สันติภาพอเมริกัน

“ทาลิบัน” ยึด “อัฟกานิสถาน”

สันติภาพอเมริกัน

เหตุการณ์ “ทาลิบัน” ยึด “อัฟกานิสถาน” เป็นการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การเมืองทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อช่องแคบไต้หวัน กลายเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกสนใจ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันว่าหากไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ป่น และพันธมิตรนาโต ถูกบุกรุกโจมตี สหรัฐจะต้องปฏิบัติตามคำมั่นโดยทำการตอบโต้

ในความเป็นจริงกรณีต่างกัน ต่างกันที่สหรัฐกับนาโตได้ลงนามในสัญญาให้การช่วยเหลือในด้านการทหาร ส่วนช่องแคบไต้หวัน ไม่มีลายลักษณ์อักษรระบุว่า หากเกิดสงครามช่องแคบไต้หวัน สหรัฐจะร่วมด้วยช่วยกัน

Advertisement

คำพูดยืนยันของไบเดน จึงห่างไกลจาก “ยุทธศาสตร์คลุมเครือ” ของสหรัฐที่มีต่อช่องแคบไต้หวันมาแต่ก่อน จึงไม่แปลกที่สำนักบริหารทำเนียบขาวได้ชี้แจงโดยพลันว่านโยบายสหรัฐที่มีต่อไต้หวันเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

แม้กระทรวงการต่างประเทศจีนก็เห็นว่า “ไบเดน” น่าจะพูดผิดมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การคืนถิ่นของ “ทาลิบัน” ครั้งนี้ ย่อมมีผลกระทบอันยิ่งใหญ่ต่อสันติภาพและการเป็นผู้ปกครองโลกของอเมริกันอันเกี่ยวกับเสถียรภาพและอิทธิพลทางทหาร

Advertisement

กรณีดังกล่าวเรียกกันว่า Pax Americana

วันนี้ไม่ว่าที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวันได้มีการวิพากษ์เกี่ยวกับกรณีการสนับสนุนของทหารอเมริกัน ตอลดจนคำกล่าวที่ว่า “วันนี้อัฟกานิสถาน พรุ่งนี้ไต้หวัน” ได้แพร่ไปทั่วโลก

กรณีนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่างานด้านต่างประเทศของวอชิงตันเกิดความสับสน

จึงเป็นเหตุให้บรรดาพันธมิตรเกิดความสับสนไปด้วย

วอชิงตันยืนยันว่า เกือบ 20 ปีที่สหรัฐทุ่มเททั้งกำลังพลและสิ่งของจำนวนมหาศาล เพื่อสนับสนุนอำนาจเก่าอัฟกานิสถาน การถอนทหารในครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะกรณีเป็นการสอดคล้องกับกับผลประโยชน์ของสหรัฐ

แต่ในสายตาของต่างชาติ การล่มสลายของอำนาจเก่าคือเกิดจากการทอดทิ้งของสหรัฐ

ส่วนสหรัฐเห็นว่า บัดนี้กลุ่มผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ 911 ได้หมดไป

ไม่มีการคุกคามสันติภาพ อเมริกัน อัฟกานิสถานจึงไร้คุณค่า กลับเป็นการสร้างภาระ

ย้อนมองกลับไปเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ทหารอเมริกันเข้าร่วมสงครามเวียดนาม ในที่สุดพ่ายแพ้หมดรูป บัดนี้ “ทาลิบัน” คืนถิ่น เสมอสหรัฐซ้ำรอยประวัติศาสตร์คือ “นาทีไซ่ง่อน”

แม้อเมริกันชนเห็นว่า การทำงานของรัฐบาลไบเดนงุ่มง่าม แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการถอนทหาร จิตใจได้รับการกระทบจากเหตุการณ์ไม่มากเท่ากับพันธมิตรของสหรัฐ

ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ “ฟ้าเปลี่ยนสี” ที่อัฟกานิสถานในครั้งนี้ กระทบถึงดวงหทัยของพันธมิตรมากทีเดียว เพราะพวกเขากังวลว่าอาจจะถูกสหรัฐทอดทิ้งเหมือนกับอัฟกานิสถาน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ สหรัฐเป็นผู้นำในการจัดระเบียบโลกเสรี โดยทำการคุ้มครองทางด้านทหารให้แก่ประเทศพันธมิตรเสมือนผู้ปกครอง เรียกกันว่า “Pax Americana”

เมื่อสงครามเย็นยุติ โซเวียตล่มสลาย การเป็นผู้ปกครองโลกของอเมริกันยังดำรงอยู่

เมื่ออัฟกานิสถานฟ้าเปลี่ยนสี นอกจากเป็นการเปลี่ยนหมากการเมืองกระดานใหญ่ของแผ่นดินยุโรปและเอเชียแล้ว ยังมีผลกระทบถึงการเป็นผู้ปกครองโลกของอเมริกันด้วย

ความสามารถในการสนับสนุนปกป้องพันธมิตรอันได้แก่ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และลาตินอเมริกัน เป็นต้น เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ

เมื่อเกิดเหตุการณ์อัฟกานิสถาน เป็นเหตุให้ความเชื่อถือสหรัฐลดน้อยลงโดยพลัน จนขาดความเชื่อถือในเรื่องสันติภาพ เพราะความจริงปรากฏ อำนาจเก่าอัฟกานิสถานก็คือรัฐบาลหุ่นเชิดของสหรัฐ ความพ่ายแพ้ของอัฟกานิสถาน ก็คือความพ่ายแพ้ของสหรัฐ และเมื่อสหรัฐยังช่วยตนเองไม่ได้ และจะช่วยผู้อื่นได้อย่างไร

จึงไม่แปลกที่สื่อในจีนแผ่นดินใหญ่ และสังคมจีนไต้หวัน ได้มีการวิพากษ์เกี่ยวกับประเด็น “สหรัฐทอดทิ้งไต้หวัน” จนกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ เวิลด์”

แม้ฝ่ายความมั่นคงทำเนียบขาวออกมาแถลงว่า “สหรัฐขอให้คำมั่นต่อไต้หวันว่า ทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” ก็ตาม แต่คนจีนไต้หวันหาคลายความกังวลไม่

และที่น่าสนใจที่สุดคือ ไม่ว่ารัฐบาล ไม่ว่าฝ่ายค้านไต้หวัน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

“ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ทั้งสองฝ่ายต่างทราบดีว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ปฏิบัติการต่างๆ ที่วอชิงตันมีต่อไต้หวัน

ล้วนเป็น “นโยบายคลุมเครือ” แม้หลายปีที่ผ่านมา สหรัฐขายอาวุธให้แก่ไต้หวันอย่างต่อเนื่อง

คลอดจนการส่งเรือรบเข้าออกลาดตระเวนช่องแคบไต้หวันก็ตาม แต่ก็ไม่เคยเห็นเอกสารสัญญาว่าถ้าเกิดสงครามที่ช่องแคบไต้หวัน สหรัฐจะส่งทหารข้าร่วมรบด้วย

ส่วนคำพูดของไบเดนที่ว่า สหรัฐขอให้คำมั่นต่อไต้หวันว่าจะได้รับการช่วยเหลือทางด้านทหารเสมอกับนาโตนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการสวนทางกับนโยบาย “จีนเดียว”

และย่อมหมายความว่านำสองฝั่งช่องแคบเข้าสู่ภาวะสงคราม

“ไบเดน” มองเหรียญเพียงด้านเดียว กล่าวคือ เพียงเพื่อต้องการพูดเอาใจคนไต้หวัน โดยปราศจากความยั้งคิดว่า จะปฏิบัติต่อไต้หวันเหมือนกับพันธมิตรนาโตนั้นเป็นไปไม่ได้

“ไบเดน” เป็นทั้งนักกฎหมาย นักการทูต และในฐานะประธานาธิบดี การให้สัมภาษณ์ในทำนองนี้ ดูงุ่มง่าม ออกจะเลอะเลือน พูดมากผิดมาก

กรณียังสะท้อนถึงความสับสนวุ่นวายของทำเนียบขาวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางการเมืองไม่มีศัตรูและมิตรที่ถาวร ถาวรมีอย่างเดียวคือ “ผลประโยชน์”

วอชิงตันละทิ้งอำนาจเก่า ก็เพื่อผลประโยชน์ในการลดงบประมาณทางด้านทหาร

เมื่อปี 2001 ก็เพราะต้องการกำจัดผู้ก่อการร้าย ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องสนับสนุนอำนาจเก่าอัฟกานิสถาน ยี่สิบปีผ่านไป สถานการณ์เปลี่ยนไป สหรัฐเพื่อตัดความยุ่งยากและลดภาระในหลายด้านโดยเฉพาะงบประมาณการทหาร

ภายใต้การปกครองของอเมริกัน ตั้งแต่ยุโรป ตะวันออกกลางถึงเอเชีย หลายประเทศที่ต้องอาศัยการคุ้มครองจากอเมริกันจนติดเป็นนิสัย เมื่อเกิดเหตุการณ์ยึดอัฟกานิสถาน มีประเทศจำนวนไม่น้อย ต่างได้เริ่มหาทางช่วยเหลือตนเอง แทนการพี่งอเมริกัน

อดีตที่ผันผ่าน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นเคยชินกับวลี

“เศรษฐกิจพึ่งจีน ความมั่นคงพึ่งสหรัฐ”

เมื่อค้นหาสัจธรรมจากความเป็นจริง จึงพบว่า “ทาลิบันยึดอัฟกานิสถาน” ก็คือ

คำตอบสุดท้าย

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image