คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ชัยชนะของ ‘ทรัมป์’ กับชะตากรรมของเอเชีย

บทสนทนาหลังแก้วค็อกเทลระหว่างผมกับนักการทูตอาวุโสผู้หนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ดำเนินไปทำนองนี้

“ถ้า โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง…..?”

“ก็…ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้…”

“แต่ ถ้า ทรัมป์ชนะ…”

Advertisement

“อืมม์….ถ้าทรัมป์ชนะ พรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็ยังขึ้นทางทิศตะวันออก แล้วตกทางทิศตะวันตกอยู่ดี

“หรือไม่จริง?”

โดยตัวอักษรสะท้อนถึงความไม่ยี่หระ แต่น้ำเสียงและท่าทางช่วยบอกผมได้ว่า ถ้าหาก โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตของรีพับลิกันสามารถสร้างปรากฏการณ์คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ได้ ความรู้สึกของเขาคงไม่ได้เป็นความรู้สึกเดียวกับที่เกิดขึ้นในยามจับตามองพระอาทิตย์ขึ้นและตกแน่ๆ

Advertisement

คำถามก็คือ ทรัมป์ ยังมีสิทธิได้ชัยชนะในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกราว 2 เดือนเศษนี้หรือเปล่า? แล้วจะเกิดอะไรขึ้นตามมากับห่วงโซ่กลไกโลกาภิวัตน์ที่ยึดโยงสหรัฐอเมริกากับภูมิภาคเอเชียแน่นหนาขึ้นทุกวัน?

ณ เวลานี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นหรือโพลในสหรัฐอเมริกาของสำนักโพลต่างๆ ยังคงแสดงให้เห็นว่า

ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกและคนเดียวในเวลานี้ที่กลายเป็นตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่อย่าง เดโมแครต มีคะแนนนิยมนำหน้าทรัมป์อยู่ระหว่าง 1-10 จุด

ในขณะที่ผลเฉลี่ยของโพลระดับชาติของ เรียลเคลียร์โพลิติคส์ ก็ยังคงแสดงผลชัดเจนว่า หากมีการเลือกตั้งขึ้น ณ 30 สิงหาคม คลินตัน จะได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่เหนือกว่าทรัมป์อยู่ราว 4.6 เปอร์เซ็นต์

แต่มีหลายประการที่ต้องคำนึง แรกสุด นี่ไม่ใช่ระดับตามหลังต่ำสุดของ โดนัลด์ ทรัมป์ และในความเป็นจริงแล้วคะแนนนิยมในตัวทรัมป์ ไม่ได้ลดลงแต่เพิ่มมากขึ้น จากระดับต่ำสุดกู่หลังการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันกับสัปดาห์วินาศสันตะโรที่เป็นนวัตกรรมที่ทรัมป์คิดค้นขึ้นให้กับตัวเอง

ประการที่สอง ฮิลลารี คลินตัน ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตที่ “อ่อน” ที่สุดในรอบหลายสิบปี มีจุดเปราะบางอยู่รอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี “อีเมล์” และ ความรู้สึก “ไว้วางใจ” ผู้สันทัดกรณีการเมืองอเมริกันบางรายถึงกับบอกว่า ถ้าหากคู่ต่อสู้ไม่ใช่คนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์

สถานะของคลินตันอาจไม่เป็นอยู่อย่างที่เห็นในเวลานี้

เหตุผลสุดท้าย ที่ฟังดูไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลเท่าใดนัก นั่นคือ เพราะทรัมป์ก็คือทรัมป์

กระนั้นเมื่อคำนึงถึงว่า โดนัลด์ ทรัมป์ คือคนเดียวกับทรัมป์ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน แต่ก็เป็นจนได้ เหตุผลที่ไม่ค่อยเป็นเหตุผลนี้ก็ชวนรับฟังขึ้นอีกเล็กน้อย

อย่าลืมว่า แม้แต่ “เบร็กซิท” ยังเกิดขึ้นได้ ทำไม ทรัมป์ จะเป็นประธานาธิบดีบ้างไม่ได้?

ภายใต้สถานการณ์สมมุติดังกล่าว ทำให้อย่างน้อยที่

สุดเราควรจะพูดถึง ทรัมป์ ในบางแง่มุมที่ “ซีเรียส” มากขึ้นกว่าเดิมอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบคำถามที่ว่าภูมิภาคเอเชียจะได้รับผลกระทบอย่างไร ในกรณีที่ทรัมป์ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศสูงที่สุดประเทศหนึ่ง

ซึ่งยากไม่ใช่น้อยเมื่อคำนึงถึงความ “ไม่อยู่กับร่องกับรอย” ที่ผ่านมาของตัวแทนพรรครีพับลิกันรายนี้ มีน้อยเรื่องมากที่ทรัมป์ไม่ได้ “พลิกลิ้น” เปลี่ยนท่าที กระทั่งมีคนค่อนแคะว่า พูดยังไม่ทันจบประโยค เปลี่ยนใจซะแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ พูดเยอะมาก ขนาดทำให้บางคนติงว่า ทรัมป์พล่อยปากได้ทุกเรื่อง คงมีบ้างละที่ทรัมป์ไม่เคยเปลี่ยนท่าทีใดๆ

ตัวอย่างเช่นคำพูดในทางเศรษฐกิจ ที่หลายคนชี้ว่า ทรัมป์ พูดแล้วพูดเลยเหมือนจำมาพูดแล้วก็ไม่ได้เปลี่ยนใจกลับไปกลับมาเหมือนเรื่องกำแพงหรือผู้อพยพ อาจเพราะความไม่รู้ ไม่ถนัด หรือพูดไม่คล่องปากเหมือนเรื่องอื่นๆ

อย่าลืมว่า กาลครั้งหนึ่ง ทรัมป์ ไม่ได้สลักสำคัญอะไรมากมายนักหนา เป็นเพียงแค่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ล้มละลายบ่อยๆ รายหนึ่งเท่านั้นเอง

ความชัดเจนประการหนึ่งซึ่งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง (จนถึงขณะนี้) ก็คือ แนวนโยบายต่อต้านความตกลงการค้าแบบพหุภาคี ที่ในเว็บไซต์หาเสียงอย่างเป็นทางการของทรัมป์ประกาศ “สงครามการค้า” เอาไว้ชัดเจนว่า “ประเทศเรากำลังถูกรุมทึ้ง” ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกา “ต้องการคนที่ชาญฉลาดสูงสุดในการเจรจา” เป้าหมายก็คือจัดการกับสารพัดประเทศที่กำลัง “รุมทึ้ง” ไล่ตั้งแต่ จีน ไปถึง อินเดีย จรด เวียดนาม และญี่ปุ่น ที่ฉกฉวยเอาจากสหรัฐอเมริกาไปเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ทรัมป์ ประณามความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ของสหรัฐอเมริกา,แคนาดา และเม็กซิโก ย้ำว่าถ้าไม่มีการเจรจาใหม่ ก็อาจจำเป็นต้องขึ้นกำแพงภาษี 35 เปอร์เซ็นต์กับเม็กซิโก ไม่อย่างนั้นก็ล้มความตกลง “เลวร้าย” นี้ไปทั้งหมด ทั้งยังประกาศจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งยังขู่กลายๆ ว่าจะจัดการ “หามาตรการลงโทษ” บริษัทใดก็ตามที่ย้ายฐานการผลิตออกไปจากสหรัฐอเมริกา

ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ครั้งหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ถามว่า การทำอย่างที่ว่านี้ ถือเป็นการละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ไม่ใช่หรือ คำตอบของตัวแทนพรรครีพับลิกันก็คือ ไม่เห็นจะเป็นไร ถ้าวุ่นวายนักก็ลาออกจากดับเบิลยูทีโอมันซะก็หมดเรื่อง

ลาออกจากองค์การระหว่างประเทศที่เป็น “หลักยึด” ให้กับการค้าของนานาชาติมานับตั้งแต่ปี 1995 ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรสำหรับทรัมป์ การคว่ำข้อตกลงที่ยังอยู่ระหว่างกระบวนการให้สัตยาบันอย่าง “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” หรือ “ทีพีพี” ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของ บารัค โอบามา ยิ่งเป็นเรื่องจิ๊บ-จิ๊บ

ตามสมมุติฐานข้างต้นนี้ ไม่เพียง จีน อินเดีย เวียดนาม และญี่ปุ่น จะเป็นปัญหากับความเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์เท่านั้น ประเทศอย่าง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่เป็นสมาชิกก่อตั้งของทีพีพี ก็คงอดกังวลกับ “การถดถอย” ที่เกิดขึ้นไม่ได้

สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างที่่ทรัมป์ต้องการจริง โครงสร้างการค้าของทั้งโลก คงปั่นป่วนครั้งใหญ่

ซึ่งไม่ได้เป็นข่าวดีนักในห้วงเวลาที่การขยายตัวทางการค้าทั่วโลกมีเพียง 0.8 เปอร์เซ็นต์ เทียบกันปีต่อปีเหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้

มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ลังเลต่อการระบุว่า นโยบายการค้าระหว่างประเทศของทรัมป์ เป็นอันตรายต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของเอเชีย ผ่านการสร้างความปั่นป่วนให้กับแวดวงการค้าของโลก กระนั้นยังมีอีกบางคนที่ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่นโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศของทรัมป์เองก็ควรแก่การวิตกกังวลของหลายๆ ประเทศในเอเชียเช่นเดียวกัน

ทรัมป์สำแดงความเป็นตัวตนในทางเศรษฐศาสตร์ออกมาอย่างมั่นใจด้วยการประกาศ “แก่นความเชื่อ” ของตัวเองเอาไว้ว่า คือ “การปรับลดภาษีครั้งใหญ่”

ตามแผนของตัวแทนพรรครีพับลิกัน เรียกร้องให้มีการปรับลดอัตราภาษีส่วนบุคคลระดับสูงสุดลงจาก 39.6 เปอร์เซ็นต์เหลือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ และอัตราภาษีนิติบุคคลลงจาก 35 เปอร์เซ็นต์เหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ ยกเลิกการเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์

ในเว็บไซต์หาเสียงของทรัมป์ อ้างว่า การปรับลดภาษีดังกล่าวนี้จะไม่กระทบต่อรายได้ของรัฐ เหตุผลสำคัญก็คือ เนื่องจากจะไม่มีการรั่วไหลหรือหลบเลี่ยงอีกต่อไป ทุกคนจ่ายเต็มพิกัดเพราะมีการอุดช่องโหว่ที่บรรดาเศรษฐี

มหาเศรษฐีทั้งหลาย กับธุรกิจขนาดใหญ่ เคยใช้อยู่ และสรุปเอาเองไว้ด้วยว่า จะทำให้เม็ดเงินที่ครั้งหนึ่งเคยถูกโยกออกไปกองอยู่นอกประเทศ (เพื่อเลี่ยงภาษี) ไหลกลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม ศูนย์นโยบายภาษีอากร องค์กรไม่แสวงผลกำไรปลอดการเมือง คำนวณออกมาให้เห็นกันกระจะแล้วว่า แผนการของทรัมป์จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไม่น้อยกว่า 9.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ ของประมาณการรายได้ทางภาษีทั้งหมดที่จัดเก็บในช่วงกว่า 10 ปี

ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากแผนการที่เป็น “แก่นความเชื่อ” ของทรัมป์ครั้งนี้ก็คือคนรวยที่สุดในหมู่คนรวยที่ถูกเรียกขานกันว่ากลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ในสังคมอเมริกันเท่านั้นเอง ศูนย์นโยบายภาษีอากรถึงกับระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ครัวเรือนในกลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้จะมีรายได้หลังหักภาษีแล้วเพิ่มขึ้นถึง 18 เปอร์เซ็นต์

ในรายงานชิ้นเดียวกันนี้ระบุเอาไว้ว่า แผนของทรัมป์ที่ว่านี้จะก่อให้เกิด “หนี้สาธารณะ” เพิ่มขึ้นเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภายในปี 2036 เว้นไว้เสียแต่ว่าจะมีการปรับลดงบประมาณรายจ่าย “มหาศาลมากๆ” เท่านั้น

ถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวยังไงกับภูมิภาคเอเชีย คำตอบก็คือ คงไม่เกี่ยวถ้าหาก ทรัมป์ ไม่ไปให้สัมภาษณ์ ซีเอ็นบีซี ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ว่า จะหาทางลด “หนี้สาธารณะ” ของสหรัฐอเมริกาลงโดยการ “โน้มน้าว” ให้บรรดาเจ้าหนี้ “ตัดลดมูลค่าหนี้” ให้สหรัฐอเมริกา

แนวความคิดที่ว่านี้ เป็นไปได้ในกรณีที่สหรัฐอเมริกาเป็นเพียง “บริษัท” หนึ่ง ซึ่งบางทีสามารถทำให้เจ้าหนี้ได้คิดว่า ควรปรับลดมูลค่าหนี้ลงให้สักหลายเปอร์เซ็นต์แทนที่จะถูก “เบี้ยวหนี้” ไปทั้งหมด

ปัญหาก็คือ สหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นกิจการธุรกิจ และพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็นพันธบัตรที่ปราศจากความเสี่ยงใดๆ จนกลายเป็น “มาตรฐาน” ของโลกอยู่ในเวลานี้

แทบทุกประเทศทั่วโลก เป็น “เจ้าหนี้” ของสหรัฐอเมริกาอยู่ในเวลานี้ผ่านการถือครองพันธบัตรที่ออกโดยกระทรวงการคลังอเมริกัน คิดสัดส่วนแล้วสูงถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ของพันธบัตรทั้งหมด โดยมีจีนเป็น “เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด” ของสหรัฐอเมริกาในเวลานี้

ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่า ตลาดและนักลงทุนทั่วโลกจะตกอยู่ในสภาพอย่างไร ถ้าหากจู่ๆ ประธานาธิบดีอเมริกันขอเจรจาลดหนี้กับจีน

มีถาม-ตอบ ปิดท้ายให้เก็บไปคิดกันเล่นๆ

ทรัมป์ มีโอกาสได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปีนี้หรือไม่?

คำตอบก็คือ มี! ข้อที่ควรจับตามองว่าปรากฏการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นก็คือ ในกรณีที่โพลแสดงให้เห็นว่าทรัมป์สามารถทำคะแนนนิยมไล่กระชั้นคลินตันขึ้นมาได้ทันภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้

ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น?

คำตอบก็คือ ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีลำดับที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาด้วยคะแนนถล่มทลาย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image