ร้านอาหารทรุดหนัก ยอดหายกว่า 70% รายย่อยกระทบหนัก ส.ภัตตาคารฯ จี้รบ.เร่งเยียวยา

ร้านอาหารทรุดหนัก ! ยอดหายกว่า 70 % ร้านรายย่อย-ริมถนน-แผงลอยกระทบหนัก ‘ส.ภัตตาคารไทย’ จี้รัฐบาลเร่งเยียวยา เงินทุน-พักหนี้-ชะลอจ่ายภาษี อุ้มธุรกิจฝ่าพิษโควิดรอบนี้

เมื่อวันที่ 29 เมษายน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ยอดขายของร้านอาหารหายไปกว่า 70% จึงต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการออกมาช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการเพิ่มเติม เนื่องจากที่ผ่านมามาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีจำนวนมากในภาพรวมธุรกิจอาหาร โดยความช่วยเหลือที่ต้องการเป็นเรื่องการสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ยืดเวลาชำระภาษีรายได้ และภาษีในด้านต่างๆ ที่ใกล้จะครบกำหนดแล้ว

รวมถึงการสมทบเงินชดเชยให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างชั่วคราวจากสำนักงานประกันสังคม โดยเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ การนำเข้าและกระจายฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศ ซึ่งจะต้องครอบคลุมจำนวนประชากรที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ เนื่องจากหากยังไม่มีการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ ความเสี่ยงในการระบาดไวรัสและสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจในหลายเซกเมนต์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับภาพรวมเศรษฐกิจด้วย

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้การระบาดโควิดระลอก 3 เกิดขึ้นมาเกือบ 1 เดือนแล้ว และคาดว่าจะต้องใช้ เวลาในการควบคุมการระบาดอีกซักระยะ ทำให้รัฐบาลจะต้องวางแผนออกมาอย่างชัดเจนว่า จะใช้ต้องเวลาในการควบคุมการระบาดนานเท่าใด อาทิ หากกำหนดว่ากว่าจะคุมได้คงใช้เวลาอีกกว่า 1 เดือน หรือต้องจบภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เมื่อมีการกำหนดระยะเวลา รัฐบาลก็ต้องประกาศออกมาให้ชัดเจนว่า ระหว่าง 1 เดือนนี้ จะมีกฎระเบียบอะไรออกมาอีกบ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนรับมือและขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปท่ามกลางภาวะวิกฤตได้

เนื่องจากผลกระทบของโควิดตอนนี้ หากประเมินตามขนาดของธุรกิจ ด้วยศักยภาพของผู้ประกอบการรายใหญ่และกลาง อาจยังพยุงตัวเดินต่อได้ เพราะอาจมีเม็ดเงินทุนหมุนเวียนในระบบอยู่แล้ว หรือหากไปไม่ไหวจริงๆ ก็ให้พนักงานหรือลูกจ้างพักงานชั่วคราว ซึ่งส่วนนี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หายไป แต่ก็สามารถลดภาระรายจ่ายได้ ผลักดันให้ผลกระทบไปลงที่แรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา หรือมีรายได้เหมือนช่วงปกติอยู่แล้ว จึงเหมือนซ้ำเติมภาระให้กับแรงงานเหล่านั้นมากเข้าไปอีก รวมถึงผลกระทบที่เกิดกับร้านอาหารรายย่อย ริมถนนหรือแผงลอยต่างๆ ที่ถือว่าถูกกระทบรุนแรงอยู่แล้ว เพราะคนไม่ออกจากบ้าน ลูกค้าหาย รายได้ลดลง เพราะต้องปิดร้านเร็วขึ้น ซึ่งหากแนะนำให้ปรับมาขายผ่านออนไลน์ ถามว่าผู้ประกอบการทุกรายมีความสามารถทำได้เหมือนกันทั้งหมดหรือไม่ ก็คงเป็นไปไม่ได้

Advertisement

“รัฐบาลต้องมาตีโจทย์ให้ถูกว่า วัคซีนจะมีเข้ามาช่วงใด เมื่อได้กำหนดที่ชัดเจนแล้ว ก็ต้องวางแผนกันว่า จะกระจายฉีดให้พื้นที่ใด กลุ่มใด ผ่านสถานที่และการเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันตามที่กำหนดระยะเวลาไว้ รวมถึงหากรัฐบาลจะมีมาตรการคุมเข้มออกมาใช้เพิ่มเติม โดยเฉพาะการใช้มาตรการล็อกดาวน์นั้น จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจหลายกลุ่ม สะท้อนได้จากการใช้ล็อกดาวน์รอบแรก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิตรุนแรงมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการระดับกลางลงมา ทำให้หากรัฐบาลจะประกาศใช้จริง ต้องเตรียมเม็ดเงินเยียวยาและช่วยเหลือธุรกิจด้วย เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การช่วยเหลือของนัฐยังไม่ทั่วถึง และเป็นการเหวี่ยงแห่ไปทั่ว เทียบกับต่างประเทศที่เยียวยาผลกระทบจากโควิด ผ่านการสนับสนุนเม็ดเงินที่ได้รับทุกคนเท่าเทียมกัน” นางฐนิวรรณ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image