ยูนิเซฟเผยผลสำรวจ ‘สุขภาพจิตเด็กไทย’ ช่วงโควิด

ยูนิเซฟเผยผลสำรวจ ‘สุขภาพจิตเด็กไทย’ ช่วงโควิด

ไม่ได้มีเพียงผู้ใหญ่ที่เครียดและวิตกกังวลกับโควิด-19 หากยังมีเด็กและเยาวชนที่มีความรู้สึกร่วมในสถานการณ์เดียวกัน สะท้อนจากผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทย ซึ่งเก็บข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 183,974 คน ที่ประเมินสุขภาพจิตตนเองผ่านแอพพลิเคชั่น Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต ในช่วง 18 เดือนของการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564

พบว่า ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง, ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่อีกร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย สอดคล้องกับผลสำรวจของยูนิเซฟเมื่อปี 2563 พบว่า เด็กและเยาวชนจำนวน 7 ใน 10 คนมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่กังวลกับรายได้ของครอบครัว การเรียน การศึกษาและการจ้างงานในอนาคต

นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า เด็กและวัยรุ่นในประเทศไทยและทั่วโลก กำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อยๆ และเราเชื่อว่านี่เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง แม้ว่าผลกระทบด้านสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน จะเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลต่อสุขภาวะของเด็กในระยะยาว แต่ประเด็นสุขภาพจิตมักถูกละเลย หรือถูกมองข้าม หรือแม้กระทั่งถูกปกปิดไว้

เนื่องจากสุขภาพจิตยังเป็นเรื่องที่ถูกตีตราหรือเรื่องน่าอาย แต่ในความเป็นจริงเรื่องของสุขภาพจิตควรได้รับการดูแลใส่ใจอย่างจริงจัง และถูกหยิบยกมาพูดถึงให้เป็นเรื่องปกติ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่เผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิต ได้รับการสนับสนุนและเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้สะดวกขึ้นและรวดเร็วขึ้น

Advertisement

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของเด็กและวัยรุ่นต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เด็กจำนวนหนึ่งอาจไม่สามารถปรับตัวกับการเรียนรูปแบบใหม่ได้ จนเกิดผลกระทบต่อการเรียนและพัฒนาการได้หลายด้าน ทั้งผลกระทบที่มีต่อผู้ปกครองและครอบครัว ก็ทำให้การเลี้ยงดูทำได้ไม่เต็มศักยภาพ ไม่สามารถใช้เวลาที่มีคุณภาพกับเด็กได้เพียงพอ ปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปจากการเจ็บป่วย การเว้นระยะห่างทางสังคม การงดกิจกรรมนอกบ้าน และการสวมหน้ากากอนามัย

สำหรับในเด็กวัยรุ่นนั้น พบว่ามีความเครียดสูงมากขึ้น เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งและความรุนแรงในครอบครัว จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายในบางรายอีกด้วย

สถานการณ์น่าห่วงดังกล่าว เด็กและเยาวชนไทยควรได้รับคำแนะนำด้านสุขภาพจิตก่อนจะสาย โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image