ดีอีเอส-เครือข่ายแพทย์อาสาฯ ลุยค้นโควิดในชุมชน ผุดโมเดลรายงานผล ATK อย่างเป็นระบบ

ดีอีเอส-เครือข่ายแพทย์อาสาฯ ลุยค้นโควิดในชุมชน ผุดโมเดลรายงานผล ATK อย่างเป็นระบบ

วันนี้ (15 สิงหาคม 2564) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับ น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ และ นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) ผู้ก่อตั้ง “We Care Network – เครือข่ายเราดูแลกัน” ซึ่งทำโครงการ Covid-19 Home Care ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ที่ต้องรักษาตัวที่บ้าน หรือโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation: HI) ลงพื้นที่ชุมชนวังแดง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เพื่อตรวจเชิงรุกคนในชุมชนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการตรวจเชิงรุก และคัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายจัดซื้อชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ เอทีเค (ATK) เพื่อตรวจเชื้อโควิด-19 เชิงรุกให้กับประชาชน แต่หากให้ประชาชนนำไปตรวจเองโดยขาดความรู้ จะทำให้เกิดความผิดพลาดของผลที่ออกมาได้สูง จึงได้หารือกับทีมแพทย์อาสา วี แคร์ เน็ตเวิร์ก (We Care Network) ออกตรวจตามจุดต่างๆ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในชุมชน นอกจากนี้ การลงพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการลงทะเบียนเพื่อเก็บข้อมูลผู้ที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อ โดยมีบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT นำไปพัฒนาเป็นฐานข้อมูล รูปแบบเแอพพลิเคชั่น หรือ ซอฟต์แวร์ เพื่อใช้ในตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและบริหารจัดการการตรวจได้ง่ายขึ้นด้วย

“การตรวจในชุนชนที่มีกลุ่มเสี่ยงและมีผู้ติดเชื้อ จะเรียกมาทีละครอบครัว เพื่อลดความแออัด เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อ จะทำการคัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน ส่งเข้าสู่ระบบคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) เพื่อรอเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป ซึ่งมองว่า สิ่งที่ทำในวันนี้ จะเป็นโมเดลต้นแบบต่อไป” นายชัยวุฒิ กล่าว

Advertisement

 

ด้าน นพ.ฆนัท กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก สิ่งสำคัญคือ ต้องแยกผู้ป่วยออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งการตรวจเชิงรุก หรือการตรวจหาเชื้อด้วยตนเองของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เครือข่ายสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และเครือข่ายวี แคร์ เน็ตเวิร์ก ได้เข้ามาให้บริการตรวจเชื้อโควิด-19 ประชาชน ซึ่งทำไปหลายจุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท หน่วยงาน และชุมชนต่างๆ ข้อมูลของผู้เข้ารับการตรวจ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำมาวิเคราะห์ ประเมินผล เพื่อวางแผนในเชิงระบาดวิทยาต่อไป

Advertisement

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาเป็นรูปแบบของการลงทะเบียน จะช่วยให้เห็นแนวทางการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะทำให้เราวางแผนดำเนินการเชิงรุกต่อไปได้ในจุดอื่นๆ การจัดการระบบการตรวจเชิงรุกในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ต่างฝ่ายต่างทำ ยังไม่มีระบบที่เชื่อมโยงและติดตามผล ซึ่งเรื่องนี้จะได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาให้เป็นระบบที่ใช้ในระดับประเทศต่อไป” นพ.ฆนัท กล่าว

นพ.ฆนัท กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สั่งซื้อชุดตรวจเอทีเค จำนวน 8.5 ล้านชุด เพื่อเร่งการตรวจเชิงรุกให้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการวางแนวทางมาตรการในการใช้ชุดตรวจเอทีเคให้เกิดประโยชน์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“อาจจะต้องมีการติดตามว่า ซีเรียลนัมเบอร์ชุดตรวจที่ให้ไปนั้น ประชาชนที่ได้รับมีการนำไปใช้ตรวจจริงหรือไม่ เพราะปัญหาอีกประการหนึ่งของการตรวจด้วยตนเองพบว่า ประชาชนได้ชุดตรวจเอทีเคไปแล้ว แต่เก็บไว้ ไม่ยอมตรวจ หรือขาดความรู้ในการใช้งานชุดตรวจ ซึ่งจะทำให้ระบบการรายงานผลผิดพลาด ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการ หรือวิธีการที่จะช่วยประชาชนในการให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม” นพ.ฆนัท กล่าว

ด้าน น.ส.กานต์กนิษฐ์ กล่าวว่า ความสำคัญของการตรวจเชิงรุกคือ การแยกผู้ป่วยออกมา ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อเนื่องในอีกหลายชุมชน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ต้องขอขอบคุณทีมแพทย์จิตอาสาฯ ที่เข้ามาช่วยเหลือการตรวจในชุมชนต่างๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image