สะพานแห่งกาลเวลา : เตรียมตัวเตรียมใจไปฉีดวัคซีนโควิด-19 โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Pixabay)

รัฐบาลเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถติดต่อขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กันได้แล้ว โดยยกเลิกการกำหนดกลุ่มบุคคลที่ควรได้รับก่อนรับทีหลัง ที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ไป เปิดรับให้ทุกกลุ่มอายุ ลงทะเบียนรอรับคิวการฉีดวัคซีนผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ได้

แถมต้นเดือนหน้ายังเปิดให้ “วอล์กอิน” เข้าไปฉีดได้อีกด้วย

การยกเลิกลำดับกลุ่มบุคคลที่ว่า น่าจะทำให้อัตราการฉีดวัคซีนของคนไทยเร็วขึ้น ได้จำนวนคนที่ฉีดแล้วเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ผมอยากเชิญชวนกันเอาไว้ตรงนี้ว่า ถ้าไม่มีปัญหาสุขภาพร่างกายอะไรใหญ่โตมากมาย ทุกคนควรไปฉีดวัคซีนโควิดกัน เพราะเป็นผลดีทั้งตัวเอง คนรอบข้าง สมาชิกในครอบครัว อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อแพทย์-พยาบาล และสังคมโดยรวมอีกต่างหาก เพราะจะช่วยให้การระบาดลดลงได้นั่นเอง

Advertisement

ส่วนใครที่ยังลังเลขอให้พิจารณาข้อเท็จจริงเชิงวิชาการสองสามอย่างต่อไปนี้ดูนะครับ

อย่างแรกสุดที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและระบาดวิทยาทั่วโลกเห็นตรงกันก็คือ วัคซีนที่อนุมัติให้ใช้กันเป็นกรณีฉุกเฉินท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในยามนี้ อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้แตกต่างกัน แต่มีที่เหมือนกันอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือ ล้วนแล้วแต่สามารถป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการป่วยหนัก ถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลหรือไอซียู ได้ 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนๆ กัน

อย่างที่สอง ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า วัคซีนทุกๆ ตัวก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนาและมีผลข้างเคียงเหมือนกัน ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ผู้เชี่ยวชาญหลายประเทศในยุโรปสงสัยกันว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า “อาจจะ” ก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและภาวะเกล็ดเลือดต่ำในตัวผู้ที่ได้รับวัคซีน

Advertisement

ในขณะที่ วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค ที่หลายคนอยากได้มาฉีดนั้น กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลก็ตั้งข้อสงสัยไว้เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า “อาจจะ” เป็นที่มาของอาการ “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” (myocarditis) ที่พบในผู้ได้รับวัคซีน 62 ราย

แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ไม่ว่าวัคซีนแอสตร้าฯก็ดี ไฟเซอร์ฯก็ดี มีสัดส่วนการเกิดผลลบรุนแรงทำนองนั้นน้อยมาก ในกรณีของแอสตร้าเซนเนก้า อยู่ในระดับเพียง 2-4 รายต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านคนเท่านั้น ของไฟเซอร์ฯยิ่งน้อยลงไปอีก คือกระทรวงสาธารณสุขพบ 62 คนจากการฉีดวัคซีนไปกว่า 5 ล้านคน สัดส่วนอยู่ที่เพียง 0.001 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ต่ำกว่าอัตราการตายจากการติดเชื้อโควิด-19 อยู่มากเลยทีเดียวครับ

ทีนี้ถ้าเตรียมใจพร้อมที่จะไปฉีดวัคซีนโควิดกันแล้ว ก็มีคำถามตามมาเหมือนกันว่า ควรเตรียมตัวอย่างไรดี ควรบอกอาการอะไรที่เรามีอยู่ให้หมอหรือพยาบาลฟังดี?

องค์การอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐอเมริกาเขาให้คำแนะนำไว้ว่า ผู้ที่จะไปฉีดวัคซีน ควรบอกสิ่งต่อไปนี้กับแพทย์หรือพยาบาลผู้ที่ฉีดให้เรา

แรกสุดคือ เราแพ้ยาหรือแพ้อะไรหรือไม่ วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค ที่ฉีดกันอยู่ในสหรัฐอเมริกานั้นเขา “ห้าม” ฉีดให้กับคนที่มีอาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) เพราะอาจถึงแก่ชีวิตได้

ถัดมาคือมีไข้สูงหรือไม่, มีอาการเลือดแข็งตัวช้า เลือดไหลไม่หยุด หรือต้องกินยาเจือจางเลือดอยู่หรือไม่ ถ้ามีต้องรีบบอกผู้ฉีดทันที, มีอาการภูมิคุ้มกันต่ำ หรือต้องกินยากดภูมิคุ้มกันอยู่หรือเปล่า, ตั้งครรภ์อยู่หรือเปล่า หรือกำลังเตรียมตั้งครรภ์หรือไม่, ให้นมลูก (ด้วยนมแม่) อยู่หรือไม่ หรือเคยมีอาการประเภท “กลัวเข็ม” ชนิดที่โดนฉีดแล้วถึงขั้นเป็นลมเป็นแล้งมา
หรือเปล่า

ในบ้านเรา คนที่ไปฉีดวัคซีนโควิดอาจเจอคำถามทำนองนี้ในช่วงขั้นตอนซักประวัติก่อนหน้าที่จะได้รับการฉีด หลังการฉีดมีทีมแพทย์ที่คอยประจำอยู่ เพื่อรอดูผลจากการฉีดวัคซีนของแต่ละคน ที่ต้องรอดูอาการอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงหลังการฉีด เผื่อเกิดอาการผลข้างเคียงแบบเฉียบพลันขึ้น

หลังฉีดวัคซีนแล้วเสร็จ อย่าลืมเก็บหลักฐานการฉีด ล็อตวัคซีนที่ฉีดเอาไว้ให้ดี สำหรับการฉีดเข็ม 2

เตรียมตัวเตรียมใจกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไปฉีดวัคซีนกันเถอะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image