ถอดรหัสแก้ รธน.ฉบับ ปชป. ฉลุยหรือส่อแท้ง?

ถอดรหัสแก้ รธน.ฉบับ ปชป. ฉลุยหรือส่อแท้ง?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการถึงทิศทางและความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ไทย หลังมีเพียงร่างแก้ไข รธน.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระแรกไปแล้ว

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ประการแรก ผมไม่เห็นด้วยกับการที่แก้ไข ส.ส.แบ่งเขต จาก 350 เป็น 400 คน และแก้ ส.ส. บัญชีรายชื่อจาก 150 คน เหลือ 100 คน เพราะส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อที่จะสกัดพรรคการเมืองอย่างก้าวไกล ดังที่เห็นจากครั้งที่แล้ว ที่พรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมาก ซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น หากมองในมุมประชาธิปไตย จะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคใหม่ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

Advertisement

ทั้งนี้ ไม่ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะผ่านหรือไม่ ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่ได้ต้องการแก้ไขอะไร ที่จะไปลดทอนกลไกรักษาอำนาจของ คสช. โดยเฉพาะประเด็นของ ส.ว. ซึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 60 นี้ มีการประกาศชัดเจนในเรื่องการให้อำนาจ ส.ว.โดยนัยยะคือ ให้มีการคงอยู่ได้ของอำนาจ ส.ว. ในวาระ 5 ปี จากนั้นจึงมีการเลือกนายกฯใหม่ ครอบคลุม 2 สมัย ดังนั้น หากรายละเอียดเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของประชาธิปัตย์ นำไปสู่การตัดอำนาจของ ส.ว. หรือไปสะเทือนอำนาจทหาร และ คสช. โอกาสที่ร่างฉบับนี้จะผ่าน ก็มีน้อย

และผมเชื่อว่าประชาธิปัตย์เองก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการประนีประนอมประเด็นนี้ เพราะสุดท้าย นำมาสู่การรักษาไว้ซึ่งโอกาสที่ประชาธิปัตย์ยังต้องการอยู่ นั่นคือ “แค่เพียงได้เป็นรัฐบาล” กล่าวได้ว่า นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเกมของประชาธิปัตย์ในการแสดงจุดยืนว่าต้องการเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ประเด็นที่ประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญนัก เห็นได้จากการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ที่ประชาธิปัตย์เกือบทั้งหมดลงคะแนนเสียงเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับหลักการนี้มาตั้งแต่ต้น

ดังนั้น การที่ร่างของประชาธิปัตย์ผ่านเข้ามาได้ ก็ยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริงในเวลานี้ เพราะสุดท้าย แม้สถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะที่แย่มากจากการบริหารสถานการณ์โควิด แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนพรรครัฐบาลและทหารอยู่ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อาจเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ว่าเมื่อประเมินคะแนนเสียงกันแล้ว ก็ยังได้อยู่ การที่ร่างฉบับประชาธิปัตย์จะผ่านไปโดยลดอำนาจ ส.ว.นั้น น่าจะเป็นไปได้ยาก

Advertisement

ทั้งนี้ ถ้าหากร่างของประชาธิปัตย์ผ่าน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลดอำนาจ ส.ว. ก็จะเป็นการส่งสัญญาณโดยตรงถึงบทบาทของทหารและกลุ่มของ พล.อ.ประยุทธ์ หมายความว่า ส.ว.ที่เลือกมาโดย คสช.ก็จะไม่มีอำนาจ อาจจะเป็นสัญญาณดีในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ แต่จะเป็นข่าวรายของทหาร แต่ส่วนตัวคิดว่าโอกาสที่จะเกิดเช่นนี้ก็ยังเป็นไปได้ยาก เพราะมีหลายกลไกที่พยายามคงไว้ซึ่งอำนาจนี้อยู่ และยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า ส.ว.ปัจจุบัน เป็น “กลไกคานอำนาจนักการเมือง” ที่ถูกวาทกรรมใส่ความว่าเป็นคนชั่ว เป็นคนเลวร้าย ดังนั้นการคงไว้ซึ่งอำนาจ ส.ว. คนจำนวนหนึ่งจึงเห็นว่ายังคงต้องมีอยู่

แต่ความจริงแล้วอำนาจ ส.ว.ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากเลือกของทหารที่รัฐประหารยึดอำนาจประชาชน ดังนั้น จึงสมควรถูกยกเลิกไป

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

เจตนาเดิมที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอร่างนี้ ไม่ต้องการให้เป็นร่างหลัก ตั้งใจว่าเป็นเพียงร่างประกบ เนื่องจากคิดว่ามีร่างของพรรคพลังประชารัฐ และร่างของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไขรายละเอียดครบทุกมาตราแล้ว แต่ประชาธิปัตย์ตั้งใจว่าเป็นเพียงร่างประกบ เพื่อให้รู้ว่ามีประชาธิปัตย์ร่วมเสนอเรื่องนี้ด้วย แต่เมื่อสมาชิกรัฐสภาโหวตรับเพียงร่างเดียว ก็จะเกิดปัญหาว่า เนื้อหาข้อความในร่างที่เสนอไม่ครบถ้วน แล้วไปปรากฏในเนื้อหาที่แตกต่างในมาตราอื่นๆ อีกอย่างน้อย 5-6 มาตรา

ปัญหาของสภาต้องดูว่าการแปรญัตติ ทำได้เฉพาะในร่างที่รับหลักการ ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของมาตราที่ไม่ได้รับหลักการได้ เช่น ในมาตราที่ 86 (1) (4) มีเขียนไว้เรื่องการคำนวณ ส.ส.เขต ที่แต่ละจังหวัดพึงมี สูตรในการคำนวณก็นำจำนวนประชากรทั้งประเทศเป็นตัวตั้งและหารด้วยจำนวน ส.ส. แต่ในมาตรา 56 เขียนไว้ว่ามี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน เป็นตัวหารจำนวนประชากร หากใช้ร่างใหม่จะต้องเปลี่ยนเป็น 400 คนแทน แต่สมาชิกรัฐสภาไม่ได้รับหลักการในเรื่องนี้ก็ถือว่าขัดกัน

นอกจากนั้นยังปรากฏในอีกหลายมาตราที่เป็นเรื่องของการคำนวณจำนวน ส.ส.โดยใช้บัตรใบเดียวเป็นหลัก ดังนั้นก็เป็นโจทย์ที่ทำให้คณะกรรมาธิการทำงานลำบาก เพื่อแปรญัตติในวาระที่ 2 ว่าจะตกแต่งเฉพาะมาตรา 83 และมาตรา 91 ให้สอดคล้องกับมาตราอื่นๆ ที่ไม่ได้รับหลักการได้หรือไม่ อย่างไร มีสมาชิกบางรายคุยกันเป็นการส่วนตัวบอกว่าให้แปรญัตติตัวเลข 400 หรือ 100 ตามมาตรา 83 ให้กลายเป็น 350 หรือ 150 จึงจะไม่ขัดกับมาตรา 86 ซึ่งได้มีข้อเสนอว่าการแปรญัตติเมื่อรับหลักการแล้วว่าสัดส่วนของ ส.ส.เขตต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะเปลี่ยนไป ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนแปลงไปโดยใช้ตัวเลขเดิม ก็เหมือนไม่รับหลักการ ก็ทำไม่ได้

ส่วนตัวไม่เชื่อว่ากรรมาธิการจะสามารถมีผลการแปรญัตติเพื่อตกแต่งแค่ 2 มาตราแล้วไม่ขัดกับอีก 6 มาตราที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ทางออกในเรื่องนี้จะต้องเสนอเป็นญัตติแก้ไขใหม่หากต้องการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ เข้ามาซึ่งประกอบด้วยมาตราต่างๆ ที่ครบถ้วนคราวเดียว แต่ก่อนจะทำสิ่งนั้นได้ ต้องให้สิ่งที่ค้างในสภาตกไปทั้งหมดก่อน สภาต้องโหวตวาระ 3 เพื่อให้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ตกไป และเริ่มต้นใหม่ เชื่อว่าเป็นทางออกเพียงทางเดียว

หรือหากจะเดินหน้าต่อไป จากการติดตามนายวิษณุ เครืองาม ให้ความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีความเป็นไปได้ เพราะบอกแต่เพียงว่าผู้ที่อยู่ในกรรมาธิการมีประสบการณ์น่าจะทำได้ หากทำจริงก็เชื่อว่าน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ หากทำได้จริงโดยมติกรรมาธิการเสียงข้างมาก ท้ายที่สุดก็ต้องมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับร่างที่ผ่านสภาคงเป็นความไม่รอบคอบ เพราะเดิมสภาต้องการรับร่างของพลังประชารัฐ แต่เนื่องจากมีปัญหาการรวมมาตรา 144 มาตรา 185 ในญัตติเดียวกัน เมื่อสังคมวิจารณ์ว่า 2 มาตรานี้ อาจไปละเมิดหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปราบโกง ดังนั้น ส.ว.จึงไม่รับร่างของพลังประชารัฐ แต่ทางออกที่ดีก็ควรรับทั้ง 2 ร่างของเพื่อไทย และร่างของประชาธิปัตย์พร้อมกัน ก็จะไม่เป็นปัญหาในการเดินหน้าต่อวาระ 2 แต่การที่ไม่รอบคอบและเกรงว่า ส.ว.จะเสียหน้า เพราะไปรับร่างของฝ่ายค้าน จึงโหวตรับร่างของประชาธิปัตย์ที่มีรายละเอียดเพียง 2 มาตรา

ขณะที่ผู้เสนอจากประชาธิปัตย์ เชื่อว่าร่างที่ 13 จะผ่านมติในฐานะร่างประกบ ไม่ได้คาดคิดว่าจะเป็นร่างหลัก เพราะเดิมเชื่อว่าร่างของพลังประชารัฐจะผ่านในวาระแรก ดังนั้นจึงประเมินว่าร่างของประชาธิปัตย์คงไปไม่รอด เพราะไม่มีทางออกทางอื่น

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฟังเหตุผลจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาชี้แจง ก็บอกชัดเจนหากมาตราไหนที่ขัดกันจากการเสนอแก้ไข ก็ปรับได้ โดยหลักการแก้ไขกฎหมาย ประชาธิปัตย์ได้เสนอหลักการที่เป็นหัวใจหลักในการแก้ไขแล้ว หากไปกระทบมาตราไหนก็ต้องปรับให้เข้ากับมาตราที่นำเสนอ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นหลักการปกติที่เคยมีการแก้ไขกฎหมายกันมาในอดีต แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีประสบการณ์ว่าจะต้องเสนอรายละเอียดในญัตติให้แก้ไขครบถ้วนสมบูรณ์ในคราวเดียวหรือไม่ เพราะยังมีบุคคลที่เห็นแตกต่างในเรื่องนี้กรณีเสนอแก้ไข 2 มาตราแต่ไปขัดแย้งกับมาตราอื่นๆ

ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือการเสนอให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบของประชาธิปัตย์ จะเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 หรือไม่ หรือเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบสัดส่วนของประเทศเยอรมนีตามที่พรรคก้าวไกลพยายามจะนำเสนอ ดังนั้นต้องติดตามลงลึกในรายละเอียดกันให้ชัดเจนว่าประชาธิปัตย์มีเป้าหมายอย่างไร หากจะเป็นบัตร 2 ใบแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เหมือนแนวคิดของพรรคเพื่อไทยแต่ถูกตีตกพร้อมกับร่างของพลังประชารัฐ เพราะฉะนั้นการแก้ไขใน 2 มาตราตามร่างของประชาธิปัตย์ จะเหมือนกับร่างของ 2 พรรคใหญ่จริงหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

การดำเนินการก็ทำไปตามที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาชี้แจง หากตกลงกันได้ในการพิจารณาวาระ 2 ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการแปรญัตติ มาตราไหนที่ขัดกันก็ไปปรับให้สอดคล้องกันก็จบ ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะทำได้

หากทำจริงหลังจากนั้นจะมีการยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน แต่ถามว่าฝ่ายไหนจะไปร้อง อยู่ที่การตัดสินใจเดินหน้าใช้ระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือจะใช้ระบบเยอรมนี หากเป็นระบบที่พรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐต้องการก็น่าจะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด ไม่น่าจะมีใครไปร้อง

ส่วนกรณีที่สมาชิกรัฐสภารับร่างของประชาธิปัตย์ที่มีเพียง 2 มาตรา แต่ตีตกร่างของ 2 พรรคใหญ่ที่เสนอแก้ไขไว้ครบถ้วน ก็ไม่ทราบเจตนาของผู้ยกมือรับร่าง แต่เชื่อว่าการยกมือของสมาชิกบางคนคงไม่ได้ดูในรายละเอียด หรือ ส.ว.บางคนอาจจะชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์ แต่เหตุผลจริงๆ ที่โหวตรับร่างที่ 13 ของประชาธิปัตย์คนรับอาจอธิบายได้ยาก เพราะเป็นเรื่องทางการเมือง

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา

กล่าวถึงรัฐสภารับหลักการแก้รัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กรณีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ วาระแรก ว่า การพิจารณาวาระ 2 เป็นเรื่องการแปรญัตติ หรืออภิปรายเนื้อหา ไม่มีผลต่อร่างดังกล่าว ส่วนวาระ 3 เป็นการลงมติหรือยอมรับร่างดังกล่าวหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐสภาผ่านร่างแก้ รธน.ของ ปชป. เพราะเป็นช่วงที่มีการออกกฎหมายประชามติพอดี ก่อนรัฐบาลชิงยุบสภาช่วงตุลาคมนี้ก่อนจัดเลือกตั้ง ส.ส.ในปลายปี เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองตามลำดับ

“เชื่อว่า ส.ว. 250 คน สนับสนุนร่าง รธน.ของ ปชป. เพราะเอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาล และยังคงอำนาจ ส.ว.ตามเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ดังนั้นการรับร่างดังกล่าวเพียงร่างเดียว จากร่างที่เสนอแก้ไข 13 ร่าง สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อประชาชนและประเทศ หากใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ยิ่งทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบพรรคเล็ก เพราะมีเขตเลือกตั้ง ส.ส. 400 เขต จากเดิม 350 เขต ทำให้เขตเลือกตั้งเล็กลง และมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์อีก 100 คน รวม 500 คน ทำให้การบริหารจัดการเลือกตั้งของพรรคใหญ่ง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อนยุ่งยากอะไร

ส่วนพรรคการเมืองที่เสนอร่างแก้ รธน.อีก 12 ร่าง ที่รัฐสภาลงมติไม่รับร่างดังกล่าว อาจนำไปปรับแก้ใหม่ให้เป็นร่างของประชาชน โดยลงรายชื่อแก้ 50,000 ราย เพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณาใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นปี แต่รัฐบาลชิงยุบสภาก่อน เพื่อเลือกตั้งใหม่ ดังนั้นร่างที่ประชาชนเสนอ ไม่มีโอกาสให้รัฐสภาพิจารณาได้อีก การเลือกตั้งสมัยหน้า เชื่อว่าพรรคเล็กมีโอกาสสูญพันธุ์สูง เพราะ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 5% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 50 ล้านคน คิดเป็น 2.5 ล้านคนขึ้นไป เลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเล็กได้คะแนนจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อสูงสุด เพียง 800,000 คะแนนเท่านั้น โอกาสได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ น้อยลงตามลำดับ

จะเหลือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) เพียง 2 พรรคใหญที่ช่วงชิงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าเท่านั้น ทำให้มีการไหลของ ส.ส.พรรคเล็กไปอยู่พรรคใหญ่มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image