สธ.เผย 17 จว.นำร่องท่องเที่ยวฉีดวัคซีนโควิดไม่ถึง 50% ระดมปักเข็มจบก่อนสิ้นต.ค.

สธ.เผย 17 จว.นำร่องท่องเที่ยวฉีดวัคซีนโควิดไม่ถึง 50% ระดมปักเข็มจบก่อนสิ้นต.ค.

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยพบการติดเชื้อใหม่ 9,445 ราย หายป่วย 11,452 ราย เสียชีวิต 84 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 1,730,364 ราย ภาพรวมการรายงานแต่ละวันแบ่งกลุ่ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คิดเป็น ร้อยละ 21 จังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 22 ซึ่งสูงกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล เล็กน้อย และจังหวัดอื่นๆ ร้อยละ 57 สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง 2,954 ราย ลดลงต่อเนื่องจาก 3,200 กว่ารายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมฑล 1,084 ราย ภาคใต้ใน 4 จังหวัด 232 ราย จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 19 จังหวัด 673 ราย และจังหวัดอื่นๆ 965 ราย ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 660 ราย ลดมาจาก 729 ราย

“การรายงานแกว่งตัวอยู่บ้าง แต่ภาพรวมทิศทางลดลง แนวโน้มการระบาดน่าจะรับมือได้อย่างดี และค่อยๆ ลดลง ทั้งนี้ การโฟกัสพื้นที่ที่มีแนวโน้มขยับขึ้นต่อเนื่อง พบใน 4 จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน ต้องมีมาตรการระดมลงไปสนันสนุนเพื่อควบคุมโรค” นพ.เฉวตสรร กล่าวและว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้น 805,146 โดส สะสม 61,033,251 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 35.4 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร ร้อยละ 49.2 วางแผนว่าปลายเดือนจะได้ครบร้อยละ 50 แต่น่าจะถึงก่อนกำหนด เข็มที่ 2 ฉีด 23.7 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 33 สูตรหลักที่เราฉีดเป็นเข็มที่ 1 ซิโนแวค อีก 3-4 สัปดาห์ ฉีดเข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้น หมายความว่าตัวเลขเข็มที่ 2 ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านโดส ได้ และเข็มที่ 3 อีก 1.7 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 2.5 อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กนักเรียน 12-18 ปี ฉีดไปแล้วเกือบ 5 แสนโดส ซึ่งเป็นการฉีดในหน่วยบริการนอกสถานพยาบาล รายงานจึงอาจไม่ได้เข้าระบบทันที โดยขอให้นักเรียนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมในโลกโซเซียล ข่าวที่ไม่มีความจริงก็สร้างความวิตกกังวล

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ในการเปิดประเทศโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่แถลงไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม เพื่อรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูการท่องเที่ยวในไทยปลายปีนี้ ดังนั้น ต้องมีมาตรการรองรับ ทั้งการกำหนดประเทศที่จะเดินทางมาในกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ มีหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงมาตรการในพื้นที่ที่ต้องฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่สูง รายงานสถานการณ์วัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ภาพรวมเข็มที่ 1 ร้อยละ 70 ฉีดมากที่สุดใน กรุงเทพฯ สูงเกินกว่าฐานในทะเบียนประชากรเป็นร้อยละ 102.8 ซึ่งอาจรวมประชาชนที่มาจากปริมณฑลด้วย จ.ภูเก็ต ฉีดร้อยละ 80 จ.สมุทรปราการ ร้อยละ 68.8 ซึ่งหลายจังหวัดยังฉีดได้ต่ำกว่า ร้อยละ 50 เช่น อุดรธานี ร้อยละ 38 หนองคาย ร้อยละ 38 เลย ร้อยละ 37

“แต่ไม่ต้องห่วง เพราะพื้นที่เหล่านี้ต้องเตรียมความพร้อมในการจัดสรรวัคซีนอยู่แล้ว ก็ขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ติดตามข้อมูลข่าวสารในจังหวัด เพื่อติดต่อรับวัคซีน ให้พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามา เชื่อว่าหลังประกาศนโยบายวันเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ประชาชนจะสนใจการฉีดวัคซีนกันเยอะ สามารถเร่งฉีดให้ตามเป้าหมายได้” นพ.เฉวตสรร กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ประชาชนทั่วไปฉีด 1.5 ล้านคน จากฐานประชากร 3.5 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 42.4 ส่วนกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป 260,739 คนคิดเป็น ร้อยละ 58 กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว 143,784 คนคิดเป็น ร้อยละ 51.2 โดยจะลดหลั่นตามพื้นที่ โดยช่วงนี้ได้รับวัคซีนเพิ่มจำนวนมาก ทาง นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 ก็รับนโยบายจาก นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง ระบบเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวางรวดเร็วให้ได้เป้าหมาย ร้อยละ 70 ของประชากร คาดว่าจะทำได้ปลายเดือนตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ภาคใต้ตอนล่างที่มีระบาดสายพันธุ์เบต้า แอลฟา และเดลต้า จึงมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเราก็ได้จัดส่งไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 17 จังหวัด มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เรียงจากมากไปน้อย ดังนี้ ภูเก็ต ร้อยละ 80.1 สุราษฎร์ธานี ร้อยล 43 กรุงเทพฯ ร้อยละ 102.8 กระบี่ ร้อยละ 41.9 พังงา ร้อยละ 57.5 ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 49.3 เพชรบุรี ร้อยละ 54 ชลบุรี ร้อยละ 71.7 ระนอง ร้อยละ 56.1 สมุทรปราการ ร้อยละ 68.8 ระยอง ร้อยละ 51.7 ตราด ร้อยละ 45.6 เชียงใหม่ ร้อยละ 45.3 เลย ร้อยละ 37.3 บุรีรัมย์ ร้อยละ 49.1 หนองคาย ร้อยละ 38.8 และ อุดรธานี ร้อยละ 38.1

นอกจากนี้ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สูตรฉีดไขว์แอสตราฯ ตามด้วยไฟเซอร์ รอผ่านมติศบค.ซึ่งจะประกาศเป็นทางการ ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามหลักวิชาการ ความเหมาะสมในการบริหารจัดการให้เกิดภูมิคุ้มกัน และให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการกำหนดเป็นสูตรหลักสูตรหนึ่ง และสูตรที่สามารถใช้ได้กรณีมีความจำเป็น เนื่องจากประด็นทางสุขภาพ และเงื่อนไขทางปฏิบัติเช่นประเทศที่จะเดินทาง ก็อาจจะขยายได้ กรณีพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีการจัดส่งไฟเซอร์ลงไป ก็จะใช้ฉีดเป็นไฟเซอร์ 2 เข็ม เพื่อรองรับสายพันธุ์ที่ระบาดด้วย หากเป็นแอสตราฯ ตามด้วยไฟเซอร์ทางวิชากรก็ทำได้ ในทางปฏิบัติคงมีชี้แจงลงไปในพื้นที่ อย่างไรก็ตามขอให้มั่นใจในทุกสูตรที่สามารถใช้ได้ เพราะไม่ควรรอ เพราะสถานการณ์บางที การรออาจจะเกิดสานพันธุ์ที่แตกต่างจนมีความรุนแรง และอาจจะเสียประโยชน์ได้

Advertisement

การฉีดนักเรียนที่ผ่านมมา ในระบบที่รายงานเข้ามายังไม่มีอะไรน่ากังวล ระบบรายงานอาการไม่พึงประสงค์จะต้องมีการตรวจสอบเก็บข้อมูลในพื้นที่ บางทีไม่ได้เร็ววันต่วัน ทยอยมา เท่าที่ฉีดมายังไม่มีข้อกังวล ส่วนเข็ม 2 ในกลุ่มนักเรียนชายนั้น คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนจะประชุมน่าจะจะมีข้อตัดสินวันที่ 20 ต.ค.นี้ โดยจะพิจารณาข้อมูลที่มีการรวบรวยการฉีดเข็ม 1 ในเด็กชาย เป็นข้อสงสัยสอบถามในพท.มา อย่างไรข้อสรุปต้องออกมาก่อนวันนัดฉีดเข็ม 2 แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image