ครม.รับทราบผล ‘มาตรการส่งเสริม-สนับสนุนการใช้-สวมใส่ผ้าไทย’ สร้างรายได้ 8.5 พันล้าน

ครม.รับทราบผล ‘มาตรการส่งเสริม-สนับสนุนการใช้-สวมใส่ผ้าไทย’ สร้างรายได้ 8,511 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า รับทราบการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน โดยผลการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 พบว่า ทุกจังหวัดมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองตามความเหมาะสมของท้องถิ่น โดยมีการกำหนดให้ข้าราชการและประชาชนแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน จำนวน 51 จังหวัด

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ได้มีการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้เพื่อรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการสร้างความร่วมมือเป็นเครือข่าย ซึ่งจังหวัดที่มีการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายมากที่สุดได้แก่จังหวัดสงขลาจำนวน 200 หน่วยงาน, อุดรธานี 91 หน่วยงาน และบุรีรัมย์ 89 หน่วยงาน ส่วนจังหวัดที่มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองมากที่สุดได้แก่ จังหวัดภูเก็ต 96 ครั้ง, ชัยภูมิ 81 ครั้ง และตาก 64 ครั้ง

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โดยประโยชน์ที่ประชาชนได้รับตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยนั้นพบว่า มีรายได้จากการจำหน่ายระหว่างเดือนมิถุนายน 2563-มกราคม 2564 จำนวน 8,511 ล้านบาท จังหวัดที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับคือ ขอนแก่น, นครราชสีมา และอุดรธานี ส่วนผู้ผลิตและผู้ประกอบการโอทอปได้รับประโยชน์จำนวน 8,016 กลุ่ม สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตและผุ้ประกอบการโอทอปได้รับประโยชน์จำนวนทั้งสิ้น 69,553 คน

Advertisement

น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยสู่การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้าไทยนั้น ตามที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เมื่อคราวเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โดยพระราชทานแบบลายผ้าชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” รวมทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้เป็นลายต้นแบบในการรังสรรค์ถักทอเรื่องราวไปตามแต่ละภูมิภาค ให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้า พบว่ามีผลการดำเนินงานดังนี้ 1.นำลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ไปต่อยอดจำนวน 1,042 กลุ่ม 10,168 คน มียอดจำหน่ายจำนวน 6,856,740 บาท 2.เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อเชิญชวนแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง และ 3.ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการทอผ้า โดยดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าจังหวัดตราด และจัดตั้งกลุ่มอาชีพทอผ้า ซึ่งกรมการพัฒนาชุนได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 796,100 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและค่าวัสดุในการฝึกอบรม

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคสำหรับมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เช่น ต้นทุนการผลิตสูง ผู้ประกอบการบางส่วนมีข้อจำกัดด้านการผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าครั้งละจำนวนมากได้ และความไม่ต่อเนื่องของการผลิตในบางจังหวัด กลุ่มทอผ้าขาดทักษะ กลุ่มตัดเย็บผ้าบางพื้นที่ขาดความประณีต และยังพบปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและผู้ซื้อสินค้าน้อยลง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image