เรื่องจริงสุดหดหู่ ‘คดีข่มขืน’ ‘จำเลย’ เป็น ‘ผู้มีสถานะสูงในสังคม’ ถึงเวลา “วาระแห่งชาติ”

ภาพประกอบ คดีข่มขืน

เรื่องจริงสุดหดหู่ ‘คดีข่มขืน’ ‘จำเลย’ เป็น ‘ผู้มีสถานะสูงในสังคม’ ถึงเวลา “วาระแห่งชาติ”

ระยะหลังหลายภาคส่วนพยายามรณรงค์ ปรับความคิดให้ผู้เสียหายในคดีข่มขืน “ไม่โทษตัวเอง” เพราะ “คนผิดที่แท้จริง” คือ “ผู้กระทำ” ฉะนั้นต้องออกมาแจ้งความดำเนินคดี เพื่อนำไปสู่การลงโทษ

แม้จะทำให้ผู้เสียหายหลายคน เริ่มกล้าเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำได้ แต่หลายเคสก็พบปัญหา ถูกขัดขวางไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคดีที่มี ‘ผู้มีสถานะสูงในสังคม’ เป็น “จำเลย”

เป็นเรื่องจริงจากประสบการณ์ทำงานช่วยเหลือ ผู้เสียหายในคดีความรุนแรงทางเพศของ สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งปัจจุบันรับให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ ผู้เสียหายคดีข่มขืนที่มีผู้มีอำนาจเป็นจำเลยไม่ต่ำกว่า 5 คดี

 

Advertisement

สารพัดอุปสรรคไม่เป็นธรรม

สุเพ็ญศรีเล่าว่า ผู้เสียหายหลายคนที่เราช่วย พบว่าจำเลยเป็นผู้มีสถานะสูงในสังคม ทั้งผู้มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในหน่วยงาน ข้าราชการในกระบวนการยุติธรรม นักการเมือง พระ กระทำต่อผู้อยู่ใต้อำนาจ อย่างเคสหนึ่ง ผู้กระทำเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในหน่วยงานประจำพื้นที่ ตอนกระทำถ่ายคลิปเก็บไว้พร้อมขู่ว่า ระหว่างเธอกับเขา หากพูดไป ก็ไม่มีใครเชื่อเธอหรอก อีกหลายเคสก็ขู่และอ้างว่ารู้จักตำรวจ บางคนก็อ้างว่าพ่อเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ให้พ่อมาขู่

หลายๆ เคสในคดีข่มขืนเมื่อเจอแรงกดดันจากผู้มีอำนาจ ใช้อิทธิพลข่มขู่ให้ยอมความ ทำให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่ตัดสินใจยอมเจรจาไกล่เกลี่ย และรับค่าเสียหาย แม้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 จะปิดช่องให้การข่มขืนเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติหน้างานยังยอมความกันได้ ตราบใดที่ยังไม่มีเลขคดี

Advertisement

  “คดีข่มขืนกระทำชำเราที่มีผู้มีอำนาจเป็นจำเลย ผู้เสียหายจะได้รับอุปสรรคตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปแจ้งความ ตั้งแต่ทัศนคติและคำพูดของพนักงานสอบสวน เช่น “คุณก็อายุมากแล้ว ยอมความได้ไหม ผมจะคุยไกล่เกลี่ยให้” บ้างก็บอกว่า “หากสู้คดีไปก็ใช้เวลานาน”, “คุณมีพยานไหม”

อีกหลายคนก็สอบสวนผู้เสียหายแบบติดเรตอาร์ เรตเอ็กซ์เสมือนข่มขืนซ้ำ หรือใช้วิธีที่ทำให้ผู้หญิงยอมความจนได้ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องไปดูว่าเพราะอะไรตำรวจบางส่วนถึงไม่ลงเลขคดี ทำให้เกิดการยอมความได้”

ทั้งนี้ ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่มักไม่แจ้งผู้เสียหายว่ามีสิทธิอะไรบ้าง เช่น สามารถเรียกร้องขอให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนหญิงได้ เพราะมีความเข้าใจความละเอียดอ่อนทางเพศมากกว่า หรือสามารถร้องขอบุคคลอื่น เช่น ทนาย ไปนั่งด้วยได้ ก่อนส่งไปตรวจร่างกาย ซึ่งแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเครือข่ายโอเอสซีซี เช่น โรงพยาบาลตำรวจ ฯลฯ ซึ่งพอไม่แจ้งตรงนี้ทำให้ผู้เสียหายเสียสิทธิ เสียโอกาส

  “มีเคสหนึ่งในต่างจังหวัดยิ่งกว่านั้น ผู้เสียหายได้บอกชื่อนามสกุลจริงผู้กระทำไป เป็นชื่อนามสกุลของผู้มีอำนาจในท้องถิ่นนั้น ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนใช้วิธีสลับสระและวรรณยุกต์ ทำให้ชื่อไม่ตรงกับชื่อจริง เวลาค้นหาในประวัติอาชญากรและอินเตอร์เน็ตจะไม่เจอ ทำให้ไม่สามารถออกหมายได้ จนเคสต้องไปสืบจนรู้ชื่อจริง ก่อนแจ้งพนักงานสอบสวนและสามารถออกหมายเรียกมาสอบสวนได้ แต่สุดท้ายก็เป็นกระบวนการที่ช้ามาก”

  “ส่วนอีกเคสพนักงานสอบสวนอยากดำเนินคดีให้ แต่นายสั่งมา เนื่องจากผู้กระทำมีพ่อเป็นข้าราชการตำแหน่งสูง พ่อผู้กระทำก็ประสานมาทางผู้ใหญ่ของพนักงานสอบสวนอีกที กลายเป็นระบบช่วยเหลือเกื้อกูลผู้กระทำผิด”

สุเพ็ญศรีมองว่า จริงๆ พนักงานสอบสวนสามารถไม่ทำตามนายสั่งได้ หากแนะนำให้ผู้เสียหายเข้าถึงสิทธิทางกฎหมาย เช่น การตรวจร่างกายในโรงพยาบาลเครือข่ายโอเอสซีซี การเข้าปรึกษาทนายความอาสา สภาทนายความฯ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร.1300 เพราะหากผู้เสียหายรู้สิทธิ ยืนยันจะดำเนินคดี โดยมีทนายความมาช่วยเป็นให้คำปรึกษาแล้ว ไม่ว่าจะกี่นายที่ขอมาก็ช่วยไม่ได้

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

 

จนท.มอง”คดีเล็ก” เหมือน “ขับรถชนหมาตาย”

นางสาวเอ (นามสมมุติ) ภายหลังยืนยันแจ้งความเอาผิดผู้กระทำผิดในคดีข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งจำเลยมีชื่อเป็นถึงข้าราชการระดับสูงประจำจังหวัดในกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นว่าทำให้เธอได้พบเจอราวน่าหดหู่สารพัด

นางสาวเอ เล่าว่า ตอนแรกรู้สึกอายมาก ไม่กล้าเข้าไปแจ้งความ แต่ด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง จึงรวบรวมความกล้าเข้าไป พอไปถึงก็เจออุปสรรคตั้งแต่ด่านแรกคือ พนักงานสอบสวนที่ไม่แจ้งสิทธิผู้เสียหาย ทำให้เสียสิทธิและโอกาสในการตรวจร่างกาย เพื่อพิสูจน์หลักฐานไว้ดำเนินคดี

  “ตอนที่ยืนยันจะแจ้งความดำเนินคดี มีคำพูดที่สะเทือนใจจากตำรวจระดับหัวหน้าสอบสวนท่านหนึ่ง บอกดิฉันว่า น้องอายุก็มากแล้ว ยอมๆ ความไปเถอะ รับค่าเสียหายไป แต่อย่าไปเรียกมาก เพราะคดีนี้เล็กๆ เหมือนขับรถชนหมาตาย ก่อนตำรวจท่านนี้จะอาสาอีกว่า หากมีข้อสงสัยทางกฎหมายอะไรให้ปรึกาษาเขาคนเดียว ไม่ต้องปรึกษาทนายก็ได้ เขาพร้อมจะช่วยเสมือนพ่อคนนึง”

ตอนนั้นนางสาวเอเริ่มเอะใจเรื่องนี้แปลกๆ จึงเริ่มปรึกษาทนายให้ช่วยดำเนินคดี ควบคู่ไปกับการแจ้งหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมต้นสังกัด ให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงผู้กระทำรายนี้ คราวนี้ทำให้เธอเผชิญกับอำนาจและแรงกดดันเต็มๆ

  “ตอนนั้นเจอคำขู่สารพัดจากครอบครัวผู้กระทำ ซึ่งจริงๆ ก็รู้จักกับดิฉันมาก่อน อีกทั้งการส่งคนมาเฝ้าติดตามและถ่ายรูปการใช้ชีวิตประจำวัน พร้อมคำข่มขู่ให้ดิฉันยอมความ ยิ่งไปกว่านั้นทนายความที่ดิฉันว่าจ้างให้สู้คดี ก็ถูกล็อบบี้จากเพื่อนข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมของผู้กระทำ จนต้องเลิกทำคดีนี้”

 

กระบวนการช้า 2 ปียังไม่เข้าสู่ศาล

สาววัย 30 กว่า ถูกสกัดทุกช่องทางเพื่อไม่ให้เรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ท่ามกลางความมืดมนนั้น วันหนึ่งเธอได้เจอกับมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งเข้ามาให้คำปรึกษาและจัดทนายช่วยเหลือด้านคดีความ

ทว่า…คดีก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ทั้งคดีอาญาที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสอบพยานเพิ่มเติม จากการเรียกขอของฝ่ายจำเลย ส่วนการสอบวินัย ก็รอผลสอบเพิ่มเติมจากคดีอาญาก่อน ถึงจะเริ่มสอบข้อเท็จจริงได้

นางสาวเอยอมรับว่า “กระบวนการช้ามาก เพราะจากวันเกิดเหตุจนถึงวันนี้ก็เกือบ 2 ปีแล้ว แต่เรื่องก็ยังไม่เข้าสู่ชั้นศาล”

  “ที่มาเรียกร้องตรงนี้ ดิฉันไม่ได้อยากได้เงิน เพียงแต่อยากให้ผู้กระทำได้รับการลงโทษ คนอย่างนี้ไม่ควรได้รับการเชิดหน้าชูตา ในฐานะข้าราชการระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม เพราะเขาเป็นคนไม่ดี” กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ 

 

แก้ข่มขืน “วาระแห่งชาติ”

ล่าสุด ภาครัฐนำโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตรียมนำเสนอประเด็นภัยข่มขืนเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ”

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวง พม. กล่าวว่า สค.ได้จัดทำร่างวาระแห่งชาติ เบื้องต้นจะแบ่งกลยุทธ์และแนวทางขับเคลื่อนไว้ 3 ด้านที่ต้องปรับ ดังนี้ 1.ปรับความรู้และทัศนคติของสังคม  เช่น การเพิ่มความรู้ความเข้าใจสังคม เพิ่มการเคารพสิทธิของตัวเองและผู้อื่น 2.ปรับมาตรการทางวินัยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น เพิ่มมาตรการทางวินัย เจ้าหน้าที่ของรัฐ ครู และบุคลากรทางการศึกษา และ3.ปรับระบบงานสร้างความเป็นธรรม เช่น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ปรับปรุงกฎหมาย และลดโอกาสกระทำผิดซ้ำ

ทั้งนี้ ขณะนี้ สค.ได้ส่งแบบสอบถามไปยังเครือข่ายภาครัฐ สตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 1 หมื่นกว่าชุด เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอร่างวาระแห่งชาตินี้ จากนั้นจะกำหนดบทบาทหน้าที่และขอบเขตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม.ไม่เกินเดือนสิงหาคม เพื่อพิจารณาประกาศเป็นวาระแห่งชาติ

“การป้องกันและแก้ปัญหาข่มขืน หากประกาศเป็นวาระแห่งชาติ จะทำให้เกิดการบูรณาการและมีแนวทางทำงานชัดเจนขึ้น อย่างแนวทางป้องกันจะชัดเจนเลยว่ามีอะไรบ้าง ใครทำ เช่น สร้างความรู้ความเข้าใจ อาจเป็นหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย ส่วนเกิดเหตุแล้วจะช่วยเหลือเยียวยาคุ้มครองอย่างไร เป็นหน้าที่ของ พม. และการดำเนินคดีทางกฎหมาย อาจเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

  “ซึ่งทั้งหมดจะดำเนินภายใต้คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ซึ่งมีตัวแทนของทุกหน่วยงานอยู่แล้ว ทำหน้าที่คอยผลักดันและติดตามการดำเนินงาน เชื่อว่าเมื่อนั้นภัยข่มขืนจะเริ่มคลี่คลายได้” นางจินตนากล่าวทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image