พรุ่งนี้! ส่งวัคซีนไฟเซอร์ทั่วไทย ขอ รพ.-จว.แสดงรายชื่อบุคลากรที่ได้ฉีดโปร่งใส

พรุ่งนี้! ส่งวัคซีนไฟเซอร์ทั่วไทย ขอ รพ.-จว.แสดงรายชื่อบุคลากรที่ได้ฉีดโปร่งใส

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วัคซีนเป็นความสำคัญอันดับต้นในการป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งกลุ่มที่ได้รับการฉีดจำนวนมากยังอยู่ในกรุงเทพมาหนคร และปริมณฑล เป็นหลัก ในช่วงตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นมา ขณะนี้มีหลายพื้นที่กำลังเร่งฉีดวัคซีนที่กระจายไป โดยสรุปภาพรวมประเทศ ผู้สูงอายุฉีดแล้ว ร้อยละ 23 ยังน้อยกว่ากลุ่มอื่นเกือบ 1 ใน 4 ดังนั้น ยังต้องเร่งฉีดกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ทั้งนี้เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นมาก ด้วยการจัดลำดับความสำคัญใหม่ คือ ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงวัคซีนง่าย สะดวก ทำให้ครอบคลุมผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ร้อยละ 83.41 เดือนสิงหาคมนี้ ยังฉีดต่อเนื่องจากปริมาณวัคซีนลดลงอยู่ที่ประมาณ 1-2 ล้านโดส และเร่งกระจายฉีดพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงติดเชื้อจากการแพร่ระบาดที่เริ่มกระจายไปในต่างจังหวัด โดยรวมเดือนนี้ จะกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัดประมาณ 10 ล้านโดสขึ้นไป ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด เป้าหมายในเดือนสิงหาคม ที่จะได้รับวัคซีนมากขึ้น โดยสัดส่วน จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร เปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ อยู่ในช่วงที่ร้อยละ 20-40 ถัดมาคือ จ. ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.สมุทรปราการ เป็นจังหวัดที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น “ดังนั้น วัคซีนที่ส่งแต่ละสัปดาห์ ตกสัปดาห์ละประมาณ 1-2 ล้านโดส ทั้งซิโนแวค และแอสตร้าฯ ซึ่งตอนนี้ทุกกลุ่มอายุ สามารถฉีดซิโนแวคนำ และตามด้วยแอสตร้าฯ ใน 3 สัปดาห์ต่อมา อีกส่วนหนึ่งเป็นจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง คือ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ. ยะลา และ จ.สงขลา ซึ่งเปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนยังต่ำอยู่ เพราะช่วงที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่น้อย แต่เมื่อมีสถานการณ์แพร่ระบาดมากขึ้น วัคซีนที่จัดสรรก็จะมากขึ้นตาม และเร่งรัดการฉีดให้กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น คงใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ที่มาถึงประเทศไทย 1,503,450 โดส วัคซีนส่งมาในภาวะแช่แข็ง –70 องศาเซลเซียส เวลาส่งต้องลงในถาดขนส่งวัคซีน ปกติจะส่งลงล็อกประมาณ 1,170 โดสต่อถาด สุดท้ายจึงมาที่ 1,503,450 โดส เป็นตัวเลขที่ถูกต้อง สอดคล้องกับตัวเลขที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์จากสถานทูตสหรัฐอเมริกา “หากท่านใดได้ตัวเลขที่ต่างจากนี้ ก็เป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง ส่วนรายละเอียดการจัดสรรนั้น สธ.มีการแถลงข่าวไปแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทั้งนี้ ปัจจุบันจากฐานข้อมูลพบบุคลากรการแพทย์ประมาณ ร้อยละ 20 ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ กระตุ้นไปแล้ว เพราะทำงานเสี่ยง ส่วนที่เหลือก็รับตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดคือผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เด็ก 12 ปี ขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งจะมีกุมารแพทย์พิจารณาความเหมาะสม นักเรียน ผู้เดินทางไปต่างประเทศ และคนต่างชาติในไทย ซึ่งเน้นคนสูงอายุ คนมีโรคประจำตัว ส่วน 5,000 โดส เอาไว้ศึกษาการฉีดวัคซีน เช่น การฉีดวัคซีนสลับชนิด จะดูว่ามีภูมิคุ้มกันสูงระดับใด เหมือนหรือแตกต่างจากการฉีดในต่างประเทศ หรือมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ลดการตดเชื้อ ลดจำนวนเชื้อในทางเดินหายใจ หรือลดการป่วยหนักและเสียชีวิตระดับใด ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการวิจัยในคนแล้ว และอีกส่วนหนึ่งประมาณ 3,000 กว่าโดส กันไว้สำหรับพื้นที่ระบาดใหม่ ที่ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ เช่น พื้นที่พบการติดเชื้อสายพันธุ์เบต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันของคนที่ฉีดซิโนแวค และแอสตร้าฯ “ นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement

นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมา จากฐานข้อมูลบุคลากรการแพทย์ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 แล้วประมาณ ร้อยละ 20 และมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ฉีดเป็นกลุ่มจบใหม่ และคนที่มีภาวะเจ็บป่วย อย่างไรก็ตาม การกระจายวัคซีนไฟเซอร์ในบุคลากรกรการแพทย์ จะทยอยส่งในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ ทุกจังหวัด แต่อาจจะไม่พร้อมกัน เพราะการส่งนั้น ต้องส่งเป็นถาด ถาดละ 1,170 โดส ในอุณหภูมิติดลบ และเก็บในตู้เย็นที่ รพ.จังหวัด หรือ รพ.อำเภอ ใหญ่ๆ แล้วหน่วยงานสาธารณสุข และ รพ.จะรวบรวมรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่แสดงความประสงค์ไว้ ขณะนี้ ได้ตัวเลขมาส่วนใหญ่แล้ว 1 ขวด ฉีดได้ 6 คน เมื่อเปิดใช้แล้วต้องฉีดให้ครบจำนวน จึงต้องมีการวางแผน และกำหนดสถานที่ฉีดเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดการสูญเสีย สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ กรมควบคุมโรค ได้ประสาน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อส่งวัคซีนไฟเซอร์ไปให้ รพ.ทั้งรัฐและเอกชน ที่กำหนดเพื่อฉีดให้บุคลากรด่านหน้าให้ทั่วถึงที่สุด

“ทั้งนี้ ขอให้ รพ.ทุกแห่งแสดง หรือประกาศจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับไฟเซอร์ต่อสาธารณชน เพื่อความโปร่งใส และเพื่อให้ทราบว่าได้รับไปเท่าไร ขาดอีกเท่าไร สร้างความมั่นใจให้บุคลากรด่านหน้าทุกคนที่ต้องการฉีดวัคซีนจะได้ฉีดครบ สร้างความปลอดภัยและสร้างขวัญกำลังใจต่อไป” นพ.โสภณ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image