถือครองอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินแทนระยะแรกๆ พระเจ้าจอร์จที่ 1 ก็เสด็จออกประชุมว่าราชการร่วมกับคณะเสนาบดีด้วย แต่เนื่องจากตรัสภาษาอังกฤษไม่ได้ จึงเป็นโอกาสให้ เซอร์ โรเบิร์ต วอลโพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีความสามารถช่วยให้อังกฤษผ่านพ้นวิกฤตทางการเงินได้ และพอจะกราบบังคมทูลเป็นภาษาเยอรมันผสมภาษาละตินได้บ้าง เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก

เหตุนี้เซอร์วอลโพล จึงถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีหมายเลข 1 (Prime Minister) ของอังกฤษ ซึ่งอีกหลายปีต่อมาตำแหน่งนี้เรียกว่า “นายกรัฐมนตรี” และเป็นที่รู้จักในระบบการเมืองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image