เงินออมของมหาเศรษฐี vs วงจรความเหลื่อมล้ำที่ไม่มีวันจบ?

เงินออมของมหาเศรษฐี vs วงจรความเหลื่อมล้ำที่ไม่มีวันจบ?

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เขียนบทความเรื่อง เงินออมของมหาเศรษฐี vs วงจรความเหลื่อมล้ำที่ไม่มีวันจบ? โดยมีรายละเอียดดังนี้

ในช่วงวิกฤตโควิดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงผลกระทบด้านความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจที่ความมั่งคั่งจะยิ่งไปกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มน้อยเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่อยู่ด้านบนสุดของพีระมิด วันนี้ผมมีอีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการออมของผู้มีความมั่งคั่งที่ส่งผลให้ชนชั้นกลางตกอยู่ในกับดักหนี้ ซึ่งมีนัยยะต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาลองให้พิจารณากันดูว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน

เป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่มีเงินมีความมั่งคั่งมากกว่าคนอื่นนอกเหนือจากการจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุนในรูปแบบต่างๆ แล้วก็มีการออมเงินผ่านกลไกของระบบธนาคารไม่ว่าจะเป็นการออมโดยตรงของตัวเองหรือผ่านการถือหุ้นของบรรดาบริษัทต่างๆ ที่ผลตอบแทนบางส่วนก็ถูกนำเข้าระบบธนาคาร ซึ่งในยุคที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น คนรวยก็รวยเอาๆ นั่นหมายความว่าก็เอาเงินฝากเข้าธนาคารได้มากขึ้นๆ เรื่อยๆ

Advertisement

เงินออมที่ใส่เข้าไปในระบบบางส่วนถูกนำไปปล่อยกู้เพื่อกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่น สร้างถนน สร้างตึก หรือถูกนำไปใช้กับงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อันนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยตรง ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ๆ มีเม็ดเงินที่ส่งต่อให้กับแรงงาน กลายมาเป็นการจับจ่ายใช้สอยในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเป็น multiplying effect ต่อๆ ไป

แต่มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ มีนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มตั้งข้อสังเกตไว้ ลองคิดดูว่าถ้าหากปริมาณเงินออมของผู้มีความมั่งคั่งมีอยู่ในระบบมากมายมหาศาล มากเสียจนการกู้เพื่อไปลงทุนทางเศรษฐกิจโครงสร้างต่างๆ ยังไงก็ดูดซับเงินที่มีไม่หมด เหลือเงินในระบบอีกเยอะ แปลว่าจะมีเงินออมเหลืออีกจำนวนมากที่พร้อมจะถูกนำมาปล่อยกู้ให้กับกลุ่มชนชั้นกลางเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลไม่ว่าจะซื้อบ้าน ซื้อรถ สินเชื่อบัตรเครดิต ฯลฯ จูงใจโดยดอกเบี้ยที่ต่ำ การคัดกรองเครดิตที่ง่ายขึ้น และกระบวนการทำการตลาดของสถาบันการเงินเพื่อเรียกแขกให้คนใช้บริการสินเชื่อดังกล่าวเพราะมีเงินในระบบมากเสียเหลือเกิน

นักเศรษฐศาสตร์พวกนี้ชี้ให้เห็นประเด็นว่า ยิ่งเงินออมของคนรวยถูกส่งเข้าในระบบเยอะก็จะทำให้ชนชั้นกลางมีโอกาสที่จะสร้างหนี้ส่วนบุคคลเยอะขึ้น และเมื่อเป็นหนี้เยอะก็จะมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายทุกเดือนเยอะ ส่งผลให้เงินจับจ่ายที่จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจเหลือน้อยลง การจ้างแรงงานก็ไม่ขยายตัวอย่างที่ควร รวมถึงสัดส่วนเงินออมของคนทั่วไปก็จะเหลือน้อยลงเช่นกัน กลายเป็นวงจรที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งยิ่งถ่างห่างออกไปเรื่อยๆ

Advertisement

ประเทศไทยควรต้องกังวลกับแนวคิดนี้ไหม ถ้าดูจากตัวเลขบางอย่างก็พอบอกได้ควรครับถ้าดูตัวเลขด้านเงินฝาก บอกว่าตัวเลขในระบบธนาคารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เงินฝากทั้งระบบของไทยปรับสูงขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤตโควิดถึง 1.78 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เงินที่เพิ่มนี้มาจากบัญชีขนาดใหญ่ที่มีเงินในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาท (ซึ่งบัญชีที่มีเงินมากกว่า 1 ล้านนี้เป็นสัดส่วนแค่ 1.64% ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งระบบ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว) ซึ่งก็ตีความได้ว่าเงินออมของผุ้มีความมั่งคั่งยอดพีระมิดของไทยถูกส่งเข้าในระบบมากกว่าคนอื่น

ที่น่ากังวลมากๆ ก็คือประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งอันดับต้นๆ อยู่แล้ว จากตัวเลขที่ทาง Credit Suisse ประเมินว่าคนรวยที่สุด 10% ของไทยถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ รวมทั้งนิตยสาร Forbes ระบุว่า 50 มหาเศรษฐีของไทย กลับรวยขึ้นกว่าปีก่อนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดตลอดปีที่ผ่านมาในขณะที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 90% ของ GDP สูงเป็นประวัติการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะยิ่งรุนแรงขึ้นหลังวิกฤตนี้แค่ไหน

กลไกไหนที่จะมาช่วยอุดรูโหว่ตรงนี้ได้ก็ต้องพิจารณากันให้ดีคงไม่มียาไหนที่ใช้ได้ผลชะงัด จะปรับอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อลดปริมาณเงินฝากจากกลุ่มผู้มีความั่งคั่งก็ต้องดูว่าจะยิ่งทำให้คนอยากกู้เพิ่มขึ้นหรือไม่ (แต่ในขณะเดียวกันก็ลดภาระเงินกู้ปัจจุบันลงได้) หรือใช้ควบคู่ไปกับยาแรงอย่างเรื่องการเก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีมรดก ก็เข้าทีและที่ผมแนะนำเสมอคือรัฐบาลต้องมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเตรียมเอาไว้เพื่อผลักดันเศรษฐกิจภาพรวม เงินในระบบจะได้ถูกดึงมาใช้ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยแนวโน้มที่ช่องว่างระหว่างความมั่งคั่งจะยิ่งถ่างออกไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image