นายกฯฝาก ครม.ยกชุด ดูแลผู้ป่วยรายจังหวัด สธ.ลั่นพร้อมส่งกลับภูมิลำเนาใน 4 วัน

นายกฯฝาก ครม.ยกชุด ดูแลผู้ป่วยรายจังหวัด สธ.ลั่นพร้อมส่งกลับภูมิลำเนาใน 4 วัน

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงข่าวประเด็นการนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับส่งภูมิลำเนา

นพ.ธงชัยกล่าวว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมตรีและ รมว.สาธารณสุข เข้ามากำกับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้วต้องการกลับไปรักษาตัวต่างจังหวัดในภูมิลำเนา ด้วยความห่วงใยเรื่องการเดินทาง ทาง สธ.จึงวางแผนส่งผู้ป่วยกลับไปด้วยความปลอดภัย ป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างเดินทาง เพราะหลายคนไม่มีรถส่วนตัว การเดินทางลำบาก เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ จึงสร้างระบบขึ้นระหว่าง สธ. สพฉ. สปสช. กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และอื่นๆ

นพ.ธงชัยกล่าวว่า กทม.มีปะชากรราว 8 ล้านคน เป็นผู้ที่มาจากภูมิภาค 2.4 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเราคาดการณ์ว่ากลุ่มนี้อาจมีผู้ติดเชื้อโควิด และต้องการเดินทางกลับ โดย ศบค.เสนอข้อมูลหลังจากวันที่ 19 ก.ค. ที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ พบว่ามีผู้เดินทางออกจากพื้นที่กว่า 5 แสนคน เป็นการเดินทางออกไปเอง เราก็คาดว่ากลุ่มนี้อาจมีผู้ติดเชื้อไปด้วย รัฐบาลถึงอยากให้เกิดการเดินทางปลอดภัย และมีสถานที่ดูแลที่ปลายทางรักษาได้ทันที

“การส่งต่อผู้ป่วย หากมีความประสงค์เดินทางให้โทรสายด่วน สปสช. 1330 ต่อ 15 นอกจากนั้นสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น เพื่อกรอกประวัติ และความประสงค์ในการเดินทาง หลังจากนั้นข้อมูลจะถูกส่งให้ สธ. เพื่อประสานกับจังหวัดปลายทาง ว่า มีผู้ป่วยอาการอย่างไร และตองการเดินทางไปวันที่เท่าไหร่ ขอให้ท่านเตรียมสถานที่รองรับ และประสานกับ สพฉ. เพื่อเตรียมรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน เพื่อนำผู้ป่วยไปส่งภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย” นพ.ธงชัยกล่าว

Advertisement

นพ.ธงชัยกล่าวว่า โดยหลังจากประสานงานแล้วคาดว่าไม่เกิน 3 วัน ผู้ป่วยก็สามารถเดินทางไปถึงปลายทางได้ หรือถึงเป้าหมายในวันที่ 4 จึงอยากเรียนว่าต้องมีเวลาเตรียมตัว ซึ่งในระหว่างรอการส่งต่อ ผู้ป่วยเองก็ต้องระวังตนเอง ป้องกันการแพร่ระบาด แต่หากมีอาการมากขึ้น ก็สามารถติดต่อไปที่โทร 1330 หรือ 1668 ได้

นพ.ธงชัยกล่าวอีกว่า การระบาดระลอกใหม่ พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดจาก กทม.และปริมณฑล เดินทางกลับไปภูมิลำเนาแล้ว 31,175 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาการสีเขียว สามารถเดินทางได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ติดต่อมาจะต้องได้รับการประเมินแล้วว่า สามารถเดินทางไกลได้ แต่หากไม่สามารถ หรือเป็นกลุ่มอาการสีแดง ทางระบบก็จะติดต่อ เพื่อนำเข้าสู่โรงพยาบาล (รพ.) ใน กทม.อย่างเหมาะสม

“เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงมีรัฐมนตรีหลายท่านพร้อมลงมาเป็นเจ้าภาพดูแลคนในจังหวัดนั้นๆ เช่น รมว.สาธารณสุข รมว.คมนาคม รมช.คมนาคม ก็จะดูแลกลุ่มพื้นที่อีสานใต้ เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร ท่านทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ดูแล จ.บึงกาฬ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ดูแล จ.เพชรบุรี และราชบุรี, นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ก็สมัครใจดูแลที่ จ.ระยอง, นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ ดูแล จ.สระบุรี, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ดูแลจ.สุโขทัย, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ดูแล จ.อุทัยธานี ยังมีอีกหลายท่านที่ทยอยส่งมา เป็นนโยบายของท่านายกฯ ที่อยากให้ทีม ครม. เข้ามาดูแลประชาชน พากลับโดยสวัสดิภาพ” นพ.ธงชัยกล่าว

Advertisement

ด้าน ทพ.อรรถพรกล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.และปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจริงๆ ส่วนใหญ่อาการสีเขียว เรามีความจำเป็นต้องเก็บเตียงไว้ให้ผู้ป่วยที่มีอาการป่วย คือ กลุ่มสีเหลืองหรือแดง ดังนั้น กลุ่มสีเขียว ก็จะมีนวัตกรรมต่างๆ เช่น ศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) การแยกกักที่บ้าน (home Isolation) รวมถึงการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งสามารถติดต่อที่โทร 1330 ต่อ 15 หรือที่เว็บไซต์ เพื่อกรอกข้อมูลสำคัญ โดยระบบจะตัดข้อมูลเวลา 08.00 น. แต่ข้อมูลทุกวันไม่มีการค้าง เพื่อส่งมายัง สธ. และจะดำเนินการประสานปลายทางให้ผู้ป่วยเอง ภายใต้ระบบส่งต่อที่ปลอดภัย (Tranfer of care)

ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าวว่า สำหรับคนที่มีความประสงค์จะกลับต่างจังหวัด เมื่อมีการประสานข้อมูลกับ รพ.หรือจังหวัดปลายทางแล้วนั้น ทาง สพฉ.จะตรวจสอบความพร้อมของพี่น้องประชาชนว่า อาการเป็นอย่างไร หากอาการรุนแรงจะไม่แนะนำกลับต่างจังหวัด แต่จะรับจากบ้าน หรือที่พักใน กทม. เพื่อส่งต่อรพ.ใน กทม.ต่อไป แต่หากอาการเหมาะสมเดินทางได้ ก็จะนำส่ง โดยจะมีรถต่างๆ นำส่ง ทั้งรถตู้ รถไฟ หรือเครื่องบินในบางกรณีจัดเฉพาะให้ผู้ป่วยเดินทางกลับ โดยทางเครื่องบิน และรถไฟจะเหมาะกับทางไกล โดยเฉพาะเครื่องบินต้องมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง และจะมีความซับซ้อนในการตรวจสอบด้วย แต่ไม่ว่าทั้งทางบก ทางอากาศ ทาง สพฉ.จะประสานพาหนะ ความปลอดภัยระหว่างเดินทาง จะมีทีมแพทย์ ทีมบุคลากรทางการแพทย์ติดตามไปด้วย ขอย้ำว่า การนำส่งตรงนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

เมื่อถามถึงกรณีไม่สามารถติดต่อสายด่วน 1330 และยังคิดค่าบริการอยู่หรือไม่ ทพ.อรรพรกล่าวว่า มีพี่น้องประชาชนสอบถามมามากที่รอสาย ซึ่งขณะนี้มี 1,600 คู่สาย แต่ขณะนี้กำลังเพิ่มอีก 500 คู่สาย ส่วนที่ยังต้องเสียค่าโทรสายด่วน 1330 นั้น ขณะนี้กำลังประสานไปยัง กสทช. เพื่อขอให้งดค่าบริการ โทรสายด่วน 1330 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image