รัฐสภาฯเดินหน้าถกแก้รธน.ฉบับแก้ไข ‘ส.ว.’ ขู่ เรื่องนี้มีคนร้อง จบที่ศาลรธน.แน่นอน

รัฐสภาฯเดินหน้าถกแก้รธน.ฉบับแก้ไข ‘ส.ว.’ ขู่ เรื่องนี้มีคนร้อง จบที่ศาลรธน.แน่นอน

เมื่อเวลา 09.48 น. วันที่ 25 สิงหาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ เป็นประธานการประชุม โดยพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อจากที่ค้างไว้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม โดยเป็นวาระที่ประชุมต้องลงมติอนุญาตการแก้ไขเพิ่มเติมของกมธ.ฯซึ่งมีการทบทวนเนื้อหาที่ยื่นไว้แล้ว

โดยก่อนลงมติ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ….( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) รัฐสภา ชี้แจงรายงานของกมธ.ฯ ที่มีการแก้ไขใหม่ ว่ามีการปรับปรุงและแก้ไขโดยจะมีการเพิ่มเติมเพียงมาตรา 86 ที่ตามบทบัญญัติเดิม เขียนจำนวนส.ส.ไว้ 350 เขต ในมาตรา 86 เขียนไว้ใน 3 จุด ทางกมธ.ฯเห็นว่า มีคำขอแปรญัตติมาให้จัด 350 เขต เป็น 400 เขต กมธ.ฯ จึงแก้ไขมาตรานี้ ส่วนมาตราอื่นที่ปรากฎตามเอกสารเดิม และเพิ่มบทเฉพาะกาล ไม่นำบทตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับการเลือกตั้งซ่อม เว้นแต่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

ทั้งนี้นายชวน ได้ถามที่ประชุมว่า สมาชิกจะขัดข้องหรือไม่ หากประธานกมธ.ฯ จะขออนุญาตนำรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเข้าพิจารณา

Advertisement

ทำให้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายว่า สิ่งที่เราควรจะต้องตระหนักเพราะร่างรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่บังคับใช้กับประชาชนทุกคน เป็นแม่บทของกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น การจะดำเนินการยกร่างเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม จึงมีบทเฉพาะ แยกต่างหากจากการพิจารณากฎหมายอื่นๆ และการที่กมธ.ฯมีมติอย่างฉุกละหุก เพื่อขอแก้ไขร่างซึ่งตัดไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง เพื่อเสนอให้สมาชิกรัฐสภา ได้พิจารณา ตนไม่แน่ใจว่ากระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกต้องหรือไม่ อาจจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีคนยื่นศาลแน่นอน จาก 2 มาตราเพื่อนำมาบังคับใช้กับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เปลี่ยนแปลงจำนวนและวิธีการได้มาซึ่งส.ส. ท่านก็จะโดนกับดักของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก ดังนั้นการแก้ไขของกมธ.ฯ ควรพิจารณาในที่ประชุม ไม่ใช่ใช้มติกมธ.ฯแก้ไขเปลี่ยนแปลงแล้วให้ที่ประชุมรัฐสภาอนุญาต ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

ด้าน นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับการบังคับใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 37 เนื่องจากข้อ 37 ต้องเป็นกรณีการถอนญัตติหรือระเบียบการประชุมวาระนี้ออกไปก่อน อีกทั้งในรายงานพบว่ากรณีของผู้แปรญัตติยังมีข้อความที่ผิดอยู่ ฉะนั้น ถ้าจะอ้างการดำเนินการในวันนี้ต่อไป เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้ข้อบังคับการประชุม ข้อ 37 ซึ่งไม่ใช่การยอมรับหรือเดินหน้า แต่เป็นการถอนญัตติแล้วนำกลับไปแก้ไขให้สมบูรณ์ เพื่อป้องกันการมีปัญหาระยะยาวสำหรับสมาชิกทุกคน

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ชี้แจงว่า ตนพร้อมด้วยส.ส.ซึ่งทำหน้าที่อยู่ในกมธ.ฯ นั้นไม่ได้เข้าประชุมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ซึ่งเป็นการเรียกประชุมด่วน เนื่องจากเห็นว่าการประชุมไม่ได้ดำเนินการด้วยชอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ดังนั้น ขอให้บันทึกว่าถูกหรือผิดหรือไม่ แต่พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ร่วมด้วย

Advertisement

จากนั้นนายชวน ชี้แจงยืนยันว่า เมื่อกมธ.ฯแก้ไขเปลี่ยนแปลง ดังนั้นต้องขออนุญาตการแก้ไขจากที่ประชุมรัฐสภา ข้อ 37 จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก 357 เสียงเห็นด้วยให้กมธ.ฯ แก้ไข ไม่เห็นด้วย 42 เสียง งดออกเสียง 86 เสียง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image