แท็งก์ความคิด : บทเรียนสู่ยุคต่อไป

แท็งก์ความคิด : บทเรียนสู่ยุคต่อไป

แท็งก์ความคิด : บทเรียนสู่ยุคต่อไป

ตามตำราฮวงจุ้ยแบ่งยุคของโลกออกเป็น 9 ยุค

ยุคนี้เป็นยุคที่ 8 ธาตุดิน ประเทศที่รุ่งเรือง มีอาทิ จีน เกาหลี ฮ่องกง เป็นต้น

แต่ละยุคสมัยมีกำหนดเวลาไว้

Advertisement

คร่าวๆ ว่ายุค 8 จะอยู่อีก 2-3 ปี แล้วจะเข้าสู่ยุค 9 ธาตุไฟ ประเทศที่รุ่งเรืองคือ ประเทศในซีกโลกใต้

เวลาใกล้เปลี่ยนแต่ละยุค โลกจะเกิดการแปรปรวน

เหมือนเช่นปัจจุบันที่เกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ รวมทั้งโรคระบาดเกิดขึ้น

Advertisement

ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย หากแต่เกิดขึ้นทั่วโลก

ว่ากันว่า เมื่อกาลเวลาขยับเข้าสู่ยุคสมัยแล้ว ทุกอย่างจะขับเคลื่อนไปตามยุคนั้นๆ

แต่ยุคหน้าที่กำลังเคลื่อนเข้าไปนั้นก็ร้ายไม่ใช่ย่อย

นี่เป็นความเชื่อตามหลักฮวงจุ้ย

เป็นความเชื่อที่สะท้อนภาพความเคลื่อนไหวของกาลเวลา

สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เป็นความเปลี่ยนแปลงที่อย่างไรเสียก็ต้องเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ในฐานะมนุษย์ที่เป็นแค่ส่วนเสี้ยวของธรรมชาติ หากต้องการจะดำรงอยู่ได้ก็ต้องปรับตัว

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น หากตระเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ ย่อมง่ายกว่าเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันที

เรื่องที่อยากนำเสนอวันนี้ เป็นเรื่องของการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

วิเคราะห์การดำรงชีวิตของคนบนโลกใบนี้หลังเกิดวิกฤตโควิด-19

บทวิเคราะห์ดังกล่าวอยู่ในหนังสือชื่อ “Ten Lessons For a Post-Pandemic World”

ชื่อไทยว่า “บทเรียนเพื่อโลกหลังการระบาด”

เขียนโดย Fareed Zakaria แปลโดย “วิภัชภาค” มีสำนักพิมพ์มติชน เป็นผู้จัดพิมพ์

หนังสือเล่มนี้มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วสรุปเป็นบทเรียน

ไม่ใช่บทเรียนทางการแพทย์ แต่เป็นบทเรียนที่จะนำไปใช้ประกอบการปรับตัวในการดำรงชีวิต

บทนำของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนตอกย้ำแนวคิดในการนำเสนอ

“นี่ไม่ใช่หนังสือที่ว่าด้วยการระบาดใหญ่ แต่ว่าด้วยโลกที่จะเป็นไปอันเนื่องมาจากผลของการระบาดใหญ่”

และยังบอกว่า โลกหลังการระบาดไม่ใช่อนาคต แต่ขณะนี้เราอยู่ในยุคหลังเกิดการระบาดแล้ว

หมายความว่า สิ่งต่างๆ กำลังเกิดขึ้นนับตั้งแต่บัดนี้

มุมมองและแนวคิดจึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน เพราะทุกคนจะได้รับทราบข้อมูลและมุมมองเพื่อนำไปปรับใช้กับตัวเองในยุคหลังโควิด-19

เนื้อหาภายในเล่มได้เรียงลำดับบทเรียนทั้ง 10 บทเรียนเอาไว้

เริ่มจาก “คาดเข็มขัด” “สิ่งสำคัญคือคุณภาพของรัฐบาลไม่ใช่ขนาด” “แค่ตลาดไม่เพียงพอ”

“ประชาชนควรฟังผู้เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญก็ควรฟังประชาชน” “ชีวิตดิจิทัล”

“ถูกของอริสโตเติล เราเป็นสัตว์สังคม” “ความไม่เท่าเทียมจะยิ่งแย่ลง” “โลกาภิวัตน์ยังไม่ตาย”

“โลกกำลังกลายเป็นสองขั้ว” “บางครั้งนักนิยมความจริงผู้ยิ่งใหญ่ก็เป็นนักอุดมคติ”

เนื้อหาแต่ละบทเรียนได้แสดงถึงเหตุการณ์และเสนอไอเดีย

หลายบทเรียนอ่านหัวข้อแล้วพอเข้าใจ เช่น เรื่องของคุณภาพรัฐบาล เรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญและประชาชนต้องฟังกัน

เรื่องของชีวิตในยุคดิจิทัล เรื่องของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เรื่องของโลกสองขั้ว

ขณะที่อีกหลายบทเรียนต้องอ่านค้นหาความหมายในการนำเสนอ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “คาดเข็มขัด” เรื่อง “นักนิยมความจริงเป็นนักอุดมคติ” เป็นต้น

แต่ทุกเรื่องต้องอ่านรายละเอียดเพื่อนำเอาข้อเสนอมาตรึกตรอง

ทำไมผู้เขียนจึงวิเคราะห์ว่าโลกยุคหลังการระบาดจึงเป็นเช่นนั้น

เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเหล่านั้น

สิ่งที่ปรากฏอยู่ในเล่ม ทำให้มองมุมชีวิตหลังโรคระบาดแผลงฤทธิ์ได้กว้างขวางขึ้น

จากที่เคยมองแต่เรื่องดิจิทัล ซึ่งเป็นมิติด้านการใช้เทคโนโลยี

กลายเป็นมุมมองที่มีมติอื่นๆ เข้ามาเสริม

ยกตัวอย่าง “มุมมองด้านการเมืองการบริหาร” ที่ตอกย้ำถึงคุณภาพของรัฐบาล

บทเรียนนี้แม้จะเป็นความต้องการของประชาชนทุกชาติมานานแล้ว

แต่หลังเหตุการณ์การระบาด รัฐบาลคุณภาพจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้น

นักการเมืองคุณภาพก็จะเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากขึ้น

นอกจากนี้ยังมี “มุมมองทางด้านสังคม” โดยเฉพาะมุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำ

ความไม่เท่าเทียม หรือความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาของทุกประเทศเช่นกัน

และเชื่อว่าหลังการระบาดความไม่เท่าเทียมจะมากขึ้น

รวมไปถึงการมองแนวโน้มของโลกที่จะแบ่งออกเป็นสองขั้ว

ทุกบทเรียนที่นำเสนอล้วนน่าคิด

อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วชวนให้นึกถึงประเทศ องค์กร ชุมชน และตัวเอง

ในโลกยุคที่ต้องปรับตัวหลังโรคโควิด-19 ระบาด เราได้สรุปบทเรียนอะไรกันบ้าง

บทเรียนที่สรุปแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตได้

บทเรียนเหล่านี้จะทำให้ทุกชีวิตสามารถก้าวไปข้างหน้าบนสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

การสรุปบทเรียนย่อมดีกว่าไม่สรุปบทเรียน

ยิ่งเป็นบทเรียนที่มีคนสรุปมาให้แล้ว น่าลองอ่าน

เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อเราในการปรับตัวให้เข้ากับโลกในยุคต่อไป

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image