ถกทางออก ‘ดินแดง’ ชาวแฟลตโวยม็อบ-คฝ. วอนหยุดรุนแรง เลี่ยงชุมชน กก.สิทธิฯย้ำทุกฝ่ายต้องพูดคุย

เปิดอก-ถกทางออก ‘ดินแดง’ ชาวแฟลตโวยม็อบ-คฝ. วอนหยุดรุนแรง เลี่ยงเขตชุมชน กก.สิทธิฯ ย้ำทุกฝ่ายต้องพูดคุย

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่โรงเรียนพิบูลย์ประชาสรรค์ เขตดินแดง กรุงเทพฯ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะไทยพีบีเอส (The Active) จัดเวทีสาธารณะในหัวข้อ “ทะลุทางออกที่ดินแดง” เพื่อร่วมกันหารือและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ จากการชุมนุมที่แยกดินแดง ต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนจากหลายภาคส่วนร่วมวงสนทนาคับคั่ง อาทิ ผู้ชุมนุมบริเวณพื้นที่ดินแดง (กลุ่มทะลุแก๊ซ), ตัวแทนชุมชนแฟลตดินแดง, ตัวแทนกลุ่ม Child in mob, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, กรมกิจการเด็กและเยาวชน และตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงจุดประสงค์ในการร่วมเวทีสาธารณะครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องที่ดีในการพูดคุยและหาทางออกให้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“เราได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด มีความเป็นห่วงกังวลในเรื่องความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในส่วนของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ และประชาชนบริเวณแฟลตดินแดง เราคิดว่าสถานการณ์ยืดเยื้อมาพอสมควรโดยที่ยังไม่มีเวทีหรือพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกัน จึงมีการปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคม และทางไทยพีบีเอส เห็นว่าการพูดคุยกันน่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดี เพื่อเราจะหาทางออกร่วมกันได้ในระดับหนึ่ง ให้ปัญหาได้รับการแก้ไข หรือไม่มีการถูกละเมิดสิทธิไปมากกว่านี้” นายวสันต์กล่าว

Advertisement

ด้าน นางพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า สิ่งที่ควรทำคือ “การรับฟังซึ่งกันและกัน” จึงได้ปรึกษากับทางกรรมการสิทธิมนุษยชน และไทยพีบีเอส ให้มีพื้นที่พูดคุยในลักษณะนี้ให้ผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายได้รับฟัง

“พื้นที่ทำงานก่อนหน้านี้ คือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พอมาเห็นความขัดแย้งที่ ‘ดินแดง’ ก็คิดขึ้นได้ว่า สิ่งที่เราควรทำคือการรับฟังซึ่งกันละกันลักษณะนี้ จริงๆ แล้วเราจัดได้หลายๆ ครั้ง ให้พวกเรามีพื้นที่ในการพูดคุยกัน การสื่อสารกับสาธารณะ ก็เป็นประโยชน์อีกส่วนหนึ่ง เข้าใจว่าทุกภาคฝ่ายมีความห่วงกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หน่วยงานที่นอกเหนือจากตรงนี้อาจจะต้องมีการมารับฟังมากขึ้น เช่นในระบบกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ อัยการ” นางพรเพ็ญกล่าว

ด้าน นายวิโรจน์ (สงวนนามสกุล) ผู้อยู่อาศัยบริเวณตลาดศรีวานิช ตัวแทนชุมชนแฟลตดินแดง กล่าวถึงสถานการณ์ของการชุมนุมในพื้นที่ดินแดงว่า ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนจำนวนผู้ชุมนุมลดน้อยลง และตนไม่อยากให้เกิดความรุนแรงที่สามเหลี่ยมดินแดงอีก

Advertisement

“การเกิดม็อบที่ดินแดงบ่อยๆ เห็นเพื่อนคนดินแดงผ่านเฟซบุ๊กหลายๆ คนเริ่มที่จะเอือมระอา ในการที่มาก่อความไม่สงบตรงนี้ บางคนยังชอบในกลุ่มม็อบที่มาด้วยอุดมการณ์ ผมก็มาด้วยอุดมการณ์ตนเอง แต่พอนานๆ เข้าคำว่าอุดมการณ์เริ่มเปลี่ยน ความรุนแรงเริ่มมา เริ่มเยอะขึ้นจนเริ่มกลัว และคนก็มาน้อยลง

ผมก็เป็นห่วงน้องกลุ่มนี้ หากวันหนึ่งเขาพลาด และเป็นห่วงตำรวจด้วยเหมือนกัน คฝ.บางคนก็รู้จัก คนที่ดินแดงไปม็อบก็รู้จัก สิ่งที่ผมจะพูดในวันนี้คือ อยากให้เลิกใช้ความรุนแรง ประท้วงได้ ผมก็ไม่เอาประยุทธ์ มาประท้วงเหมือนกัน แต่ผมขอให้อย่าใช้ความรุนแรงในพื้นที่ดินแดง ไม่อยากให้ดินแดงถูกเรียกว่าสามเหลี่ยมตาลีบัน ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น” นายวิโรจน์กล่าว

ขณะที่ น.ส.สุปราณี (สงวนนามสกุล) ชาวแฟลตดินแดง พ2 ใกล้กับแยกประชาสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ตนเดือดร้อนที่มีการไปปิดแยก เผายางรถ และเอาอะไรขว้างไปบนสะพานลอย ตนอยู่ปากซอย แก๊สน้ำตาจึงเข้าบ้าน

“หมายังทนไม่ไหว ร้องตะกุยกะกายเพราะแสบตา ต้องเอาเข้ามาในบ้าน เสียงดังปัง ไม่ได้นอน ส่วนตัวไม่ชอบลุง (พ.ล.ประยุทธ์) เหมือนกัน ก็เชียร์เด็ก แต่บางทีเหมือนเขาออกมาเล่นกัน ถึงเวลาตำรวจมา เด็กหายไปไหนหมด เด็กบอกว่า ตำรวจอยู่ตรงนู้น ไปยิงตรงนู้นดีไหม บางทีสนุกกันแต่พวกเราเดือดร้อน ลูกเดินกลับเข้าบ้าน ตำรวจก็จะจับลูกหนู เด็กผู้หญิงใส่เสื้อสีดำ นึกว่าทะลุแก๊ซ เขาจะจับรวมไปหมด” น.ส.สุปราณีกล่าว และว่า

ไปซื้อของ ไปตลาด มันเดือดร้อนไปหมด มันไปไม่ได้ เด็ก 13-14 ปิดถนน 3 คนอย่างนี้ ซึ่งมันไม่ใช่ อย่างเราป็นแม่ค้า เด็กเอาแผงเหล็กมากั้น 2 แผง รถก็ต้องหยุดกันหมด มันเกิดอะไรขึ้นกับพวกเรา

นายประสงค์ กรรมการชุมชนแฟลตดินแดง แฟลต 1-17 เปิดเผยว่า ปัญหาที่ตนต้องการให้แก้ไขมีหลายประเด็นแต่ในประเด็นที่ชาวแฟลตได้ร้องเรียนมา จะทำอย่างไรให้สถานการณ์คลี่คลายลง ให้พ่อค้าแม่ค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตนจึงได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะดำเนินการอย่างไร จึงอยากเรียกร้องให้มีการเยียวยา ดูแล โดยเฉพาะการเคหะแห่งชาติ ให้ช่วยเหลือประชาชน-ชุมชนที่เดือดร้อน เพราะแฟลตดินแดงเป็นของการเคหะฯ ที่ต้องจ่ายค่าเช่า จ่ายภาษี

“แค่อยากให้ประชาชนชาวแฟลตดินแดงได้อยู่อย่างสงบสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี เพราะปัจจุบันนี้หลัง 5 โมงเย็น รถเมล์หน้า ร.ร.พิบูลย์ประชาสรรค์ ก็ไม่มีวิ่ง ต้องอ้อมไปถนนจตุรทิศ เนื่องจากจะมีการปิดถนนแทบทุกวัน โดยเฉพาะวันเสาร์ ตำรวจ คฝ.จะมาจอดอยู่ที่ถนนจตุรทิศตั้งแต่แยกประชาสงเคราะห์ จนถึงแฟลต 17 ตลอด 2 ข้างทาง แล้วสิ่งที่ตามมาคือ ขยะ ข้าวกล่อง ขวดน้ำ เต็มไปหมด พวกผมต้องหาอาสาสมัครไปช่วยกันเก็บกวาด ก็อยากจะขอร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือในสิ่งที่เราร้องขอไป โดยเฉพาะการเคหะฯ ท่านอย่านิ่งดูดาย ท่านเป็นผู้เก็บค่าเช่าของผู้เช่าอาศัย” นายประสงค์กล่าว

ทั้งนี้ นายประสงค์ยังเล่าถึงความเดือดร้อนของชาวแฟลตดินแดงว่า เรื่องที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมเป็นต้นมา แม่ค้าแม่ขาย ตั้งแต่แฟลต 1-5 จากเคยเลิกขาย 19.00-20.00 น. เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้ ก็ต้องเก็บร้านก่อน 16.00 น. ทุกวัน

“บางร้านก็ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ประชาชนบนแฟลตก็ร้องเรียน 300 กว่ารายชื่ออยู่ที่ผม เขาร้องเรียนมาว่า จะเยียวยาเขาแบบไหนอย่างไร ก็ไม่เห็นจะมีหน่วยงานรัฐไหนเข้ามา”

“มันมีผลกระทบไปหมด ตั้งแต่ 7 สิงหาคม ประชาชนบนแฟลตดินแดงไม่เคยได้นอนหลับฝันดีสักคืน บางที 3 -4 ทุ่มไม่เท่าไหร่ 5 ทุ่ม-เที่ยงคืนเสียงดังโป้งป้าง คนแก่ เด็กอ่อนก็ตื่น สะดุ้ง เป็นผู้ได้รับผลกระทบที่สุด คนแก่คนเฒ่าต้องใช้เส้นทางจากบ้านไป รพ.ทหารผ่านศึก ส่วนมากคนดินแดงจะใช้ รพ.นี้ เพราะใกล้บ้าน ถ้าหน่วยงานราชการมากั้นอะไรตรงนี้ ความเป็นอยู่มันเปลี่ยนไปหมด รถประจำทางไม่วิ่งผ่านหน้า รพ.พิบูลย์ประชาสรรค์ ต้องเดินไกล” นายประสงค์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างสนทนา มีการเปิดคลิปเสียงและฉายคลิปวิดีโอจาก ชาวแฟลตดินแดงเพศหญิง หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อสะท้อนภาพความเดือดร้อนของชาวแฟลตดินแดง ความว่า ช่วงแรกๆ ตอนเดือนกันยายน คฝ.จะอยู่แยกดินแดง ส่วนผู้ชุมนุมก็จะอยู่แฟลต 1-2 ปะทะกันไปมา ก็ได้กลิ่นแก๊สน้ำตาเข้าบ้านบาง ได้ยินเสียงขวดแก้วบ้าง ได้ยินคำด่าบ้าง ผู้ชุมนุมหนี คฝ. ขึ้นแฟลตมาบ้าง

“เวลาที่เขา (คฝ.) จะมา ก็จะตะโกนบอกว่า ใครที่ไม่เกี่ยวข้องให้เข้าบ้าน ไม่ต้องออกมา เพื่อความปลอดภัย ล่าสุด ไฟไหม้ กลัวว่าคนในแฟลตจะได้รับผลกระทบ 1. เรื่องจิตใจ 2. เรื่องความเป็นอยู่ วันนี้ฉันจะโดนอะไรวันนี้ฉันจะเจออะไร วันไหนจะโดนผู้ชุมนุมทำร้ายร่างกายเราไหม
ได้ยินเขาตะโกนมาว่า ‘ขี้ข้า… จะเล่นเลยไหม’ ถ้าอยู่กันแบบนี้ แล้วหนูจะรอดไหม เดินเข้าบ้านบางวัน เขาก็นั่งทำระเบิดเพลิงกับพื้น สิ่งที่หนักที่สุด คือผู้ชุมนุมขึ้นมาหน้าบ้าน แล้วขว้างปาสิ่งของลงไป ความปลอดภัยของชาวแฟลตอยู่ตรงไหน

ไม่มีเจ้าหน้าที่ เหมือนจัดการกันเอาเอง ตะโกนบอกกันว่า ‘ไฟไหม้นะ อย่าออกมานะ’ อยากให้มีการปิดทางขึ้นแฟลต มีกล้องวงจรปิด และแสงสว่าง กล้องวงจรปิดเสียหมดทุกตัว การเคหะฯ ลงมาดูหน่อย ตอนนี้สุขภาพจิตเสียมาก ทั้งคืนตั้งแต่ 5-6 โมงเย็น ถึง ตี 3-4 อยากให้ไปจัดตรงไหนก็ได้ที่ไม่ใช่เขตชุมชน เดือดร้อนจริงๆ ตื่นเช้ามาก็ต้องไปทำงาน ไปทำอย่างอื่น” ชาวแฟลตดินแดงเพศหญิง กล่าว

ด้าน “บุ๊ค” (นามสมมติ) ชาวชุมชนคลองเตย ตัวแทนกลุ่มทะลุแก๊ซ และหนึ่งผู้ร่วมการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า ผลกระทบเกิดจากหลายส่วน ต้องมององค์ประกอบว่าเกิดจากอะไร อย่างแรก 1.การปฏิบัติการของรัฐบาล ทั้งเรื่องคดีและการใช้กฎหมายจับผู้ชุมนุม สลายการชุมนุม ‘หลักสากล’ บางทีไม่ได้ถูกนำมาใช้กับผู้ชุมนุม เช่น การใช้กระสุนยาง น้ำผสมสารเคมี ที่ผิดหลักสากลชัดเจน

“อันดับแรก ผู้ชุมนุมที่มาม็อบทะลุแก๊ซ ขอใช้คำนิยามว่าเป็น ‘ม็อบรากหญ้า’ เป็นชนชั้นแรงงานเสียส่วนใหญ่ หรือเรียนแล้วหลุดออกจากระบบการศึกษา ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานที่แย่ของรัฐบาล จึงมาม็อบทะลุแก๊ซ ความแค้น และรู้สึกแย่ที่ได้รับจากผลกระทบต่างๆ ไม่สามารถเยียวยาได้ ไม่ว่าม็อบใด ทุกคนมาด้วยสันติวิธี แต่การตอบโต้ของรัฐบาลต่อผู้ชุมนุม เห็นชัดว่าไม่ยึดหลักสากล เราไม่ได้มีนโยบายต้องใช้ความรุนแรงเสมอไป เราพยายามหาแนวร่วมตรงกลาง ไม่ว่า ทะลุแก๊ซ ทะลุฟ้า ม็อบแนวร่วมอื่นๆ ว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้ชุมนุมหากิจกรรมทำร่วมกัน

อย่างแรก รัฐบาลต้องเปิดเวทีรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งรัฐบาลไม่เคยเปิดเวทีรับฟังเสียงของประชาชนเลย ผู้ชุมนุมจึงออกมาในทุกๆ วัน” บุ๊คกล่าว

บุ๊คกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องความรุนแรง เราเห็นได้ชัดว่า ตำรวจ คฝ. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ใช้ความรุนแรงอย่างมิชอบกับผู้ชุมนุม จนทำให้เกิดความโกรธแค้น ความลำบากใจกับผู้ชุมนุมและชาวบ้าน คือตัวจุดไฟและเชื้อเพลิงที่นำไปสู่ผลกระทบต่างๆ บริเวณดินแดง ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง แต่บางครั้งก็ต้องใช้ เพื่อป้องกันตัว และตอบโต้กระบวนการที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน

ด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตนได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอดรวมถึงได้รับคำร้องเรียนให้ตรวจสอบ ในการชุมนุมมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในส่วนของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ และประชาชนบริเวณแฟลตดินแดง

“ชุมชนดินแดงได้รับความผลกระทบเยอะ เราก็ลงพื้นที่มาฟังความเดือดร้อนเป็นระยะ ขณะเดียวกันก็ได้รับฟังฝั่งผู้ชุมนุมที่สะท้อนถึงความตั้งใจที่อยากมาแสดงออกทางการเมือง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เกิดความรุนแรงรายวัน เราไม่อยากเห็นผู้ชุมนุมถูกยิง ไม่อยากเห็นเจ้าหน้าที่ถูกประทัดยักษ์ เราไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เลยคิดว่าควรมีการพูดคุยกันของทุกฝ่าย” นายวสันต์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image