75 วัน (ต้าน) รัฐประหารเมียนมา จากตีหม้อ เคาะกระทะ สู่สงครามกลางเมือง

สถานการณ์ต้านรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งเริ่มจากอารยะขัดขืน ยกระดับจ่อเข้าสู่สงครามกลางเมือง

ในที่สุดสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาก็ดำเนินไปสู่จุดที่ต้องจับตาอีกครั้ง หลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหารประกาศตั้งรัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ พุ่งเป้าถอนรากถอนโคนระบอบทหาร เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา หลังโลกเฝ้ามองอย่างกังวลใจในชะตากรรมของประชาชนชาวเมียนมา นับแต่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผู้คนดำเนินวิธีการอารยะขัดขืน ตีหม้อ เคาะกระทะ จนถึงการปะทะ คุกคาม ปราบปรามอย่างรุนแรงจนวันนี้ยอดผู้เสียชีวิตขยับใกล้สู่หลักพัน

ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย เปิดเผยว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ยืนยันว่าจะเข้าร่วมประชุมสมัยพิเศษของผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 24 เมษายนนี้ โดยถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำการยึดอำนาจของเมียนมา จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลเมียนมาในการเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ หลังโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี)

ภาพจากองค์กร ทวายวอตช์ เผยให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงเดินชู 3 นิ้ว ต้านรัฐประหารในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน (เอเอฟพี)

ด้านกลุ่มผู้ประท้วงยังคงสามารถอาศัยสื่อโซเชียลเรียกระดมประชาชนให้ก่อหวอดประท้วงในเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการปกครองของกองทัพเมียนมาอยู่ต่อไป โดยเรียกร้องให้ประชาชน “ประท้วงเงียบ” ด้วยการอยู่กับบ้าน เพื่อไว้อาลัยต่อบรรดาผู้เสียชีวิต แต่หากใครจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ก็ให้แต่งชุดดำเป็นสัญลักษณ์ไว้อาลัย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่าสงกรานต์ในพม่าปีนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ยอมเข้าร่วมในการฉลองเทศกาลนี้เหมือนเช่นปกติ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลและสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวแกนนำพลเรือนที่ถูกจับกุม ส่วนรัฐบาลทหารก็ยังคงออกปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มต่อต้านในยามกลางคืนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในบางจุด รวมทั้งที่เมืองมยินจาน

Advertisement

กล่าวได้ว่า จากวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ อีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์การเมืองอาเซียน ถึงกลางฤดูร้อนที่อุณหภูมิในสมรภูมิร้อนยิ่งกว่า นับเป็นเวลา 75 วัน ซึ่งมากมายด้วยเหตุการณ์ต้องจับตาแบบวันต่อวัน

ตั้ง ‘รัฐบาลประชาชน’ พุ่งเป้า ‘ถอนโคนระบอบทหาร’

เริ่มต้นด้วยประเด็นน่าสนใจเมื่อไม่กี่วันมานี้ ที่ คณะกรรมการผู้แทนสภาปยีดองซู (CRPH-Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw) ซึ่งกลุ่ม ส.ส.สังกัดพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำงานด้านการเมืองในการต่อต้านรัฐบาลทหาร ประกาศจัดตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นเรียกว่า รัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพแห่งชาติ

Advertisement

เป้าหมายหลักคือการถอนรากถอนโคนระบอบการปกครองของทหาร โดยมี มิน โก นาย อดีตแกนนำการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาเมียนมาเมื่อปี 1988 เป็นผู้อ่านประกาศผ่านคลิปวิดีโอไลฟ์สดความยาวราว 10 นาที บนเว็บไซต์ พับลิค วอยซ์ ทีวี เรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้การต้อนรับ “รัฐบาลของประชาชน” โดยย้ำว่า เจตนารมณ์ของประชาชนคือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติยึดถือ พร้อมยอมรับว่าภารกิจที่รออยู่เบื้องหน้าไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

ผู้ประท้วงวาดรูปชู 3 นิ้วด้วยสีแดงลงบนพื้นถนน ในการรณรงค์ประท้วงเลือด ที่เมืองชเวโบ เขตสะไกง์ของเมียนมา เมื่อวันที่ 14 เมษายน (เอเอฟพี)

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานาธิบดี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย 11 รัฐมนตรีใน 12 กระทรวง รวมถึงแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างๆ อีก 12 ตำแหน่ง โดย ครม. 26 คน มี 13 คนมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ และอีก 8 คนเป็นนักการเมืองสตรี

“เรากำลังดำเนินความพยายามเพื่อขุดรากถอนโคนระบอบการปกครองของทหาร ดังนั้น เราจำเป็นต้องเสียสละมหาศาล” มิน โก นาย กล่าวในคลิป

ประเด็นนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า รัฐบาลดังกล่าวปรากฏรายชื่อของแกนนำในการประท้วงที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ โดยบางรายรับตำแหน่งรัฐมนตรี เช่นเดียวกับสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์อีกจำนวนหนึ่งที่เคยต่อสู้กับกองทัพเมียนมามานานหลายสิบปี เน้นให้ความสำคัญต่อการสถาปนา สหพันธรัฐประชาธิปไตย ขึ้นมาแทนที่ระบอบการปกครองของทหารในเมียนมา ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างขบวนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร กับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศเรื่อยมา

ดร. ซาซา นักการเมืองจากพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ยืนยันเช่นกันว่า วัตถุประสงค์เฉพาะหน้าของรัฐบาลก็คือ การยุติความรุนแรง, การฟื้นฟูประชาธิปไตยและการสร้าง “สหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตย” ขึ้น

ในเวลาเดียวกัน ปรากฏเฟซบุ๊กของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า ‘กองทัพสหพันธรัฐอิรวดี’ ประกาศรับสมัครกำลังพล และระบุว่า วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทัพขึ้นมา เพื่อต่อสู้และเอาชนะกองทัพเมียนมาในเวลานี้เพื่อฟื้นฟูรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และให้ความคุ้มครองพลเรือนจากความรุนแรงของทหารในกองทัพ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะปฏิบัติการอย่างไรต่อกองกำลังทหารในกองทัพที่ผ่านการฝึกฝนและมีประสบการณ์สู้รบมาแล้วเป็นอย่างดี

สภาพป้ายรถเมล์แห่งหนึ่งในเมียนมาที่ถูกสาดด้วยสีแดงไปทั่ว ในเขตดากอน นครย่างกุ้ง ในเทศกาล ‘ตะจาน’ หรือสงกรานต์ปีนี้ ที่ผู้คนประท้วงเงียบ ไม่ออกมาเฉลิมฉลอง (เอเอฟพี)

สงครามกลางเมืองพม่า อนาคตที่กระทบประชาชนไทย

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่า เผยแพร่บทวิเคราะห์ในตอนหนึ่งว่า สำหรับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหาร วิธีการเดียวที่จะล้มล้างรัฐประหารในครั้งได้คือการหันไปขอการสนับสนุนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับกองทัพพม่ามายาวนาน *การเจรจาครั้งนี้เป็นการเจรจาแบบวิน-วิน สำหรับทั้งสองฝ่าย เพราะหากฝ่ายประชาชนพม่า ซึ่งหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ‘บะหม่า’ ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งร่วมมือกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์พร้อมใจกันล้มล้างรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารได้สำเร็จ รัฐบาลพลเรือนก็จะร่วมขับเคลื่อนวาระที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าเฝ้ารอคอยมานานแสนนาน นั่นคือการได้สิทธิปกครองตนเองในฐานะส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐพม่า แต่หากกองกำลังฝ่ายประชาชนแพ้ ทั้งคนหนุ่มสาวและกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะถูกไล่ล่าและต้องหลบหนีเหมือนกับที่เคยเป็นมาตลอดหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เดินหน้าเข้าข้างประชาชนอย่างชัดเจน สิ่งที่จะเกิดขึ้นแค่เอื้อมคือ ‘สงครามกลางเมือง’ ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก

นอกจากนี้ สิ่งที่จะตามมาคือปัญหามากมายที่จะประเดประดังเข้ามาหลังพม่ากลายเป็น ‘รัฐล้มเหลว’ ได้แก่ ปัญหาผู้อพยพที่จะไหลทะลักเข้ามาทางไทยเป็นหลัก มีส่วนน้อยที่จะไปอินเดียและจีน และการคว่ำบาตรรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจในประเทศที่แย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และจะกระทบคนในระดับล่างมากกว่าผู้นำระดับสูงในกองทัพ ในอนาคต ประชาชนฝั่งไทยอาจได้รับผลกระทบจากการปูพรมโจมตีทางอากาศที่จะเกิดถี่ขึ้น ในขณะที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพและป้อมตำรวจให้ได้มากที่สุด ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็จะตกกับประชาชนทั่วไปที่ต้องหลบหนีภัยสงครามออกจากพื้นที่ของตนเอง

สำหรับประเด็นรัฐบาลคู่ขนานอย่าง CRPH ผศ.ดร.ลลิตา มองว่า เปรียบประหนึ่งรัฐบาลพลัดถิ่น ต้องบริหารงานจากภายนอกประเทศด้วยทรัพยากรที่จำกัด ไม่มีผู้ใดรู้ว่าในระยะยาวจะมีบทบาทในการร่วมต่อต้านรัฐประหารมากเพียงใด แต่สิ่งที่แน่นอนกว่าคือคนหนุ่มสาวและประชาชนที่รักประชาธิปไตยบางส่วนได้ทยอยเข้าป่าและจับอาวุธขึ้นมาสู้กับกองทัพพม่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ในพม่าคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

รัฐบาลทหารเมียนมายังคงกวาดล้างกลุ่มต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในบางจุด รวมทั้งที่เมือง มยินจาน (รอยเตอร์)

‘สหพันธรัฐ’ ความซับซ้อนที่ยังต้อง ‘ข้ามกำแพง’

ประเด็นเรื่องสงครามกลางเมืองนี้ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เจ้าของหนังสือ ‘กระบวนการสันติภาพแห่งเมียนมา/พม่า : ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล กองทัพ และกลุ่มชาติพันธุ์’ ชี้ว่า ในแง่ของการศึกษาสงครามกลางเมือง นี่คือการยกระดับเข้าสู่การเป็นสงครามกลางเมืองแบบเต็มรูปแบบ สิ่งที่กำลังจะตามมาคือ จะทำให้โครงสร้างความรุนแรงภายในประเทศเปลี่ยนไปด้วย คือ เข้าสู่จุดหักเห กล่าวคือ จะไม่ใช่การชุมนุมประท้วงระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร การตั้งบังเกอร์ชุมนุมโดยสันติวิธี หรือการใช้ก้อนหินสู้กับกระสุนปืนอีกต่อไปแล้ว

“ภาพที่ชัดเจนในปัจจุบันคือมีกระแสข่าวว่าคนจำนวนหนึ่งเริ่มไปฝึกยุทธวิธีในการต่อต้านในแบบใหม่ๆ คือใช้ความรุนแรงปะทะความรุนแรง โครงสร้างความขัดแย้งในการต่อต้านรัฐจะเปลี่ยนโหมด แนวโน้มสูงมากที่จะมีการใช้อาวุธ หรือแม้กระทั่งความพยายามในการชูเรื่องกองทัพสหพันธรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่อง ‘สหพันธรัฐ’ กับบทบาทกลุ่มชาติพันธุ์นั้น นักวิชาการรัฐศาสตร์ท่านนี้มองว่า มีความซับซ้อนที่ยังต้อง ‘ข้ามกำแพง’ ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น 1.อุดมการณ์ด้านการเมืองที่แตกต่างกัน กล่าวคือ หลายกองกำลังยังเป็นเผด็จการ บางกองกำลังพยายามชูเรื่องประชาธิปไตย บางกองกำลังยังเป็นคอมมิวนิสต์ชัดเจน 2.เรื่องนโยบายและตัวผู้นำเอง 3.ประเด็นขัดแย้งเรื่องพื้นที่ยึดครอง

“ปัจจุบันมีความพยายามจุดกระแสเรื่องกองทัพสหพันธรัฐ อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนประการหนึ่งคือ กลุ่มชาติพันธุ์มีความหลากหลายสูงมาก ก่อนอื่นต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ก่อน คือ 1.กลุ่มที่ลงนามในสัญญาสันติภาพแล้ว ซึ่งมี 10 กลุ่ม และ 2.กลุ่มที่ยังไม่ลงนาม โดย 10 กลุ่มที่ลงนามแล้ว แน่นอนว่ามีท่าทีในการต่อต้านกองทัพและรัฐบาลทหารอย่างชัดเจน และออกแถลงการณ์ด้วยว่าสนับสนุนภาคประชาชน ในการอารยะขัดขืน แต่กลุ่มที่ยังไม่ลงนาม มีท่าทีที่แตกต่างกันไป

กลุ่มที่ต่อต้านกองทัพชัดเจนคือ คะฉิ่น (KIA) ซึ่งพยายามสนับสนุนประชาชน และลงมือใช้กำลังโจมตีทหารด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคะฉิ่นได้รับความกดดันค่อนข้างสูงมาก กองกำลังของคะฉิ่นสูญเสียเยอะ อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่ไม่แสดงท่าทีว่าจะต่อต้านกองทัพ โดยเฉพาะกองกำลังใหญ่สุดคือ กลุ่มว้า กลุ่มของเมืองลา หรือแม้กระทั่งโกกั้ง ซึ่งไม่ได้มีท่าทีชัดเจน เข้าใจว่าการตั้งกองทัพสหพันธรัฐจะสำเร็จหรือไม่ จุดหักเหสำคัญคือต้องถามว่า ว้าจะเอาด้วยหรือเปล่า เพราะว้าก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง เวลาพูดถึงว้าจะมากับ 7 กลุ่มพันธมิตรภาคเหนือด้วย หรือแม้กระทั่งกองทัพอาระกัน (AA) ซึ่งเป็นดาวรุ่งในปัจจุบันก็ประกาศชัดว่าสนับสนุนประชาชน ต่อต้านการรัฐประหาร แต่ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ของตัวเอง เพราะมีแนวทางและอุดมการณ์ของตัวเองอยู่แล้ว จึงมีจุดยืนอีกแบบหนึ่ง” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิอธิบาย

แซงก์ชั่น ‘ระลอกใหม่’ อีกความเคลื่อนไหวจากนานาชาติ

ปิดท้ายด้วยความกดดันระลอกใหม่จากนานาอารยะประเทศ ซึ่งแม้ที่ผ่านมาดูเหมือนไม่สร้างความสะทกสะท้านใดๆ ทว่า ล่าสุด เริ่มมีการสร้างแรงกดดันอีกระลอก เมื่อนักการทูต 2 คน เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) บรรลุความตกลงที่จะแซงก์ชั่นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารและปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงเพิ่มเติมอีก 10 คน พร้อมกับแซงก์ชั่น บริษัทขนาดใหญ่ 2 บริษัท ซึ่งเป็นกิจการธุรกิจสำคัญของกองทัพ ทั้งบริษัท เมียนมา อีโคโนมิค โฮลดิง จำกัด (เอ็มอีเอชแอล) และบริษัท เมียนมา อีโคโนมิค คอร์ปอเรชัน (เอ็มอีซี) โดยห้ามไม่ให้นักลงทุนและนักธุรกิจของอียูทำธุรกิจหรือลงทุนในบริษัททั้งสองของเมียนมา ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการเพิ่มเติมจากการใช้การแซงก์ชั่นเพื่อลงโทษนายทหารระดับสูงของกองทัพเมียนมา 11 นาย ไปเมื่อเดือนที่แล้ว

ในขณะที่บริษัท พอสโก โค้ทแอนด์คัลเลอร์ สตีล ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ประกาศในวันเดียวกันนี้ว่า ได้ตัดสินใจยุติการร่วมลงทุนกับบริษัท เอ็มอีเอชแอล แล้ว ถือเป็นกิจการข้ามชาติขนาดใหญ่รายแรกที่ประกาศอย่างชัดเจนเช่นนี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้ให้รายละเอียดของการยุติการร่วมลงทุนดังกล่าวแต่อย่างใด

กล่าวได้ว่าจากวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ อีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์การเมืองอาเซียน ถึงกลางฤดูร้อนที่อุณหภูมิในสมรภูมิร้อนยิ่งกว่า นับเป็นเวลา 75 วัน ซึ่งมากมายด้วยเหตุการณ์ต้องจับตาแบบวันต่อวัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image