ข่าวลือ อุตตม สะท้อนเศรษฐกิจ อึมครึม-หวั่นไหว

ด้านหนึ่ง คสช.และรัฐบาล “ดูเหมือน” จะประสบชัยชนะอย่างงดงามในสนามการเมือง

ไม่เช่นนั้นผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาคงไม่ “ขาดลอย” เช่นนี้

ไม่เช่นนั้นประดา “คุณห้อยคุณโหน” คงไม่กระโดดโลดเต้นขึ้นไปแสดงบทเด่นเวทีเช่นนี้

แต่ในสนามเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง ที่ประชาชนทั่วไปสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

Advertisement

สถานการณ์ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ

 

หากเศรษฐกิจเดินหน้า “ฉลุย” อย่างที่ผู้นำรัฐบาลและบรรดาโฆษกทั้งหลายตีฆ้องร้องป่าว

Advertisement

ลำพังการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) ของนายอุตตม สาวนายน

อันเป็นไปตามมารยาท เพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงชื่อกระทรวงเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ย่อมไม่ส่งผลสะเทือนใดๆ ต่อตลาดและคนทั่วไป

มีแต่ในภาวะที่ “ความไม่แน่นอน” ยังแผ่ปกคลุมอย่างอึมครึม มีแต่ในภาวะ “ความไม่เชื่อมั่น” ยังเป็นบรรยากาศรอบตัวอยู่ดอก

“ข่าวลือ” จึงแพร่สะพัดกระจาย

คำถามพื้นฐานง่ายๆ เช่นเมื่อรัฐมนตรีลาออกโดยมารยาทแล้วจะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกหรือไม่

ไม่ต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แบ่งรับแบ่งสู้

ข่าวลือในโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นไลน์ หรือเฟซบุ๊ก ก็กระจายกระหึ่ม

ตอกย้ำความไม่แน่นอนความไม่แน่ใจนี้ไปแล้ว

 

อย่าโทษวิทยาการสมัยใหม่ว่าทำให้ข่าวลือ-ข่าวไม่จริงแพร่กระจายเลย

หากไม่มีไฟ ที่ไหนจะมีควัน

ในเมื่อนายอุตตมเป็นรัฐมนตรีที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม และเข้ามาดำรงตำแหน่งพร้อมกับการเข้าเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

แต่นายสมคิดกลับมิได้รับมอบหมายงานให้ดูแลกระทรวงไอซีที

ในขณะที่รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ประกาศยุทธศาสตร์และแนวทาง “ไทยแลนด์ 4.0” อันมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกระทรวงไอซีทีอย่างแนบแน่น

แต่รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานของกระทรวงไอซีทีกลับเป็น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

จะมิให้เกิดคำถาม จะมิให้เกิดความสงสัยได้อย่างไร

เช่นเดียวกันกับในกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ มิได้กำกับดูแลงานของกระทรวงเกษตรฯ มิได้กำกับดูแลงานของกระทรวงคมนาคม มิได้กำกับดูแลงานของกระทรวงพลังงาน

จะมิให้เกิดคำถาม จะมิให้เกิดความสงสัยได้อย่างไร

 

หากเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจ “โชติช่วงชัชวาล”

หากปากท้องของประชาชนอิ่มหนำสำราญเป็นปกติ

ต่อให้สิบความขัดแย้ง ร้อยความไม่ลงรอยของรัฐมนตรี

ก็ไม่มีผลอะไรต่อสังคม

หรือถึงจะมีก็อาจจะไม่เป็นที่น่าสนใจ

ฉะนั้น ในทางกลับกัน หากความอึมครึมความขัดแย้งถูกสังคมเพ่งพินิจอย่างเอาใจใส่

ย่อมสะท้อนบรรยากาศ ย่อมสะท้อนความเป็นจริงในทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

ตัวเลขการส่งออกใน 7 เดือนแรกของปีที่ยังอยู่ในพื้นที่ “ติดลบ” ก็ดี

การชะลอตัวของการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็ดี

ราคาที่ตกลงมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงของข้าว อันเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญก็ดี

ไม่ใช่สิ่งอันน่าพึงใจอย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะสำหรับรัฐบาลหรือประชาชน

 

ต่อให้ไม่มีความขัดแย้งความอึมครึมปรากฏอยู่

ความตกต่ำของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยก็เป็นเรื่องยากจะรับมืออยู่แล้ว

เมื่อปัญหาอันเป็นปัจจัยภายนอก

ยังมาประกอบเข้ากับความไม่เป็นเอกภาพอันเป็นปัญหาภายใน

จะไปโกรธไปโทษผู้คอยเฝ้าพินิจหรือโลกโซเชียลในฐานะผู้กระจายข่าวได้อย่างไร

ไม่ต้องการให้มีควัน ก็ต้องเริ่มด้วยการดับไฟ

ไม่ต้องการให้ทุกปัญหาทะลักทลายเข้ามาถึงผู้รับผิดชอบสูงสุด ก็ต้องมีกลไกหรือบุคคลรับผิดชอบกลั่นกรอง

การรวมศูนย์อาจจะมีประสิทธิผลยิ่งสำหรับการทำสงคราม

แต่ไม่แน่ว่าจะได้ผลสำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image