รอยร้าวรัฐบาลผสม แบ่ง รมต.คุมพื้นที่-โควิด

รอยร้าวรัฐบาลผสม แบ่ง รมต.คุมพื้นที่-โควิด

หมายเหตุความเห็นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดจนกระแสการลงชื่อถอดถอน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และความขัดแย้งในการส่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปดูแลและกำกับงานในพื้นที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ภราดร ปริศนานันทกุล
ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

Advertisement

ผมคิดว่าเป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการที่จะเอารัฐมนตรีลงไปกำกับดูแลงบกู้ 45,000 ล้านบาท แต่ผมมีข้อสังเกตว่า ในส่วนของเงินกู้ 45,000 ล้านบาท ในการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว วัตถุประสงค์คือตั้งใจที่จะใช้เงินกู้ไปจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายโครงการที่ได้จัดสรรไปแล้ว และรู้สึกว่าจะมีเงินเหลืออยู่ 250,000 ล้านบาท ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็คิดว่าน่าจะเป็นการดีหากจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับจังหวัด จึงให้ระดับจังหวัดคือหน่วยงานราชการต่างๆ เสนอโครงการขึ้นมาซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนและสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปี

หากถามว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ถ้าเป็นไปในลักษณะที่ให้แต่ละจังหวัดไปสอบถามความคิดเห็นของประชาชน หรือเอาความต้องการของจังหวัดเป็นหลัก ผมคิดว่ายังสามารถที่จะตอบคำถามของสังคมได้ว่าเอาไปเยียวยาในเรื่องของโควิด-19 จริงๆ แต่หากในกรณีจัดสรร แบ่งเค้ก แล้วให้รัฐมนตรีแต่ละคนไปจัดสรรงบประมาณโดยเป็นโครงการที่มาจากรัฐมนตรีคนนั้นๆ ไปสั่งกับทางจังหวัดจะผิดกับวัตถุประสงค์

ฉะนั้นจึงฝากให้สังคมตรวจสอบโครงการนี้ว่าเป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหนกับประชาชน ผมเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่ารัฐมนตรีที่มากำกับดูแลเพื่อให้การบริหารจัดการลื่นไหลมากขึ้น มันก็จะเป็นประโยชน์

Advertisement

แต่หากเข้ามาเพื่อที่จะชี้นำส่วนราชการ จะมาชี้นำโครงการต่างๆ ของทางจังหวัด เอาโครงการที่เป็นความคิดของรัฐมนตรีมาแทรกแซง มาสั่งจังหวัด ผมคิดว่าแบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรที่จะทำ แต่ในนโยบายที่มาเพื่อกำกับดูแลเงินงบประมาณให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมคิดว่าจะตอบโจทย์เงินกู้ที่จะกู้มาเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่อย่างที่บอกว่าหากเป็นการให้รัฐมนตรีนำนโยบายของรัฐมนตรีไปสั่งจังหวัดนั้นๆ ตนไม่เห็นด้วย

นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส-19 จนมีการลงชื่อร่วมกันถอดถอนนายอนุทินนั้น ผมอยากให้สติกับสังคมว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ควรมีซาตานและซุปเปอร์แมน ไม่มีทางที่คนคนเดียวที่จะทำให้สถานการณ์มันเลวร้าย และเช่นเดียวกันที่ไม่มีทางที่คนคนเดียวจะสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาได้ ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ในขณะนี้ ผมว่าเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลในส่วนของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข หรือในส่วนของหน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

และที่สำคัญที่สุดคือภาคประชาชนที่จะต้องให้ความร่วมมือในทุกส่วนถึงจะควบคุมไม่ให้กาารแพร่ระบาดเกิดขึ้นมากกว่านี้ การระบาดรอบนี้ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งแน่นอนว่า ศบค.ก็ได้รับบทเรียนจากปีที่แล้วว่าเมื่อปีที่แล้ว ศบค.ใช้ยาแรงเกินไปคือการล็อกดาวน์ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แน่นอนว่าเมื่อเป็นห่วงเรื่องสุขภาพมาอันดับหนึ่ง เรื่องเศรษฐกิจก็มีปัญหา ปีนี้เมื่อ ศบค.มีบทเรียนจึงไม่ล็อกดาวน์เนื่องจากการล็อกดาวน์จะกระทบต่อเศรษฐกิจ จึงปล่อย ซึ่งหมายความว่าให้ความสำคัญต่อเรื่องเศรษฐกิจ การป้องกันโรคจึงไม่เกิดเพราะมันมีการเคลื่อนย้ายคนเป็นจำนวนมาก เป็นระยะเวลาถึง 10 วันในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีการเคลื่อนย้ายคนเป็นจำนวนมากคือการนำเอาเชื้อโรคเดินทางไปทั่วประเทศ ต้องยอมรับกับตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันประชาชนก็ต้องตระหนักรู้ว่าในขณะนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ แม้ว่าในภาครัฐไม่ได้ล็อกดาวน์ แต่ประชาชนก็ควรที่จะตระหนักและไม่เดินทางหากไม่จำเป็น แต่ก็เห็นว่ายังมีการเดินทางไปทั่วประเทศ จึงเป็นเหตุให้มีการแพร่กระจายโรค ผมว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันรับผิดชอบ และควรที่จะเอาวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสในการที่จะช่วยกันหาทางออกและเป็นบทเรียนเพื่อที่จะไม่ให้เกิดครั้งถัดไป

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19และการลงชื่อถอดถอนนายอนุทิน จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่นั้น ผมมองว่าไม่ว่าจะเป็นการปรับ ครม.หรือการยุบสภา ทั้งสองเรื่องเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี หาก พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่า นายอนุทินทำงานไม่ได้ ท่านก็ปรับออก หรือหากเห็นว่าสภาไม่สามารถที่จะทำงานต่อไปได้แล้ว หรือสถานการณ์ทางการเมืองไปต่อไม่ได้แล้ว ท่านจะตัดสินใจยุบสภาก็ล้วนแต่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ
ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

เบื้องต้นทราบว่าขณะนี้ทางนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มอบหมายให้นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพูดคุยกับทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้รับรู้และรับทราบ ส่วนตัวเห็นว่าในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลต้องเป็นแกนหลักในการที่จะสร้างและขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปได้มากที่สุด

โดยเฉพาะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ประชาชนคาดหวังเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรทำสิ่งใดที่สวนทางกับความรู้สึกของประชาชน อีกทั้งตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องก็เป็นจุดอ่อนของคณะรัฐมนตรีด้วย เข้าใจว่าน่าจะมีการทบทวน

ทั้งนี้ ในฐานะที่ผมเคยเป็นทั้งวิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาล หลายเรื่องยังอยู่ในจุดที่เราสามารถพูดคุยได้ ยกเว้นว่าผู้นำรัฐบาลจะมีทรรศนะอย่างนั้นจริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็เคยเห็นในประวัติศาสตร์มาแล้วว่าคราวใดที่ผู้นำรัฐบาลเริ่มทำอะไรเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง หรือผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองมากกว่าประชาชนและประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าเริ่มมีอาการที่แสดงว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ไม่นาน ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ท้ายที่สุดเขาก็เรียกว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา

ฉะนั้น เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์เหมือนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ส่วนตัวต้องการเห็นการประคับประคองของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองที่กำลังรุมเร้า ผมไม่อยากที่จะให้มีใครก็ตามหยิบยกเอาประเด็นแนวความคิดแบบนี้มาทำอีก ตอนนี้รัฐบาลควรเดินหน้าเร่งแก้ไขปัญหาวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ อีกทั้งทุกคนทราบดีว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็จะยิ่งมีปัญหาเมื่อเราพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ทุกกระทรวง ทบวง กรม ส่วนใหญ่จะถูกปรับลดหมด

สิ่งที่รัฐบาลควรมาวางยุทธศาสตร์ร่วมกันกับพรรคร่วมที่จะช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งบางเรื่องไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่ใช้เพียงความสามัคคีก็สามารถเดินหน้าประเทศไปได้ ขณะเดียวกันสัญญาณการเมืองที่โผล่ออกมาตอนนี้เหมือนกับยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมาเหนือน้ำเท่านั้น เพราะความจริงปัญหาต่างๆ มันมีมากกว่านี้ ผมในนามที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เห็นว่าวิกฤตของประเทศควรแก้ไขในเชิงยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลและพรรคร่วมต้องมาคุยกันว่ายุทธศาสตร์ชาติที่เราจะเดินหน้าควรเป็นอย่างไร ซึ่งมองว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญเราจะปล่อยให้ลูกหลานถูกทอดทิ้งได้อย่างไร

รวมทั้งการรักษาสุขภาพของประชาชนเช่นกัน เราควรมาถกเถียงว่ากระบวนการรักษาสุขภาพประชาชนจากโควิดจะเป็นอย่างไร รวมทั้งจะกระจายวัคซีนให้รวดเร็วได้อย่างไร ไม่ควรมาถกเถียงเรื่องอื่น รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรหยิบยกเรื่องนี้มาชูธงนำดีกว่า

ชัยเกษม นิติสิริ
ประธานคณะกรรมการการเมืองพรรคเพื่อไทย (พท.)

วันนี้ประชาชนไม่ควรตั้งเป้าถอดถอนรัฐมนตรีเพียงแค่ 2 แสนรายชื่อ แต่ควรส่งเสียงโดยไม่ต้องตั้งเป้าเพียงแค่นี้ แต่ให้ไปเรื่อยๆ ให้ผลงานของเขาฟ้องตัวเขาเองว่าเขาไปไหวหรือไม่ไหว อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ตนเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะอ้างว่านายกฯเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้บังคับบัญชาเพียงเท่านั้นไม่ได้ เพราะการที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้วไม่สามารถบริหารอะไรได้เลย ก็ไม่ควรเป็นรัฐมนตรี

วันนี้ตัวผู้นำ ทั้งนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องยอมรับว่าการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งหากท่านจะปรับปรุง ท่านก็มีเวลาในการปรับปรุงมานานพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรดีขึ้นจนประชาชนพอใจใช่หรือไม่ แล้วแบบนี้จะฝืนทำต่อไปทำไม วันนี้กึ๋นคุณมีไม่พอ เพราะฉะนั้นทำต่อไปผมก็ไม่เชื่อว่า มันจะดีขึ้นกว่านี้ แต่ละครั้งที่นายกฯออกมาพูด หรือแต่ละครั้งที่พวกท่านมีแอ๊กชั่นออกมา มันยังไม่ตรงใจประชาชน และยังไม่ตรงเป้า ทั้งยังลดความเชื่อมั่นของประชาชนไปอีก กลายเป็นอย่างนั้นไป วันนี้ สงสารประเทศ แต่สิทธิในการตัดสินใจเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เราคงไม่ไปก้าวก่ายเขา แต่เขาสมควรที่จะต้องดูว่า ประชาชนคิดอย่างไร ควรเดินหน้าต่อ หรือควรจะถอยหรือไม่ ประการใดหรืออย่างน้อยที่สุดควรจะปรับปรุงอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

วันนี้ผมคิดว่าประชาชนมองชัดเจนแล้วว่า ผลลัพธ์ที่ออกมายังไม่ถึงขั้นที่ประชาชนจะบอกว่าโอเค การเป็นผู้นำไม่มีใครที่รู้ไปหมดทุกอย่างหรอก

ดังนั้นต้องรับฟัง 1.ฟังคนรอบข้าง แต่ก็ต้องดูว่าคนรอบข้างนั้นคัดมาถูกตัวถูกที่หรือไม่ 2.รับฟังคนทั่วไป และการมีกึ๋นหรือไม่มีกึ๋น ก็ต้องดูว่าเขาสามารถนำสิ่งที่เขาเสนอแนะมาประมวล แล้วตัดสินใจดำเนินการอย่างไร ถ้าตัดสินใจได้ถูกต้อง ผลคงไม่ออกมาอย่างที่เห็น ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเขาตัดสินใจอยู่บนข้อมูล หรือผลประโยชน์ เพราะข้อมูลดีๆ มีอยู่มาก แต่กลับไม่ปรากฏออกมาว่ามีการนำไปใช้ จึงไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจนั้นตัดสินใจบนผลประโยชน์ของตนของพรรคพวกตน หรือประโยชน์ของประชาชน

ส่วนที่ถามถึงกรณีการแบ่งงานให้รัฐมนตรีให้ไปดูแลพื้นที่แต่ละจังหวัด โดยเฉพาะดูแลเรื่องการใช้งบประมาณ ที่มีการตั้งรัฐมนตรีในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปดูพื้นที่ที่เป็นหัวเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สะท้อนอะไรนั้น ผมมองว่าการทำงานในพรรคร่วมสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้หากกรณีที่ว่าคนเดิมที่ทำหน้าที่อยู่ทำแล้วไม่เวิร์ก

แต่ตรงนี้ชัดเจนพอไหม พิสูจน์ได้หรือไม่ หรือที่ทำไป การตัดสินใจตั้งบนฐานของกลุ่มของตน หรือบนฐานของการเมืองโดยเฉพาะ แต่ก็แล้วแต่ท่านตัดสินใจเถิด เพราะคนมีอำนาจ ซึ่งได้อำนาจมาปกครองบ้านเมืองในลักษณะที่เป็นอยู่นี้ ไม่ต้องไปคิดหรอกว่าอะไรถูกไม่ถูก ในแง่ทางการเมืองคนที่อยู่ในอำนาจต้องหาฐานมาซัพพอร์ตตนเองมากที่สุด

แต่ทั้งนี้ หากคิดว่าไม่สามารถยืนอยู่ด้วยคนเดียวพรรคเดียวได้ เมื่อไหร่ที่ไม่คำนึงถึงคนที่อยู่รอบข้างตัวเอง โอกาสที่จะแตกกันมีมาก ถ้าวันใดที่เกินลิมิต ผมไม่ได้เก่งการเมือง แต่อยู่กับการเมืองมาตลอด ผมใช้เซนส์ที่คิดว่าน่าจะเป็น แต่คงบอกไม่ได้ว่าแค่ไหน อย่างไร เพราะผมไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในสถานการณ์โดยตรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image