‘อรุณี’ ร่ายยาว ย้ำเจตนารมณ์บัตร 2 ใบ แบบเพื่อไทย ชี้สิ่งที่ฝ่ายค้านต้องทำ รื้อนั่งร้านผู้นำที่ไม่ได้มาจาก ปชช.

‘อรุณี’ ร่ายยาว ย้ำเจตนารมณ์บัตร 2 ใบ แบบเพื่อไทย ชี้สิ่งที่ฝ่ายค้านต้องทำ รื้อนั่งร้านผู้นำที่ไม่ได้มาจาก ปชช.

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยความกระจ่างกรณีบัตรเลือกตั้งแบบพรรคเพื่อไทย ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ถ้ามันห่างไกลและหลายท่านลืมเลือน หญิงอยากชี้ชวนย้ำให้เห็นจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่มีมาตั้งแต่ต้น

น.ส.อรุณีกล่าวว่า ตั้งแต่ปลายปี 2563 เรามีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าต้องยกเลิกการสืบทอดอำนาจของ คสช. ด้วยการพยายามผลักดันให้มีการแก้ ม.256 เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนทั้งหมด ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯและแผนปฏิรูปประเทศ จนนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และตกไปในวาระที่ 3 หลังการตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้มีการจัดทำประชามติก่อน

“- การจัดทำ พ.ร.บ.ประชามติ เป็นเรื่องที่ทุกพรรคฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกัน พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคผู้นำฝ่ายค้านก็ยืนยันในหลักการให้เรื่องการผลักดัน พ.ร.บ.ประชามติในสภาเช่นกัน

Advertisement

“- การตัดอำนาจ ส.ว.คือจุดยืนที่เด่นชัดที่สุดของพรรคเพื่อไทย พรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 หลังการเลือกตั้งปี 62 แต่กลับไม่สามารถจัดตั้งรฐบาล และทำให้เราได้ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ จากการค้ำยันของ ส.ว. 250 คน ที่มีส่วนทำให้คนไทยต้องตกอยู่ในห้วงอำนาจของผู้นำประเทศที่พวกเขาไม่ได้เลือกเข้ามา

“- เราเสนอระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกพรรคแบบปาร์ตี้ลิสต์ และเลือก ส.ส.ที่ใช่ในเขตของตนเอง” น.ส.อรุณีกล่าว

น.ส.อรุณีกล่าวว่า หญิงเขียนมาถึงตรงนี้ ย้ำนะคะว่าจุดยืนของเพื่อไทยไม่ได้เปลี่ยน ทีนี้มาสู่คำถามว่า ทำไมเราต้องแก้รายมาตรา และย้ำว่าเราคู่ขนานกันได้กับการตั้ง ส.ส.ร. เราต้องไม่ลืมว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาตลอดช่วงเวลากว่า 1 ปีเราขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน หญิงคือคนหนึ่งที่ร่วมลงชื่อ แต่สิ่งที่เราฝันนั้นไม่สามารถผ่านเสียงข้างมากในสภาได้ ร่างของประชาชนชนตกไป ร่างของ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ตกไปเช่นเดียวกัน

Advertisement

“เกมการเมืองเดินมาถึงจุดที่สถานการณ์วิกฤตและการจัดการโควิด-19 ที่ผิดพลาดของรัฐบาล ประกอบกับวินัยการคลังและหนี้สาธารณะมหาศาล รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ถึงทางตัน การดึงดันจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แม้ตะทำได้ แต่อาจไม่ทันการกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นอีก สุดท้าเราทุกคนอาจต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 60 แล้วใครที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 60 บ้างคะ?

“การเสนอแก้ไขรายมาตราคือแผนทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด ใกล้กับความเป็นจริงมากที่สุด ที่พรรคการเมืองต้องเตรียมการ ระบบการเลือกตั้งจึงถูกหยิบยกมาพูดถึงเพื่อการเลือกตั้งในครั้งหน้า
ทีนี้มาสู่คำถามข้อถกเถียง เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ของพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และของพรรคก้าวไกล” น.ส.อรุณีกล่าว

น.ส.อรุณีกล่าวว่า ความเหมือนของทั้ง 3 พรรคคือระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น โดยบัตร 1 ใบ เลือก ส.ส แบบปาร์ตี้ลิสต์ และบัตรอีกใบเป็นการเลือก ส.ส.เขต ความแตกต่าง “พปชร.” ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบของพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีการแตะต้องอำนาจ ส.ว. หมายความว่า ส.ว.ยังมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ดังนั้น แนวโน้มคือเราจะได้นายกฯที่มาจากการเลือกของ ส.ว.แต่ไม่ใช่จากเสียงของประชาชน เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ “พรรคเพื่อไทย” ระบบบัตรเลืกตั้ง 2 ใบคือ ใบ 1 เลือก ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ ใบที่ 2 ส.ส.เลือกแบบแบ่งเขต เพราะมันเป็นระบบที่ตรงไปตรงมา

น.ส.อรุณีกล่าวว่า แบบปาร์ตี้ลิสต์ พรรคทุกพรรคต้องเฟ้นหาคนมีความรู้ความสามารถให้จัดอยู่ในบัญชีรายชื่อเพื่อให้คะแนนของพรรคเป็นที่นิยม แบบ ส.ส. เขตเราเลือกคนที่ใช่ ที่ตอบสนองความต้องการใกล้ชิดและดูแลประชาชนในพื้นที่ เมื่อเกิดปัญหาต้องการ ความช่วยเหลือจาก “ผู้แทน” เราจะนึกถึงเขาคนนั้น ส่วนสูตรการคำนวณแยกส่วนไม่ซับซ้อน เพียงกำหนดเกณฑ์ 1% ขั้นต่ำสำหรับคะแนนปาร์ตี้ลิสที่คำนวนโดยปาร์ตี้ลิสต์ ส่วน ส.ส.เขต แพ้ชนะกันที่เขตกันที่เขตเลือกตั้ง

น.ส.อรุณีกล่าวต่อว่า “พรรคก้าวไกล” ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบจัดสรรปันส่วนผสม คือบัตรเลือกปาร์ตี้ลิสต์ 1 ใบและบัตรเลือก ส.ส.เขต 1 ใบ แต่การคำนวนคะแนน ใช้คะแนนจากบัตรที่กาปาร์ตี้ลิสต์ (พรรค) เพื่อกำหนดสัดส่วนของจำนวน ส.ส.พึงมีทั้งหมดของแต่ละพรรค บัตรอีกใบเลือกส.ส.เขต เป็นการคำนวนแบบเยอรมัน (MMP) ที่ให้เหตุผลว่าคะแนนเสียงทุกเสียงจะไม่ตกน้ำ

“ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือกับระบบ (MMP) แบบนี้ เพราะการกำหนดสัดส่วน ส.ส พึงมี ถูกกำหนดจากคะแนนพรรค และจำนวน ส.ส.เขตในพื้นที่ที่ชนะการเลือกตั้ง มาถึงจุดนี้หญิงจะเอาตัวเลขการเลือกตั้งปี 62 มาคำนวนให้เล่นๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ถ้าใช้สูตรคำนวนแบบพรรคก้าวไกลที่นำเสนอ ปี 64 ว่าพรรคไหนได้ประโยชน์สูงสุด โดยใช้คะแนนการเลือกตั้งปี 62 ตั้งฐาน แต่คำนวนตามข้อเสนอของพรรคก้าวไกลปี 64

“- พรรคอนาคตใหม่ได้ 6,300,000 คะแนน หรือ 17.8% ถ้าคำนวนด้วยสัดส่วน (MMP) จะมี ส.ส.พึงมี 89 คน อนาคตใหม่ได้ ส.ส.เขต 26 ที่นั่ง เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 63 คน
– พรรคเพื่อไทย 7,800,000 คะแนน หรือ 22.16% ถ้าคำนวนตามสัดส่วน (MMP) จะมี ส.ส.พึงมี 111 คน แต่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขต 135 เขต ดังนั้น ส.ส. แบบปาร์ตี้ลิส คือ 0 คน
– พรรคพลังประรัฐ 8,400,000 คะแนน หรือ 23.74% ถ้าคำนวนตามสัดส่วน (MMP) จะมี ส.ส.พึงมี 119 คน พลังประชารัฐชนะเขต 97 คน ดังนั้น ส.ส ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ได้ คือ 22 คน

“ระบบนี้เราจะเห็นได้ว่าคะแนนเสียงอาจมีคุณค่าจริง แต่ก็ละเลยและไม่ได้ยอมรับหลักการประชาธิปไตยที่ควรเป็น การเลือกตั้งในแบบเขต คือการสะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ การแพ้ชนะกันในการเลือกตั้งเขต คือการตัดสินใจของประชาชนในเขตเลือกตั้งๆ นั้น การที่ทุกคนมีสิทธิเลือกและเลือกได้อย่างเท่าเทียม ผลที่เกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจของประชาชน การนำเอาคะแนนพรรคมากำหนดสัดส่วน ส.ส. พึงมี คือเน้นพรรคแต่ขาดการยึดโยงกับประชาชน

“กลับมาที่ระบบ บัตร 2 ใบ ปี 40 ประชาชนได้ประโยชน์ทั้ง 2 ทาง และมีโอกาสตัดสินใจได้ การคำนวนคะแนนก็แยกบัตรเพื่อกำหนดโควต้าของ ส.ส.ในแต่ละส่วนทั้งปาร์ตี้ลิสต์และแบบเขต” น.ส.อรุณีกล่าว

น.ส.อรุณีกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยอมรับในกติกาทุกกติการัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยพิสูจน์ด้วยการลงสู้ศึกมาแล้วทุกสนามเลือกตั้ง ไม่ว่าการออกแบบกติกาจะเป็นอย่างไร ถูกยุบพรรค 2 ครั้ง ถูกตัดสิทธิการเมืองหลายร้อยชีวิต แต่เพราะทุกการต่อสู้ พรรคเพื่อไทยยึดโยงกับประชาชน ยึดด้วยนโยบายที่ดีและปฎิบัติได้จริง ยึดโยงด้วย ส.ส.ที่เข้าถึงและเข้าใจพร้อมนำปัญหามาสู่การแก้ไข

“ถ้าจะมีใครสักคนมากล่าวหา กล่าวอ้างบิดเบือนเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทย ใช้วิธีนี้ห้ำหั่นกันเพื่อให้ได้มาเพื่อความมุ่งหวังบางอย่าง เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำกันในตอนนี้ ในเวลานี้ที่พี่น้องประชาชนทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญ เพราะความล้มเหลวของผู้นำรัฐบาล สิ่งที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านต้องทำ คือ ร่วมมือร่วมใจกันเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หาวิธีที่หลากหลายช่วยกันรื้อนั่งร้านที่ค้ำยันผู้นำที่ไม่ได้มาจากประชาชนออกไป ตรงนี้มากกว่าที่พรรคการเมืองควรต้องทำก่อนสิ่งอื่น” น.ส.อรุณีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image