อธิบดีกรมอเมริกาเล่าเบื้องหลัง ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ต้านโควิด

อธิบดีกรมอเมริกาเล่าเบื้องหลัง
ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ต้านโควิด

หมายเหตุ “มติชน”มีโอกาสพูดคุยกับ นายวิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ถึงภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน และความร่วมมือด้านวัคซีนที่อยู่ในความสนใจของสังคมไทยอย่างมาก

วิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

๐ ไทย-สหรัฐ มีความร่วมมือในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรบ้าง

ไทยและสหรัฐ มีความร่วมมือเรื่องโควิด-19 ทั้งในช่วงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2564 จุดเน้นความร่วมมือและบทบาทของ กต.ที่เข้ามาสนับสนุนรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาโควิดที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในช่วงปี 2563 ที่แม้ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดี กต.ก็มีบทบาทในการช่วยนำคนไทยกลับประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อมาเสริมการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในไทย

ตั้งแต่ต้นปี 2563 สหรัฐ ถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้การสนับสนุนไทยเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุดพีพีอี ให้เงินปรับปรุงห้องแล็บและเสริมขีดความสามารถเฝ้าระวังโรค ให้เงินกับองค์การระหว่างประเทศในไทย เช่น   ยูนิเซฟ เพื่อป้องกันปัญหาโควิด-19 ในชุมชนคนชายขอบ ความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ ให้ไทยในปี 2563 จนถึงปัจจุบันซึ่งยังไม่นับรวมเรื่องวัคซีนคิดเป็นมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

ในปี 2563 สหรัฐเองก็เผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ค่อนข้างแย่ในบ้านเขา และวัคซีนที่เขากำลังพัฒนาก็ยังไม่บรรลุผล แต่เขาก็ยังคิดเป็นห่วงไทย และได้ให้การสนับสนุนไทยในการแก้ปัญหาเท่าที่เขาสามารถทำได้ ซึ่งความปรารถนาดีนี้มีที่มาจากความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่แนบแน่นยาวนาน ไทย-สหรัฐ มีความร่วมมือจำนวนมากที่ให้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายซึ่งเป็นเครื่องผูกโยงความสัมพันธ์อันดีไว้ หนึ่งในความร่วมมือที่สำคัญมากได้แก่ด้านสาธารณสุข อาจมีคนไม่มากที่ทราบว่าสำนักงานความร่วมมือกับต่างประเทศของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) ที่ใหญ่ที่สุดนอกสหรัฐฯ ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย โดยมีความร่วมมือแนบแน่นกับกระทรวงสาธารณสุขของเรามากว่า 40 ปี

ในช่วงปลายปี 2563 ความร่วมมือไทย-สหรัฐ เพื่อควบคุมโควิด-19 ค่อยๆ ปรับจุดเน้นมาเป็นเรื่องวัคซีนมากขึ้นเนื่องจากวัคซีนตัวต่างๆ ของสหรัฐ ทยอยประสบความสำเร็จในการยืนยันผลทดลอง ไทยเองก็ประสบกับการแพร่ระบาดอย่างมากที่สมุทรสาครในปลายเดือนธันวาคม 2563 ตามด้วยคลัสเตอร์ทองหล่อในเดือนเมษายนปีนี้ กต. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามาสนับสนุนรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศรวมทั้งสหรัฐ เข้ามาแก้ไขปัญหาให้ชาวไทย ผู้บริหาร กต.ทุกระดับตั้งแต่ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านผู้ช่วย รมต. ท่านที่ปรึกษาฯ ท่านปลัด กต. พยายามคิดหาช่องทางส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีนและการจัดหาวัคซีนเข้าประเทศ โดยได้ย้ำความจำเป็นและเร่งด่วนในเรื่องนี้กับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐ ในโอกาสต่างๆ ทั้งระหว่างการเยือนไทยของนางเวนดี้ อาร์. เชอร์แมน รมช. กต. สหรัฐ ผู้อำนวยการอาวุโสของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐ ประจำสหประชาชาติ หรือในการโทรศัพท์หารือของท่านดอนกับบุคคลสำคัญของสหรัฐ เช่น นายเคิร์ธ แคมป์เบล ผู้ประสานงานกิจการอินโด-แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญในสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ และกับวุฒิสมาชิก แทมมี ดักเวิร์ธ เป็นต้น

๐ บทบาทของ กต.ในเรื่องวัคซีนจากสหรัฐเป็นอย่างไร

Advertisement

ในส่วนการจัดหาวัคซีน กต. มีบทบาทดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การประสานงานเรื่องการซื้อให้หน่วยงานไทย การเสนอขอยืมวัคซีนมาใช้ก่อนแล้วค่อยส่งคืน (swap/loan) การรับบริจาควัคซีน การมองหาความเป็นไปได้ที่จะจัดหาวัคซีนจากช่องทางอื่นๆ เช่น วัคซีนที่คงเหลือในรัฐต่างๆ ของสหรัฐ นอกจากนี้ กต.ยังช่วยติดต่อกับภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนกับหน่วยงานไทยที่สนใจ เพราะสหรัฐเป็นประเทศที่มีจุดแข็งในด้านนี้เป็นลำดับต้นๆ ของโลก และวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแก้ไขปัญหาแพร่ระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย

ในความพยายามจัดหาวัคซีนมาให้ไทย กต. ทั้งที่ส่วนกลางและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้เฝ้าติดตามพัฒนาการด้านวัคซีนในสหรัฐอย่างใกล้ชิด เมื่อสหรัฐตั้งรัฐบาลใหม่ในช่วงต้นปีนี้ เขาเน้นแก้ไขปัญหาและกระจายวัคซีนให้ภายในประเทศเขาเป็นสำคัญ แต่ต่อมาไม่นาน เมื่อมีสัญญาณว่าเขากำลังเริ่มบทบาทของการเป็นผู้บริจาควัคซีน กต. ก็รีบสื่อสารกับเขาเพื่อหาวัคซีนมาช่วยประเทศไทย โดยช่วงแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ทำเนียบขาวประกาศว่ามีแอสตร้าเซนเนก้า 60 ล้านโดส รอพิสูจน์คุณภาพเพื่อจะบริจาคให้กับต่างประเทศ เราก็รีบเข้าหาและให้เหตุผลกับทางสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และ กต. สหรัฐว่า การได้มาซึ่งวัคซีนนี้ของเราไม่เพียงจะช่วยให้ไทยสามารถแก้ปัญหาภายในได้รวดเร็ว แต่ยังทำให้เรากลับมาอยู่ในฐานะที่จะไปช่วยประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคต่อได้ ที่สำคัญก็คือ เราไม่ได้ยึดติดเพียงวัคซีนบริจาค แต่ได้เสนอสหรัฐฯ ว่าเรายินดีแลกเปลี่ยนโดยขอยืมมาก่อนแล้วใช้คืนให้ เพราะเราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนเช่นกัน แต่สุดท้ายวัคซีนจำนวนนั้นใช้เวลาพิสูจน์เรื่องการปนเปื้อนอยู่นานมาก จึงไม่ได้ส่งมาที่ไทย โดยเราได้วัคซีนไฟเซอร์ที่จะอธิบายต่อไปมาก่อนแล้ว

ช่วงต่อมาคือหลังการเยือนไทยของ รมช. กต.สหรัฐ เมื่อสหรัฐประกาศบริจาควัคซีน 80 ล้านโดสให้กับต่างประเทศในต้นเดือนมิถุนายน โดยจะจัดวัคซีนที่ผลิตในสหรัฐฯ ให้ก่อน 25 ล้านโดส ซึ่งในจำนวนนี้จะให้กับประเทศในเอเชีย 7 ล้านโดส ทางกรมอเมริกาฯ ได้รีบติดต่อขอข้อมูลเร่งด่วนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อยืนยันกับสหรัฐว่าไทยมีความพร้อมในการรับมอบ ขนส่ง และบริหารจัดการวัคซีนซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้รับวัคซีน เพราะทางฝ่ายสหรัฐฯ เองก็บอกเราว่าเขาให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นต่อการสนับสนุนไทยให้ได้รับวัคซีน

ข้อมูลที่ประกอบการพิจารณาของสหรัฐฯ มีความเป็นเทคนิคและมีรายละเอียดมาก เช่น เราอยากได้วัคซีนเท่าไร มีขีดความสามารถในการจัดเก็บรักษาและกระจายวัคซีนของเขาหรือไม่ มีขีดความสามารถในการฉีดวัคซีนวันละเท่าไหร่ มีช่องทางขนส่งอื่นนอกจากส่งผ่านโคแวกซ์หรือไม่ ซึ่ง สธ.ให้ความร่วมมือและให้รายละเอียดที่ดีมาก ทำให้เราตอบฝ่ายสหรัฐได้เร็วตั้งแต่ครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน หลังจากนั้น ผู้แทนกรมอเมริกาฯ ผู้แทนสถานทูตที่วอชิงตัน และผู้แทน สธ. ก็ได้เข้าร่วมหารือทางไกลกับฝ่ายสหรัฐฯ หลายครั้งเพื่อเตรียมการที่จำเป็นในด้านต่างๆ เช่น การจัดทำเอกสารลงนามรับมอบทั้งกับภาครัฐและบริษัทของสหรัฐฯ การขนส่ง การรับรองวัคซีนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทย โดยเมื่อ 16 มิถุนายน สหรัฐฯ ได้แจ้งว่าจะบริจาควัคซีนให้ไทย 1.5 ล้านโดส แต่โดยที่สองฝ่ายยังอยู่ในกระบวนการทำสัญญาวัคซีน จึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดมากกว่านั้นต่อสาธารณะได้ ในที่สุด กระบวนการทั้งหมดก็บรรลุลงด้วยดีโดยวัคซีนไฟเซอร์จำนวนดังกล่าวได้มาถึงไทยในวันที่ 30 กรกฎาคม

ต่อจากนั้น กต. ก็ยังติดตามอย่างต่อเนื่องถึงโอกาสที่จะได้รับวัคซีนเพิ่มจากสหรัฐฯ ซึ่งวุฒิสมาชิกดักเวิร์ธได้ให้ข้อมูลกับสถานทูตของเราที่กรุงวอชิงตันว่า สหรัฐจะบริจาควัคซีนให้กับไทยเพิ่มอีก 1 ล้านโดส และต่อมาสถานทูตสหรัฐก็ยืนยันข้อมูลดังกล่าว วัคซีนจำนวนนี้ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อให้มีการส่งมอบได้ในโอกาสแรก

เวนดี้ เชอร์แมน รมช.กต.สหรัฐ เยี่ยมคาราวะและหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนรม.และรมว.กต. ระหว่างเยือนไทย

๐ บางคนมองว่าสถานการณ์ในไทยย่ำแย่มาก ถึงต้องไปขอรับบริจาควัคซีนมาช่วย

อย่างที่บอกไปแล้วว่าสหรัฐฯ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาของโควิด-19 ของไทยมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว โดยเขาเป็นฝ่ายริเริ่มเสนอความร่วมมือและความช่วยเหลือต่างๆ ให้ไทยเนื่องจากเห็นความสำคัญของไทยในฐานะพันธมิตร ในเรื่องวัคซีนโควิดก็เช่นกัน สหรัฐเป็นฝ่ายประกาศให้ความช่วยเหลือกับนานาประเทศรวมทั้งไทย และการดำเนินความร่วมมือด้านวัคซีนของไทยกับสหรัฐ ก็ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการรับบริจาควัคซีน แต่ยังรวมถึงเรื่องการสั่งซื้อ และข้อเสนอของไทยที่จะยืมวัคซีนมาก่อนแล้วส่งคืนใช้ให้ภายหลัง

ประเด็นความช่วยเหลือเรื่องวัคซีน ต้องพิจารณาในบริบทใหญ่ของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐ ชุดก่อนและชุดปัจจุบันต่างให้ความสำคัญกับไทยเช่นกัน ในช่วงต้นปี 2564 เมื่อรัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดน เข้ารับหน้าที่ในเดือนมกราคม และได้ทยอยแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐบาลของเขาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม มีบุคคลสำคัญของสหรัฐหลายรายได้โทรศัพท์มาแนะนำตัวและหารือกับผู้นำและผู้บริหารไทยเป็นรายแรกๆ ของภูมิภาค ท่านดอนได้รับโทรศัพท์ของทั้งนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.กต.สหรัฐ และนายแคมป์เบล ผู้ประสานงานกิจการอินโด-แปซิฟิก นายลอยด์ ออสติน รมว.กห.สหรัฐ ก็ได้โทรศัพท์ถึงท่าน นรม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่ท่านดำรงตำแหน่ง รมว.กห. ของไทย ขณะที่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้โทรศัพท์สนทนากับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยด้วย ในโอกาสเหล่านี้ ได้มีการหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือไทย-สหรัฐ ในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านสาธารณสุขและการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย

ดังที่กล่าวไปบ้างแล้วว่า ความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทย-สหรัฐ ถือเป็นอีกเสาหลักของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยได้ให้ประโยชน์ไม่เฉพาะกับฝ่ายไทย แต่เป็นประโยชน์แก่สหรัฐด้วย ความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับสหรัฐทั้งในส่วนของ สธ. กับซีดีซี และในส่วนของทหารบกสองฝ่ายภายใต้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) ที่มีมายาวนานกว่า 50 ปี ได้ก่อให้เกิดการพัฒนายาและวัคซีนรักษาโรคเขตร้อนมากมาย นอกเหนือจากที่ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการเฝ้าระวังโรคในไทยและในอนุภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยยังมีความร่วมมือใกล้ชิดกับสหรัฐในด้านความมั่นคงและด้านอื่นๆ อีกมาก เห็นได้จากสถานทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานทูตของเขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนอกเขตสงคราม สะท้อนความสำคัญและคุณค่าความร่วมมือที่สหรัฐให้กับไทย

๐ การบริจาควัคซีนมีเงื่อนไขหรือไม่ และยังมีข่าวว่าสหรัฐไม่พอใจเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนที่บริจาคให้ไทย

วัคซีน 1.5 ล้านโดสที่ให้มา ทางการสหรัฐได้ระบุและย้ำอย่างชัดเจนว่าเป็นการให้โดยไม่มีเงื่อนไข รัฐบาลสหรัฐ ไม่ได้ระบุด้วยซ้ำว่าไทยต้องฉีดวัคซีนนี้ให้กับคนกลุ่มใด โดยขึ้นกับดุลพินิจของไทยเอง ขณะเดียวกัน สธ. ของเราก็มีแผนบริหารจัดการวัคซีนอยู่แล้ว โดยได้ปรับแนวปฏิบัติไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ อุปทูตสหรัฐเองก็แถลงว่าเขาให้โดยไม่มีเงื่อนไข และไม่เคยวิจารณ์ หรือหยิบยกเรื่องการบริหารจัดการของไทยต่อวัคซีนนี้ขึ้นมาเป็นประเด็น สำหรับแผนการของไทยที่จัดวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าก็เป็นแนวทางบริหารจัดการวัคซีนที่สอดคล้องกับที่ทั่วโลกทำกัน

เราเข้าใจว่าภาคส่วนต่างๆ ของไทยมีความปรารถนาดี มีความห่วงกังวล และอยากช่วยเหลือประเทศไทย โดยอาจมีการสื่อสารเรื่องวัคซีนในมิติต่างๆ กับสหรัฐ ในหลายช่องทาง แต่ประเด็นนี้เป็นคนละประเด็นกับการเจรจาหารือให้ได้มาซึ่งวัคซีนจากสหรัฐ โดยการได้มาซึ่งวัคซีนนี้เป็นการหารือระหว่างรัฐต่อรัฐ เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดจำนวนมากซึ่งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสองฝ่ายได้พูดคุยกันมาตั้งแต่ต้น มันเริ่มตั้งแต่ทำไมเขาถึงควรจะให้วัคซีนกับไทย ควรให้เท่าไร เพราะอะไร มันขึ้นกับการให้เหตุผลของคุณค่าความสัมพันธ์ ความสามารถในการจัดเก็บ กระจาย และบริหารจัดการของเรา มันมีรายละเอียดจำนวนมากที่ใช้ประกอบการตัดสินใจของเขา ซึ่งแม้ว่า กต. อาจเป็นช่องทางพูดคุยหลักเรื่องวัคซีนบริจาค แต่ถ้าขาดความร่วมมือของ สธ. และส่วนราชการอื่นๆ การได้มาซึ่งวัคซีนจากสหรัฐฯ ก็คงมีขึ้นได้ไม่ง่าย

๐ มีคนมองว่าระยะหลังผู้แทนชาติตะวันตกรวมถึงสหรัฐไม่ค่อยเดินทางเยือนไทย

ต้องถามว่าเราควรวัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยการเยือนหรือด้วยอะไร บางครั้งการเยือนระดับสูงจะมีนัยยะเพื่อส่งสารอะไรบางอย่างในทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งไทยก็คงต้องระวังในเรื่องนี้ แต่ในเรื่องยุทธศาสตร์ พูดได้ว่าสหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับไทย โดยหลังจากมีการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาลใหม่เสร็จลงราวเดือนมีนาคมปีนี้ ก็มีผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐมาเยือนไทยอย่างต่อเนื่องแม้จะมีข้อจำกัดของสถานการณ์โควิดก็ตาม เริ่มตั้งแต่การเยือนไทยของ รมช.กต.สหรัฐ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของทริประหว่างประเทศทริปแรกของ รมช.กต.สหรัฐตามด้วยการเยือนของ ผอ.อาวุโสจากสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม และล่าสุดช่วงต้นเดือนสิงหาคมก็มีการเยือนของนางลินดา โทมัส กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำสหประชาชาติที่ถือเป็นตำแหน่งระดับ ครม. สหรัฐ โดยได้มีการประกาศให้ความช่วยเหลือไทยในการรับมือกับโควิดเพิ่มเติมด้วย

จะเห็นได้ว่าเพียงไม่กี่เดือนภายหลังสหรัฐ ตั้งรัฐบาลเสร็จสมบูรณ์ ทางการสหรัฐก็ได้ส่งผู้บริหารระดับสูงถึงสามคนมาเยือนไทยติดต่อกันทุกเดือน ถือเป็นการให้ความสำคัญกับไทยในฐานะพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดและยาวนาน นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของไทยยังมีปฏิสัมพันธ์สม่ำเสมอกับฝ่ายสหรัฐฯ ผ่านทางโทรศัพท์และการหารือกันผ่านทางวิดีโอคอลด้วย จึงขอยืนยันว่าไทยไม่ได้น้อยหน้าประเทศใดในภูมิภาคทั้งในเรื่องจำนวนการเยือนระดับสูงหรือการได้รับความสำคัญจากสหรัฐ

ดอน ปรมัตถ์วินัย รอง.นรม.และ รมว.กต. ให้การต้อนรับและหารือกับนายลินดา โทมัส กรีนฟิลด์ ออท.สหรัฐประจำยูเอ็น ขณะเยือนไทย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image