‘บี๊กซีพี’ มองโควิดไทยอีก 3 เดือนเริ่มฟื้นตัว ชี้ในยามยากที่สุดของประเทศ ‘รัฐ-เอกชน’ ต้องลงทุน บูสต์ศก.

‘บี๊กซีพี’ มองโควิดไทยอีก 3 เดือนเริ่มฟื้นตัว ชี้ในยามยากที่สุดของประเทศ ‘รัฐ-เอกชน’ ต้องลงทุน บูสต์ศก.

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่อาคารมติชน นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด’ จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

คาดอีก 3 เดือนประเทศไทยฟื้นตัวจากโควิด

นายศุภชัยมองว่า สถานการณ์โควิดประเทศไทยยังอยู่ระยะ 2 เมื่อเทียบกับอเมริกา ยุโรป อยู่ในระยะ 3 ซึ่งเป็นระยะฟื้นตัว เพราะประเทศไทยยังติดเรื่องวัคซีนต้องฉีดให้ได้ 70-80% ของประชากรเร็วที่สุด คาดว่าจะพ้นระยะ 2 ใน 2-3 เดือนนี้

“ผลกระทบโควิดสำหรับเครือซีพี กระทบทุกองค์กร แต่อาหารกระทบน้อยที่สุด มีหลายมิติ เช่น ค้าปลีกตามสถานที่ท่องเที่ยว ไม่มีคนเลย สิ่งที่ต้องทำคือปรับตัวเยอะมาก เหมือนกันทุกองค์กร การปรับตัวเป็นเรื่องต้องทำเป็นปกติ ปรับกรอบความคิดให้ได้ว่าหลายๆอย่างจะไม่เหมือนเดิม มองสถานการณ์เป็นวิกฤต โอกาส ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น ถ้าองค์กรคิดลบ รอเวลา ไม่ยอมปรับตัวอันนี้คือความผิดพลาด เราต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ธุรกิจในทุกหน่วย”

การปรับตัวของซีพีเมื่อเจอสถานการณ์ ทำทันทีคือเซฟลูกค้า รักษาพนักงานและครอบครัวพนักงานให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตและมรสุม เช่น มีการกักตัว ไม่ให้พนักงานติดโควิด อย่างกรณีค้าปลีกจะปิดเร็ว บางพื้นที่ไม่มีคนจะปิดเลย โยกย้ายคนไปเพิ่มในส่วนที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์ อีคอมเมิร์ช ส่งถึงบ้าน เพราะบริษัทไม่มีนโยบายลดคน ซึ่งโควิดทำให้ธุรกิจออนไลน์โตก้าวกระโดด ทำให้ธุรกิจในประเทศเช่นค้าปลีก โมเดิร์นเทรด แข่งขันหนักขึ้น แม้แต่โทรคมนาคมก็กระทบ แต่คนใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ต้องปรับตัวทำเรื่องโซลูชั่น ซอฟแวร์ ให้คนทำงานที่บ้าน แก้ปัญหาท่ามกลางวิฤติ

Advertisement

ชี้ “การลงทุน” หัวใจสำคัญฟื้นเศรษฐกิจในยามยาก

นายศุภชัยมองว่า โควิดทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยลดลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับการปรับตัวเร็วแค่ไหน จะทำให้แข็งแรง และมีเสถียรภาพสูงขึ้น ก่อนโควิดประเทศไทยมีจุดแข็งการท่องเที่ยว ส่งออก และสินค้าเกษตร มีพลังขับเคลื่อนธุรกิจไม่กี่ตัว ตอนนี้การท่องเที่ยวหายไป ต้องหาทดแทน เพิ่มศักยภาพใหม่ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายลุยพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พัฒนาแลนด์บริดจ์เป็นเส้นทางโลจิสติกส์ข้ามระหว่างสองคาบมหาสมุทร จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่

“ในยามที่ยากที่สุดของประเทศ การลงทุนใหม่เป็นสิ่งสำคัญฟื้นและปรับระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้มาเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน รวมถึงดึงดูดการลงทุน ถ้าเม็ดเงินเข้ามาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ อุตสาหกรรม4.0 อีอีซี จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว สิ่งที่ตามมาคือบุคลากรด้านต่างๆ ขณะที่ไทยต้องรีฟอร์มคนให้พร้อมเข้าสู่ยุค 4.0 การดึงดูการลงทุนมีหลายมาตรการอย่างเรื่องพร็อพเพอร์ตี้ให้ต่างชาติมาซื้อ”

รัฐผนึกเอกชน พลิกฟื้นความเชื่อมั่น

นายศุภชัยกล่าวอีกว่า การพลิกฟื้นความเชื่อมั่นภาคเอกชนต้องผนึกรัฐ จะทำยังไงให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค ระดมทุน ระดมทรัพยากรมนุษย์จากทั่วโลกลงที่ไทย ด้วยการดึงกันเป็นลูกโซ่ขึ้นไปทั้งรายใหญ่รายเล็ก ถ้าคิดเหมือนเดิม ไม่ทำอะไรเลยให้ภูมิภาค ให้โลก หรือเป็นศูนย์กลางเรื่องใดไม่ได้ จะทำให้ต้องอาศัยอยู่บนเศรษฐกิจที่มีอยู่แต่ไม่สร้างประโยชน์ ทำให้ผู้ประกอบการระดับโลกหรือภูมิภาคเข้ามาแข่งขัน ถ้าเราเป็นฝ่ายตั้งรับจะแข่งขันไม่ได้

Advertisement

 ‘ไทย’ ฮับอินโนเวชั่น

เช่น ถ้าไทยจะเป็นฮับด้านอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ด้านเทคโนโลยี ถ้าทำได้และจับมือไปกับมหาวิทยาลัยหลักๆ จะได้นก 3 ตัว คือ 1.ได้อุตสาหกรรม 4.0 จากต่างประเทศเข้ามา 2.เป็นเซ็นเตอร์ด้านเทคโนโลยีในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3.เป็นศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งเทคโนโลยีเป็นระบบนิเวศน์ที่สำคัญ หากทำให้มันเปลี่ยนแปลงจะก้าวไปเป็นระดับโลก ทำให้เกิดสตาร์ทอัพขึ้นมา

“ซีพีจับมือกับแบงก์ใหญ่ตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล เพื่อลงทุนสตาร์ทอัพทั่วโลก เพราะเห็นความสำคัญเรื่องสตาร์ทอัพที่ต้องมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและเอาเทคโนโลยีมาดิสรัประบบเศรษฐกิจด้วยทั้ง 2.0 และ 3.0 เพื่อมาทดแทน ถ้าเราต้องลงทุนไปด้วย ได้รีเทิร์นด้วย เข้าใจการเปบี่ยนแปลงธุรกิจ จะทำให้เรามีโอกาสมากขึ้น แต่เอกชนจะเดินคนเดียวไม่ได้ต้องผลึกกำลังกับภาครัฐให้ไทยเป็นฮับเรื่องนี้ให้ได้”

แนะ SME ต้องปรับตัว หาตลาดให้เจอ

นายศุภชัยกล่าวว่า สำหรับเอสเอ็มอีก็ต้องปรับตัว มองตลาด อย่างเรื่องเกษตรปีที่แล้วไทยส่งออกผลไม้ไปจีนประมาณแสนล้านบาท ซึ่งไทยยังทำเรื่องผลิตภัณฑ์ผลไม้ต่อยอดไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม มาตรฐาน แบรนด์ เฉพาะตลาดจีนประเทศเดียวทำให้เราปฎิรูประบบเกษตร ถ้าเอสเอ็มอีมองว่าตลาดนี้มันยิ่งใหญ่เศรษฐกิจจีนก็โตขึ้นเรื่อยๆ เพราะระบบเศรษฐกิจจีนมีมูลค่าถึง 15 ล้านล้านเหรียญ ไม่เกิน 5 ปีอาจแซงอเมริกา ถ้าจับตลาดได้ถูกจุดทำอะไรที่เขาทำไม่ได้แล้วเราทำได้ดีกว่า ยกมาตรฐาน สร้างแบรนด์ผลไม้ไทย ปัดฝุ่นเมดอินไทยแลนด์ใหม่ ถ้าปรับตัวให้เข้ากับตลาด ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีปรับตัวได้เร็วกว่าธุรกิจใหญ่ได้หลายเท่า ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เหมือนสตาร์ทอัพ โอกาสยังมีอีกมหาศาล ต้องหาให้เจนว่าตลาดอยู่ไหน จุดแข็งอยู่ที่ไหน จะลงทุนอะไร

“เปิดครัวปันอิ่ม-ปลูกฟ้าทะลายโจร” ช่วยสังคมฝ่าโควิด

ทั้งนี้ซีพีได้ช่วยเหลือสังคมฝ่าวิกฤตโควิด โดยใช้ความสามารถผลิตโรงงานที่มีความสะอาด เลยทำหน้ากากอนามัย  มีความสามารถผลิตอาหารได้ทำโครงการครัวปันอิ่ม แจก 1 ล้านกล่องและร่วมกับร้านอาหารขนาดเล็กอีกกว่า 1,000 ร้าน ให้ทุนผลิตแจกให้ชุมชนที่ขาดแคลน และผู้สูงอายุ รวม 2 ล้านกล่อง

ขณะเดียวกันประเทศไทยมีสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการโควิดขั้นต้นได้ เราได้ปลูกฟ้าทะลายโจร ตั้งใจจะผลิตให้ถึง 30 ล้านแคปซูล ถ้าทำต่อเนื่องจะได้ 100 ล้านแคปซูล สามารถสนับสนุนได้ 1 ล้านแคปซูลในช่วงการป้องกัน ยังมีโรงพยาบาลสนามขนาดหใญ่อีก 3 แห่ง สร้างเสร็จไปแล้ว 2 แห่ง  เหลือแห่งที่3 มี 700 เตียง รวมทั้งหมด 1,200-1,300 เตียง เป็นความร่วมมือจากWHA แวร์เฮ้าส์ร่วมมือกับโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลจุฬารัตน์ โรงพยาบาลเลิดสิน  ยังร่วมกับกระทรวงศึกษาใช้สถานที่ เช่น รามคำแหง เป็นมาตรการต่างๆ ที่เราทำและช่วยส่วนรวมได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image