หอการค้าฯวอนล็อกดาวน์แค่พื้นที่เสี่ยง เผยเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในประวัติการณ์แล้ว

หอการค้าฯวอนล็อกดาวน์แค่พื้นที่เสี่ยง เผยเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในประวัติการณ์แล้ว

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 43.1 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ 44.7 โดยดัชนีลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในรอบ 22 ปี 9 เดือน ที่หอการค้าได้เริ่มทำการสำรวจมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 37.3 ลดลงจาก 38.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 40.0 ลดลงจาก 41.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 52.1 ลดลงจาก 53.9

จากตัวเลขดัชนีทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ทำให้เห็นว่าเป็นจุดที่ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาคแรงงาน มีความเห็นว่าเศรษฐกิจนั้นย่ำแย่ที่สุด ถือว่าแย่กว่าสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง สะท้อนว่าเป็นจุดเปราะบางทางเศรษฐกิจ ที่คนมองว่าการซื้อบ้านหรือรถ และการท่องเที่ยว ในขณะนี้นั้น ไม่เหมาะสม ดังนั้น การจับจ่ายใช้สอย และการซื้อสินค้าคงทนจะหยุดชะงักในช่วงนี้

ในตอนนี้ทางการแพทย์ของไทย เหมือนยอมรับว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในขณะนี้ เป็นรอบที่ 4 โดยเป็นการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า โดยมียอดผู้ติดเชื้อ 6-7 พันคน ขณะที่สถานการณ์ของเตียงผู้ป่วยเริ่มมีความน่าเป็นห่วง รวมทั้งกระแสข่าวว่าจะมีการล็อกดาวน์ หากทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภค ณ วินาทีนี้น่าจะทรุดตัวลงอีก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการล็อกดาวน์และการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น สถานการณ์ของความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะอยู่ในทิศทางขาลง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ด้านสถานการณ์ทางการเมืองเอง แม้ไม่ได้มีความวุ่นวายที่ในและนอกสภา แต่มองว่าเสถียรภาพทางการเมืองนั้นต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ดังนั้น จึงมีผลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลรวมกับเรื่องของการระบาดของโควิด-19 ด้วย

Advertisement

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในเดือนมิถุนายน 2564 หอการค้าทุกภาคส่วนมีความเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ค่อนข้างแย่ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาพรวม อยู่ที่ 22.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 24.7 โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวจากผลสำรวจ มีผู้ตอบว่า แย่เกือบ 99% หมายถึงการท่องเที่ยวของทุกจังหวัดนั้นนิ่งสนิท ด้านการจ้างงาน ก็ตอบว่าแย่ ถึง 91% ดังนั้น ตอนนี้สถานการณ์ได้ถึงปราการสุดท้ายของระบบเศรษฐกิจ ที่หลุดไปถึงการจ้างงาน คนไม่ใช้จ่ายและมีโอกาสปลดออกจากงาน จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ลดลงไปต่ำสุด

ส่วนในช่วง 6 เดือนข้างนั้น หอการค้าจังหวัดมองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าจะแย่ลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยรายภาคนั้น ทุกภาคลดลงต่ำสุดในรอบ 30 เดือน หรือ 2 ปี 6 เดือนที่เคยทำการสำรวจ และการจากสำรวจนั้น มีความเห็นว่าประเทศควรจะมีการล็อกดาวน์ ซึ่งขึ้นอยู่กับทางการแพทย์ว่าควรจะทำอย่างไร

Advertisement

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ในภาคธุรกิจ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการล็อกดาวน์ เช่นเดียวกัยโควิด-19 รอบแรกนั้น ว่า มีส่วนที่ไม่เห็นด้วย 38.4% เนื่องจากกลัวกระทบและทำให้เศรษฐกิจแย่ลง กลัวว่าธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ ส่วนที่เห็นด้วย 35.7% ต้องการให้เจ็บแต่จบ ขณะที่กลุ่มไม่แน่ใจ 25.9% เพราะต้องการข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนกว่านี้ ส่วนการล็อกดาวน์นั้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ในตอนนี้ยังตอบไม่ได้เพราะ ไม่ทราบว่าจะทำการล็อกดาวน์หรือไม่ และอย่างไร แต่ถ้าหากมีการล็อกดาวน์ 1 เดือนจะสร้างความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจ 2-3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อและการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังคลายล็อกดาวน์ ดังนั้น จึงยังประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ได้

ส่วนความเห็นภาคเอกชนมีความเห็นว่าถ้าจะล็อกดาวน์ ควรเลือกแค่จังหวัดพื้นที่เสี่ยง ส่วนจังหวัดอื่นก็ใช้มาตรการควบคุมตามความเหมาะสม เพราะถ้าเป็นการล็อกดาวน์ทั้งประเทศจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจมากเกินไปทั้งนี้ก็ยังให้ความสำคัญกับการควบคุมการระบาดอย่างถาวรและรวดเร็วที่สุด แต่ก็อยากให้มีผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด และหลังจากล็อกดาวน์นั้น รัฐบาลควรจะเยียวและกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยโครงการคนละครึ่งนั้นเหมาะสมที่สุด ดังนั้น ถ้ามีการล็อกดาวน์จริง รัฐบาลก็ควรจะเติมเงินในโครงการคนละครึ่ง ช่วยให้เม็ดเงินหมุนเวียน ส่วนประชาชนที่มีกำลังซื้อน้อยก็เติมเงินด้วยโครงการเราชนะ หรือ ม33เรารักกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image