ตำแหน่ง ประธาน กรรมาธิการ ‘รัฐธรรมนูญ’ ยอกย้อน ซ่อนปม

ตำแหน่ง ประธาน กรรมาธิการ ‘รัฐธรรมนูญ’ ยอกย้อน ซ่อนปม

เพียงร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ผ่านวาระ 1 มาได้เพียง 1 ฉบับ ก็เร้าความสนใจเป็นอย่างสูงอยู่แล้ว

การเข้าสู่วาระแห่ง “กรรมาธิการ” ยิ่งเข้มข้น

ความเข้มข้นมิได้อยู่ที่ว่า ไม่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่า พรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่า พรรคเพื่อไทย จะนำพาร่างนี้ไปบรรลุ “เป้าหมาย” ได้อย่างไร

เท่านั้น, หากแต่อยู่ตำแหน่ง “ประธาน” กรรมาธิการ

Advertisement

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เอ่ยนามของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ขึ้นเด่นเป็นสง่า ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ เตรียม นายไพบูลย์ นิติตะวัน เอาไว้

คำถามก็คือ ใครจะได้เป็น “ประธาน”

คำถามนี้คำตอบมิได้อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทย เท่านั้น หากแต่ยังอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐด้วย

Advertisement

ที่ละเอียดอ่อนยิ่งกว่านั้นคือ 250 ส.ว.

การชูนามของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ขึ้นมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐมีนามของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ขึ้นประชัน

สร้างความ “ต่าง” อย่างเด่นชัด

เด่นชัดตรงที่พรรษาทางการเมืองของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน มีจุดเริ่มตั้งแต่หลังเดือนตุลาคม 2516 ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน มาหลังรัฐประหาร 2549

แค่นี้ก็ประจักษ์ใน “รากฐาน” อันต่างกันยิ่ง

ยิ่งเมื่อยืนยันสถานะอันเคยเป็น “หัวหน้า” พรรคประชาธิปัตย์ สถานะอันเคยเป็น “รองนายกรัฐมนตรี” และ “รัฐมนตรี” ยิ่งแตกต่าง

นี่เหมือนกับกรณีที่ นายชวน หลีกภัย ชิงตำแหน่ง “ประธานสภา”

พลันที่นำเอาชื่อ และชั้นทางการเมืองของ นายชวน หลีกภัย ไปวางเรียงเคียงข้างกับ นายสุชาติ ตันสกุล ก็แทบไม่ต้องแจกแจง

จำเป็นที่ นายสุชาติ ตันเจริญ จักต้องร้องเพลง “ถอย”

คําถามก็คือ ระหว่างชื่อและชั้นทางการเมืองของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กับชื่อและชั้นทางการเมืองของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน

ใครจะเป็นฝ่ายร้องเพลง “ถอย”

กองเชียร์อย่างพรรคเพื่อไทย อย่างพรรคภูมิใจไทย อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา อาจปรารถนา นายบัญญัติ บรรทัดฐาน

แต่ถามว่า “ประชาธิปัตย์” ต้องการหรือไม่

การตัดสินใจในกรณีของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เพื่อผลักดันเข้าสู่ตำแหน่ง “ประธาน” คณะกรรมาธิการจึงสำคัญเป็นอย่างสูง

สำคัญต่อ “อนาคต” ของ “ประชาธิปัตย์”

คนที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้อาจเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค แต่เชื่อได้เลยว่าเรื่องนี้ต้องถึงมือ นายชวน หลีกภัย

คำตอบสุดท้ายจะมาจาก นายชวน หลีกภัย เท่านั้น

การเมืองเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในประเด็น “ระบบเลือกตั้ง” จึงมากด้วยความแหลมคมอย่างเป็นพิเศษ

แหลมคมต่อ “พลังประชารัฐ” แหลมคมต่อ “เพื่อไทย”

แหลมคมต่อเส้นทางในอีก 1 ปีข้างหน้าของพรรคพลังประชารัฐ แหลมคมต่อเส้นทางในอีก 1 ปีข้างหน้าของพรรคประชาธิปัตย์

โดยมี “เพื่อไทย” มีส่วนร่วมอย่างทรงความหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image