เอ็มดี ‘บขส.’ สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต เปิดแผนหนีตายท่ามกลางโควิดรอบใหม่ ‘ขาดทุนสูงสุดในรอบ 91 ปี’

เพิ่งครบรอบ 91 ปี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564

นับเป็นปีที่ 91 ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ต้องเผชิญความท้าทายและความยากลำบาก จากวิกฤตที่ถาโถม

ทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ซบหนัก การระบาดของโควิด-19 ที่เชื้อยังลามไปทั่วประเทศไม่หยุด สร้างความระส่ำระสายให้ธุรกิจทั่วหน้า

รวมถึง ธุรกิจรถทัวร์ ที่ได้รับแรงกระแทกจากโควิด-19 อย่างเต็มเหนี่ยว นับจากโควิด-19 เข้ามาระบาดในประเทศไทยระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 สร้างความหวาดกลัว คนเดินทางน้อยลง ทำให้ผู้โดยสารใช้บริการรถทัวร์ลดลงอย่างต่อเนื่องมาถึงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่มีผู้โดยสารเป็นศูนย์

Advertisement

เป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์ ที่รัฐบาลประกาศยกระดับความเข้มข้น สกัดการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่สีแดงเข้มและเข้มงวดสูงสุด 13 จังหวัด กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00-04.00 น. งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดที่ไม่มีเหตุจำเป็น ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบัน ธุรกิจรถทัวร์ ตกอยู่ในห้วงขาลงมาหลายปี นับตั้งแต่มีสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์มาเป็นคู่แข่ง แย่งผู้โดยสาร แต่มรสุมครั้งนั้น ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับ *โควิด-19* ในเวลานี้

Advertisement

“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ *สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต* กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ถึงผลกระทบ การรับมือ การบริหารความเสี่ยงบริษัท ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติจากการระบาดของโควิด-19 ที่เอ็มดี บขส.บอกว่า “เป็นแผนหนีตาย”

•ผลกระทบจากโควิดและการล็อกดาวน์?

การล็อกดาวน์รอบแรกพื้นที่ 10 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 12-25 กรกฎาคมที่ผ่านมา บขส.หยุดให้บริการทุกเส้นทางในพื้นที่ภาคใต้ เพราะเป็นการวิ่งระยะยาว ติดมาตรการเคอร์ฟิวช่วง 21.00-04.00 น. เหลือเดินรถ 8 เส้นทาง วิ่งช่วงกลางวัน ระยะทางไม่เกิน 500 กิโลเมตร ให้บริการวันละ 1 เที่ยววิ่ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก จาก 10 เส้นทาง เหลือ 5 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-นครพนม, กรุงเทพฯ-เลย-เชียงคาน, กรุงเทพฯ-สุรินทร์, กรุงเทพฯ-สังขะ-ขุขันธ์-กันทรลักษณ์-เดชอุดม-อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ-รัตนบุรี และภาคเหนือ ให้บริการเดินรถ 3 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-คลองลาน, กรุงเทพฯ-หล่มเก่า, กรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์

ส่วนรถร่วมเอกชนรายใหญ่ๆ ขอหยุดให้บริการชั่วคราว 2-3 ราย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เพราะมีผู้โดยสารใช้บริการน้อย ซึ่

บขส.ให้ความช่วยเหลือให้หยุดวิ่งได้โดยไม่คิดค่าปรับ ลดค่าธรรมเนียมให้เท่าที่ทำได้ ขณะที่ บขส.เองไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องหยุดตามนโยบายอยู่แล้ว

ล่าสุดจากการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ใน 13 จังหวัด บขส.หยุดให้บริการเดินรถทุกเส้นทางชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ยกเว้นรถขนส่งพัสดุภัณฑ์ที่ยังเปิดให้บริการทั้งภาคเหนือสายเชียงใหม่ เชียงราย ภาคอีสานสายนครพนม, หนองคาย, อุบลราชธานี และภาคใต้ ภูเก็ต หาดใหญ่ และสุไหงโก-ลก ตั้งแต่เวลา 06.00-19.30 น.

ผู้โดยสาร บขส.ที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าเดินทางระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม-2 สิงหาคม สามารถติดต่อขอคืนตั๋ว หรือเลื่อนการเดินทางได้จนถึงสิ้นปี 2564 ที่ช่องจำหน่ายตั๋วของ บขส.ทั่วประเทศ ส่วนผู้โดยสารที่ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขอคืนเงินค่าตั๋วไม่ได้ แต่สามารถแจ้งเลื่อนการเดินทางได้

ส่วนรถร่วมที่เป็นรถโดยสารขนาดใหญ่วิ่งระยะทางยาวจะหยุดหมดทุกเส้นทางเช่นกัน เปิดบริการเฉพาะรถตู้โดยสารวิ่งระยะสั้นในพื้นที่ 13 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ-นครปฐม กรุงเทพฯ-อยุธยา เป็นต้น แต่ลดปริมาณผู้โดยสารลงเหลือ 50% เพื่อลดความแออัดตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

•จากมาตรการส่งผลกระทบต่อรายได้บขส.มากน้อยแค่ไหน?

ประเมินว่าตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม บขส.จะมีรายได้เป็นศูนย์ จากการที่เราลดการเดินรถในรอบแรกจากมีผู้โดยสารใช้บริการวันละ 20,000 คน เหลือวันละ 8,000 คน และหยุดให้บริการทุกเส้นทางรอบที่สองหลังมีการขยายและยกระดับมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นสูงสุด คาดว่าจะทำให้ขาดทุนเพิ่มมากขึ้นเป็นเดือนละ 60-70 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ขาดทุนอยู่ที่เดือนละ 40-50 ล้านบาท เพราะไม่มีรายได้เลย

ขณะที่รายจ่ายประจำเรายังมีอยู่ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่ารถโดยสารที่ บขส.เช่าจากเอกชนประมาณ 3-4 บริษัท เช่น บริษัทเชิดชัย บริษัทธนบุรี ร่วมๆ 20 ล้านบาทต่อปี จะเจรจาเอกชนขอขยายเวลาออกไปแทนการจ่ายค่าเช่ารายเดือน

ตอนนี้ บขส.มีรายได้แค่การขนส่งพัสดุภัณฑ์ แต่ก็ไม่มาก เพราะรถโดยสารหยุดวิ่งบริการ เราต้องเสียค่าเช่ารถมาวิ่งขนส่งพัสดุภัณฑ์เพิ่มอีก 4 คัน จากเดิมมีอยู่ 6 คัน รวมเป็น 10 คัน เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ชดเชยรายได้ค่าโดยสารที่หายไปในช่วงนี้

•ปีนี้ประมาณการรายได้และการขาดทุนของ บขส.ไว้อย่างไร?

รายได้ของ บขส.จะคิดตามปีงบประมาณ ย้อนกลับไปเมื่อปีงบประมาณ 2562 เป็นช่วงเวลาปกติ บขส.มีรายได้อยู่ที่ 3,397 ล้านบาท มีกำไรกว่า 1 ล้านบาท ต่อมาในปี 2563 เป็นปีแรกที่เกิดโควิด ทำให้ บขส.มีรายได้รวมลดลงเหลืออยู่ที่ 2,200 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่าย 2,800 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนไปกว่า 500 ล้านบาท

สำหรับปี 2564 ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ เราตั้งเป้าจะมีรายได้รวม 3,300 ล้านบาท มีกำไร 85 ล้านบาท แต่เมื่อมีโควิดระบาดหลายระลอก ทำให้สถานการณ์ไม่ปกติ คาดว่าจะมีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท และขาดทุนมากขึ้นจากปีที่แล้วเป็น 2 เท่า โดยคาดว่าจะขาดทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 990 ล้านบาท และขาดทุนในทางบัญชี (รวมค่าเสื่อม) อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ปีนี้นับเป็นปีที่ บขส.ขาดทุนมากที่สุดในรอบ 91 ปี ตั้งแต่บริษัทเปิดดำเนินการมา

•ขาดทุนมากขนาดนี้ ถือว่าบขส.มีความเสี่ยงขนาดไหน?

สถานการณ์ปีนี้อยู่ในสถานะที่บริษัทมีความเสี่ยง ในปีหน้าถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ต้องเตรียมแผนหาเงินสำรอง หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากกระแสเงินสดที่มีอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ตอนนี้เริ่มลดลง คาดว่าถึงเดือนกันยายน 2564 จะเหลือประมาณ 1,500 ล้านบาท

เนื่องจาก บขส.ต้องดึงเงินสะสมออกมาใช้ เพื่อชดเชยการขาดทุนทุกๆ เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาเฉลี่ยเดือนละ 50-60 ล้านบาท และจากสถานการณ์โควิดที่ยังไม่คลี่คลาย ประเมินว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ จะต้องดึงเงินสะสมออกมาใช้อีกเดือนละ 100 ล้านบาท รวม 4 เดือน ก็เป็นเงิน 400 ล้านบาท เพื่อมาชดเชยการขาดทุนจากการเดินรถ ในปีหน้าเราคิดว่ายังพอไหวอยู่ แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น เป็นแบบนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ บขส.ก็คงจะไม่รอด ต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องอีก 1,200 ล้านบาท

•หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นนอกจากเตรียมเงินกู้ไว้เป็นแผนสำรองแล้ว จะลดต้นทุนอื่นๆ อีกหรือไม่?

ปัจจุบัน บขส.กำลังทำ escape plan หรือแผนหนีตายอยู่ ปีนี้ได้ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้พอสมควร คิดเป็นเงินร่วม 100 ล้านบาท เช่น ค่าอบรม ค่าสัมมนา ค่าระบบไอทีที่ชะลอได้ก็ให้ชะลอออกไปก่อน ค่าเช่ารถโดยสารจากเอกชนที่หมดสัญญา จำนวน 70 คัน ซึ่งเราไม่ต่อสัญญา สามารถประหยัดไปได้กว่า 20 ล้านบาท เพื่อเตรียมการรองรับการเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานทางเลือก

นอกจากนี้ยังมีแผนเออร์ลี่ รีไทร์ พนักงานบางส่วนที่ไม่จำเป็นออก ให้สอดรับกับการพัฒนาระบบการบริการในยุคดิจิทัล จึงต้องลดปริมาณคนลง อยู่ระหว่างทำข้อมูลเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) บขส.พิจารณาอนุมัติ เป็นไปตามนโยบายบอร์ดให้ปรับลดขนาดองค์กร ไม่รับคนเพิ่ม หากมีเกษียณก็ให้ทำการหมุนเวียนสับเปลี่ยนคนแทน เพื่อลดต้นทุนและภาระค่าใช้จ่าย

เนื่องจากพนักงานมีอยู่ 2,850 คน ยังมีสัดส่วนคนที่มากกว่างานที่ทำ จึงต้องปรับลดลง ในเบื้องต้นตั้งเป้าจะลด 180 คน เริ่มล็อตแรกในปีหน้า จะเปิดให้พนักงานเข้าร่วมโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ ประมาณ 70-80 คน เป็นพนักงานในส่วนของการบริการขายตั๋วโดยสารและบริการที่ชั้นชานชาลา จากที่มีอยู่ทั้งหมด 100 กว่าคน

เพราะเราได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีการจำหน่ายตั๋วโดยสารให้ทันสมัย เป็นขายผ่านระบบออนไลน์ที่หน้าเคาน์เตอร์ บขส.กำลังเซ็ตระบบจะเสร็จในเดือนกรกฎาคม และเริ่มใช้ในเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป ไม่ต้องเข้าคิวรอซื้อตามช่องจำหน่ายตั๋วเหมือนที่ผ่านมา เป็นการยกระดับการบริการของ บขส.ไปสู่ดิจิทัล ทรานสปอร์ตตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม

•จะชะลอแผนการลงทุนใหม่ๆ หรือไม่?

มีปรับแผนจะไม่มีการเช่ารถโดยสารอีกต่อไป ส่วนที่ยังมีสัญญาเก่าอยู่ยังเดินหน้าต่อ อย่างเช่นรถชองเชิดชัย ยังไม่หมดสัญญาอีกประมาณ 50-60 คัน ก็ยังคงเช่าต่อ เพื่อรองรับการเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานทางเลือกในอนาคต เช่น รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV หรือรถ NGV อยู่ระหว่างให้ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำการศึกษา จะสรุปจัดเป็นแผนงานในปี 2565 และเริ่มดำเนินการในปี 2566 โดยรูปแบบจะเป็นการเช่าแทนการซื้อใหม่ จะประหยัดต้นทุนได้มากกว่า

•ประเมินสถานการณ์การเดินรถของบขส.จะกลับมาดีขึ้นเมื่อไหร่?

ผลกระทบโควิดมาเป็นระลอก เมื่อต้นปี 2563 ระลอกแรกมีล็อกดาวน์ 14 วันแล้วดีขึ้น ช่วงระลอกปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 สัญญาณเริ่มดีขึ้น มีคลายล็อกให้เดินทางได้ แต่หลังเดือนเมษายนเริ่มระลอก 3

คนเริ่มชะลอการเดินทางมาจนถึงปัจจุบันถือว่าหนักมาก เพราะรอบนี้สายพันธุ์ของเชื้อที่ระบาดแตกต่างจากต้นปี 2563 รอบนี้เชื้อระบาดและกลายพันธุ์ใหม่เร็ว

คาดหวังภายในไตรมาส 4 ของปีนี้น่าจะดีขึ้น หลังจากที่รัฐเร่งฉีดวัคซีน แต่ถ้าหากยอดผู้ป่วยโควิดยังมีจำนวนมากอยู่ คงจะลำบากต่อการเดินทาง แต่ถ้าไม่มีการเดินทาง คงกระทบต่อ บขส. เพราะเราทำหน้าที่ขนคนกับขนของจากกรุงเทพฯไปต่างจังหวัด ถ้าเดินทางไม่ได้ก็กระทบเราเต็มๆ ปีหน้าก็ต้องวางแผนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ให้ดี

•แผนการหารายได้ในระยะสั้นและระยะยาว?

กำลังพิจารณานำที่ดิน 4 แปลง พัฒนาหารายได้ จะเปิดประกาศให้เอกชนที่สนใจพัฒนาลงทุนโครงการระยะยาว ได้แก่ ที่ดินสถานีขนส่งเอกมัย เนื้อที่ 7 ไร่ ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีขนส่งปิ่นเกล้า เนื้อที่ 15 ไร่ สถานีขนส่งบริเวณสามแยกไฟฉาย เนื้อที่กว่า 3 ไร่ ใกล้สถานีแยกไฟฉายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสถานีขนส่งชลบุรี เนื้อที่ 5 ไร่

ขณะนี้เตรียมยกร่างประกาศทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลพัฒนาที่ดินสถานีสามแยกไฟฉาย มีเอกชน 2-3 ราย สนใจจะเช่าพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้า และคอมมูนิตี้มอลล์เล็กๆ จากนั้นจะเปิดประมูลสถานีขนส่งปิ่นเกล้าเป็นแปลงต่อไป

ส่วนสถานีขนส่งเอกมัย ต้องทบทวนรูปแบบการพัฒนาใหม่ เนื่องจากที่ดินมีขนาดเล็กและอยู่ในเมือง จะใช้เงินลงทุนสูง โดยผลศึกษาเดิมจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบพีพีพีเป็นมิกซ์ยูส มีสถานีขนส่งผู้โดยสาร ร้านค้า สำนักงาน โรงแรมและที่จอดรถ อาจจะไม่มีเอกชนสนใจลงทุน เพราะมูลค่าโครงการสูง ไม่คุ้ม กำลังให้ทำการศึกษาว่าถ้าประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนมาเสนอไอเดียรูปแบบการลงทุนและพัฒนาจะดีกว่าหรือไม่

สำหรับสถานีขนส่งชลบุรี เป็นสถานีขนส่งเก่า จะพัฒนาเป็นรูปแบบอื่น มีแนวคิดว่าจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อกับ 3 จังหวัดพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี กำลังหารือร่วมกับอีอีซี เช่น จะพัฒนาเป็นฮับของ บขส.และดูแลการเดินรถใน 3 จังหวัดอีอีซี คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเน้นรถโดยสารเป็นพลังงานไฟฟ้า การดำเนินการ บขส.อาจจะลงทุนเอง หรือให้ผู้ประกอบการรถโดยสารที่สนใจเข้ามาลงทุน จะให้ได้ข้อสรุปกลางปีหน้า

เรื่องการพัฒนาที่ดินเป็นแผนสร้างรายได้ในระยะยาว น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนการหารายได้ในระยะสั้นตอนนี้เหนื่อย พยายามเน้นเรื่องการขนส่งพัสดุภัณฑ์ที่ทำอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2560 ตอนนั้นเราทำเพื่อหารายได้เสริม หลังได้รับผลกระทบจากโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ทำให้ผู้โดยสารลดลง เนื่องจากเปลี่ยนไปใช้บริการโลว์คอสต์แอร์ไลน์กันมากขึ้น เพราะใช้เวลาเดินทางเร็วกว่ารถโดยสารสาธารณะ

ตอนนี้เราก็ต้องทำการตลาดให้มากขึ้น หาลูกค้าใหม่เพิ่มและจัดโปรโมชั่น ที่ผ่านมาการขนส่งพัสดุภัณฑ์ทำรายได้ให้ บขส.ปีละกว่า 100 ล้านบาท แต่ปีนี้คงจะลดลงเหลือประมาณ 80 ล้านบาท เพราะติดโควิด เดินรถไม่ได้ เราต้องขนสินค้าพัสดุภัณฑ์ไปกับใต้ท้องรถและที่นั่งที่ว่างของรถที่วิ่งให้บริการ ในอนาคตเรามีแผนจะร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ อยู่ระหว่างพิจารณาจะร่วมกันในรูปแบบไหน

•ความคืบหน้าการย้ายสถานีขนส่งสายใต้ใหม่และสถานีขนส่งหมอชิต2?

สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ตอนนี้ให้อยู่ที่ถนนบรมราชชนนีไปก่อน ถ้าจะนำกลับมาที่เดิมคือสถานีขนส่งปิ่นเกล้าหรือขนส่งสายใต้เก่า ไม่น่าจะมีประโยชน์ กรณีเรื่องของรถตู้ที่ย้ายไปอยู่แล้วบ่นว่าไกล หากได้ผู้พัฒนาสถานีขนส่งสายใต้เก่า เราจะเจรจาให้ทำจุดจอดสำหรับให้รถตู้พักและขับวนออกไปได้

ส่วนสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯหรือหมอชิต 2 ซึ่งเป็นที่เช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย ภายใน 5 ปีนี้ (2564-2570) บขส.ยังคงอยู่ที่เดิม ยังไม่ย้ายออกไป ทางกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้อยู่ไปก่อน เพราะถ้าย้าย เงินทุนเราไม่มีไปสร้างสถานีแห่งใหม่ อยู่ระหว่างเจรจากับการรถไฟฯ เรื่องค่าเช่าเก่าที่ยังค้างและค่าเช่าใหม่ที่จะอยู่ต่ออีก 5 ปี เราขอในอัตราที่ไม่แพงมาก เพราะเป็นหน่วยงานแบบรัฐต่อรัฐด้วยกัน

ภายในปี 2565 บขส.ต้องคืนพื้นที่ให้การรถไฟฯ ประมาณ 14 ไร่ จากเดิม 70 กว่าไร่ จะเหลือ 50 กว่าไร่ ขณะเดียวกันต้องเจรจาหาข้อสรุปการใช้พื้นที่บริเวณสถานีหมอชิตเก่า (บีทีเอสหมอชิต) กับกรมธนารักษ์และบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) ผู้เช่าที่ดินกรมธนารักษ์พัฒนาโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ ตามแผนจะให้พื้นที่ บขส.ประมาณ 112,000 ตารางเมตร รองรับการย้ายการเดินรถบางส่วนกลับไปที่เดิม เนื่องจากยังมีหลายเรื่องที่ไม่มีความชัดเจนและทางโครงการยังไม่เริ่มการก่อสร้างแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image