‘วิโรจน์’ ร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาลปมกระจายวัคซีน หลังพบ 4 จังหวัดยังเลื่อนฉีด

‘วิโรจน์’ ร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาลปมกระจายวัคซีน หลังพบ 4 จังหวัดยังเลื่อนฉีด

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 มิถุนายน ที่พรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงข้อเรียกร้องต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต่อการกระจายวัคซีนให้บริษัทเอกชน ว่าหนังสือราชการจากปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและปลัดกรุงเทพมหานคร โดยรายละเอียดสำคัญของหนังสือคือ ให้แต่ละจังหวัดรวมถึงกรุงเทพมหานคร จัดสรรวัคซีนให้แก่พนักงานและครอบครัวของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 71,449 คน โดยให้กระจายแจกจ่ายในหลายจังหวัดตามแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีอยู่ 4 จังหวัดที่ยังพบปัญหาการเลื่อนฉีดวัคซีนจากทางภาครัฐ

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การเลื่อนฉีดวัคซีนก่อให้เกิดตัวเลขตกค้างเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว ที่ได้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อมซึ่งเป็นของทางการตามระเบียบราชการและควรได้รับการจัดสรรเป็นกลุ่มแรกเนื่องจากเมื่อติดเชื้อจะมีอาการหนักกว่ากลุ่มอื่น โดยก่อนหน้านี้ผู้ว่าฯกล่าวว่า ในวันที่ 15-20 มิถุนายน มีประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวลงทะเบียนตกค้างจากหมอพร้อมประมาณ 140,000 ราย และกลุ่มที่ลงทะเบียนผ่านระบบ ศบค.อีก 170,000 ราย รวมแล้วมีผู้ที่ยังตกค้างอยู่ประมาณ 310,000 ราย

นายวิโรจน์กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลเพิ่มเติม 3 เรื่องคือ ข้อ 1 จำนวนสต๊อกวัคซีนที่ทางปลัด มท. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้จัดสรรวัคซีนแก่บริษัทเอกชนนั้น เป็นส่วนที่กันไว้สำหรับการสนับสนุนในรูปแบบนี้โดยเฉพาะหรือไม่ หรือเป็นการนำเอาส่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่จัดสรรไว้ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ยังตกค้าง

นายวิโรจน์กล่าวว่า เชื่อว่าพนักงานกลุ่มนี้รวมถึงครอบครัวน่าจะมีการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นไปบ้างแล้ว ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีแอพพลิเคชั่นสำหรับให้ประชากรในพื้นที่ลงทะเบียนต่างกันไป อาจทำให้ข้อมูลเกิดการซ้ำซ้อน จึงนำมาสู่ข้อเรียกร้องที่ 2 ว่ารัฐบาลได้จัดระเบียบข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ หากฐานข้อมูลมีการซ้ำซ้อนก็จะนำไปสู่ปัญหาในการบริหารจัดการในระยะยาว เพราะอาจมีประชาชนหนึ่งคนปรากฏชื่อในหลายช่องทางสำหรับลงทะเบียน

Advertisement

นายวิโรจน์กล่าวว่า ข้อที่ 3 ขอให้รัฐบาลเปิดเผยว่ามีบริษัทที่เข้าร่วมการสนับสนุนจากรัฐบาลในลักษณะนี้อีกกี่บริษัท และคิดเป็นสต๊อกวัคซีนจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นการกันไว้อยู่แล้ว หรือนำส่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่มีไว้สำหรับประชาชน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เน้นย้ำตลอดว่าส่งวัคซีนไปยังแต่ละจังหวัดครบถ้วนแล้ว แต่การจัดสรรนั้นเป็นหน้าที่ของจังหวัดต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของ ศบค. ไม่อยู่ในอำนาจของ สธ. ดังนั้น ถ้าสต๊อกไม่ถูกกันไว้ต่างหากแต่เป็นการนำส่วนดังกล่าวมาใช้ย่อมนำไปสู่ปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายวิโรจน์กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบในหนังสือของ มท.ลงวันที่ 17 มิถุนายน เมื่อย้อนกลับไปนั่นคือการออกหนังสือจากการร้องขอจากบริษัทเอกชนที่ส่งหนังสือถึง มท.ตามที่ลงวันที่ไว้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน โดยได้มีการอ้างถึงหนังสือเล่มที่ สธ 0400.7/ว 543 โดยระบุว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้เปิดโอกาสให้องค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรทำงานอยู่ในส่วนภูมิภาคหลายจังหวัดสามารถขอรับวัคซีนเพื่อฉีดให้กับบุคลากรของตนเอง หากย้อนกลับไปดูหนังสือของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งพบว่าประธานคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องตามดูต่อว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบที่แท้จริงคือใคร

นายวิโรจน์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรวบอำนาจ พ.ร.บ. 31 ฉบับ ไว้ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อเป็น 1 ใน 31 ฉบับนี้ด้วย จึงหมายความว่า หนังสือที่ออกไปยังบริษัทเอกชนต่างๆ ให้ส่งรายชื่อพนักงานพร้อมครอบครัวเพื่อมารับวัคซีน ประธานของคณะกรรมการโรคติดต่อที่เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นนายกรัฐมนตรี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image