ลลิตา หาญวงษ์ : อียูกับพม่า…สงครามแห่งการล็อบบี้

อียูกับพม่า...สงครามแห่งการล็อบบี้
หน้าแรกของเว็บไซต์ NUG ที่ยกให้ด่อออง ซาน ซูจี เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ และอู วิน มยิ้น ยังเป็นประธานาธิบดีที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ลลิตา หาญวงษ์ : อียูกับพม่า…สงครามแห่งการล็อบบี้

การขับเคี่ยวกันระหว่างรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) หรือที่เรียกกันติดปากว่า NUG ยังดำเนินต่อไป เมื่อ NUG เกิดขึ้นมาราว 2 เดือนหลังรัฐประหาร พร้อมกับการประกาศรายชื่อคณะทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแอคทิวิสต์ทางการเมือง และสมาชิกพรรค NLD การมาของ NUG สร้างความฮือฮาในสังคมพม่า เพราะนับเป็นครั้งแรกที่เกิดรัฐบาลคู่ขนานขึ้นมาเพื่อตอบโต้รัฐประหาร และยังยืนยันหลักการที่ว่ารัฐบาลชุดเดิมของด่อออง ซาน ซูจี ยังเป็นรัฐบาลอย่างถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย แม้ในเวลานี้ไม่มีใครทราบว่ากองทัพควบคุมตัวเธอ และแกนนำพรรค NLD ไว้ที่ใด และยิ่งไม่มีใครทราบว่าชะตากรรมของพรรค NLD ต่อไปจะเป็นอย่างไร มีข่าวลือหนาหูว่ากองทัพอาจตัดสินใจยุบพรรค NLD และตัดสิทธิทางการเมืองแกนนำคนสำคัญๆ ของพรรค NLD ด้วย

ในสภาพที่พรรค NLD เป็นเสมือนคนป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง แต่ก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ของ NUG อยู่นอกประเทศ การเคลื่อนไหวเพื่อล็อบบี้ให้สมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู สหประชาชาติ และองค์กรระดับนานาชาติอื่นๆ รับรอง NUG จึงเป็นภาระใหญ่สำหรับคณะทำงานของ NUG ในวงการเมืองระหว่างประเทศ NUG มีภาพลักษณ์ที่ดีกว่ารัฐบาลของคณะรัฐประหารอย่างชัดเจน เทียบกันหมัดต่อหมัด ภายในสหประชาชาติ NUG มีอาวุธเด็ดคือเอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ จ่อ โม ทุน (Kyaw Moe Tun) ผู้เคยกล่าวสุนทรพจน์ครั้งประวัติศาสตร์พร้อมกับยกมือขึ้นชูสามนิ้วต่อหน้าสมัชชาสหประชาชาติมาแล้วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข้อถกเถียงภายในสหประชาชาติที่เกี่ยวกับพม่าล้วนเกี่ยวข้องกับสถานะของจ่อ โม ทุน เพราะเขาเป็นตัวแทนของรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารไป

แม้คณะรัฐประหารพม่าจะพยายามวิ่งเต้นทุกทางเพื่อกำจัดจ่อ โม ทุน ออกไปให้พ้นทาง และพยายามส่งคนของตัวเองไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติคนใหม่ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

คําถามที่สำคัญมากตอนนี้คือ เมื่อพม่ามีรัฐบาล 2 ชุด แล้วในระยะยาว ฝ่ายใดเล่าที่จะได้ที่นั่งในสหประชาชาติ มติของสหประชาชาติตั้งแต่กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาปล่อยให้จ่อ โม ทุน ทำหน้าที่เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติต่อ และประเทศขนาดใหญ่ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนยังพยายามกีดกันไม่ให้ตัวแทนของคณะรัฐประหารพม่าขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสหประชาชาติได้ด้วย แม้จ่อ โม ทุน ยังอยู่ในตำแหน่ง แต่ก็มีเงื่อนไขว่าเขาไม่สามารถทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้ NUG ได้ และพึงสงบเสงี่ยมเจียมตัวไม่ขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมเพื่อประณามรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารอีก เป็นเหมือน “สัญญาลูกผู้ชาย” ที่จ่อ โม ทุน ให้กับสหประชาชาติ

Advertisement

นอกจากตัวละครระดับไฮโปรไฟล์สุดสุดอย่างจ่อ โม ทุน แล้ว NUG ยังมีไม้เด็ดอื่นๆ เพราะได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชนทั้งในและนอกพม่าที่เกลียดชังกองทัพ และต้องการให้ทั่วโลกร่วมกันกดดันให้รัฐบาลของด่อออง ซาน ซูจี กลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้ง เงินบริจาคที่หลั่งไหลไปให้ NUG ทำให้ NUG และคณะทำงานไม่มีปัญหาด้านการเงิน และการล็อบบี้บุคคล หรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้องค์กรเหล่านี้รับรอง NUG ล่าสุด รัฐสภาอียูเพิ่งลงคะแนนเสียงเพื่อรับรอง NUG อย่างเป็นทางการ ในฐานะตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายของพม่า และยังมองว่า NUG เป็นเหมือนรัฐบาลรักษาการกลายๆ ด้วย ความเคลื่อนไหวจากอียูในลักษณะนี้ไม่เป็นผลดีกับกองทัพและคณะรัฐประหารพม่า อียูเป็นองค์การระหว่างประเทศแรกที่รับรองรัฐบาลเงาของพม่า ผู้แทนในอียูโหวตรับรอง NUG แบบท่วมท้นถึง 647 เสียง มีเสียงคัดค้านเพียง 2 เสียง และงดออกเสียงอีก 31

นอกเหนือจากอียู รัฐสภาฝรั่งเศสเพิ่งโหวตเพื่อรับรอง NUG อย่างเป็นทางการ เสียงภายในรัฐสภาฝรั่งเศสที่โหวตสนับสนุน NUG แบบเป็นเอกฉันท์เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐสภาในอีกหลายประเทศในยุโรปกำลังเคลื่อนไหวเพื่อรับรอง NUG ไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อโลกกำลังเดินไปทางนี้ ในอนาคต องค์การระหว่างประเทศอื่นๆ คงออกมาสนับสนุน NUG เพิ่มมากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าการต่อสู้ภายนอกประเทศเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อล้มล้างผลพวงจากรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ต้องยอมรับว่าสำหรับความเคลื่อนไหวภายในประเทศ NUG ยังไม่สามารถทำอะไรได้มาก

จริงอยู่ว่า NUG ออกแถลงการณ์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วง ภายใต้แคมเปญอารยะขัดขืนต่อไป ควบคู่กับความเคลื่อนไหวของกองทัพประชาชน (People’s Defence Force) หรือ PDF ที่ก็ยังมีปฏิบัติการเพื่อลอบสังหารคนของรัฐ และฝ่ายที่สนับสนุนกองทัพ อยู่ต่อไป

Advertisement

ต่อคำถามที่ว่า ความเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกประเทศของ NUG, PDF รวมทั้งคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw) หรือ CPRH สร้างแรงกระเพื่อมและจะล้มคณะรัฐประหารได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนมองว่าการล้มล้างรัฐประหารครั้งนี้จะต้องใช้เวลาอย่างมาก ในอนาคตอันใกล้ ฝ่ายประชาชนอาจจะยังไม่สามารถโค่นคณะรัฐประหารได้ แม้ทั่วโลกจะประกาศคว่ำบาตรทางการเมืองและทางเศรษฐกิจกับพม่า แต่อย่าลืมว่าผู้นำเผด็จการทหารพม่าผ่านการถูกประณามและคว่ำบาตรจากทั่วโลกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ผลกระทบที่จะมีมากสุดคือการประกาศปิดประเทศ ในเวลานี้ กองทัพพม่ามองว่าตนมีเพื่อนน้อยลงทุกที พม่าไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีนักกับจีน และจีนก็แสดงออกค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐประหารครั้งนี้ ด้านอาเซียนที่พยายามแสดงความเห็นอกเห็นใจพม่ามาตลอดก็เริ่มจะเบื่อหน่ายท่าทีของผู้นำพม่าที่นอกจากจะไม่อำนวยความสะดวกให้คณะทูตพิเศษเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพม่า แต่ที่ผ่านมา กองทัพยืนกรานไม่ให้คณะทูตพิเศษจากอาเซียนเข้าพบด่อออง ซาน ซูจี และสมาชิกพรรค NLD คนสำคัญ หัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษแสดงความไม่พอใจคณะรัฐประหารและกองทัพพม่าอย่างชัดเจน

เมื่อนานาอารยประเทศเริ่มให้การสนับสนุน NUG และท่าทีของอาเซียนต่อรัฐบาลพม่าเริ่มไปในทิศทางลบเพิ่มขึ้น ในท้ายที่สุดไทยเองก็ต้องปรับท่าทีที่มีต่อพม่า จากเดิมที่สนับสนุนคณะรัฐประหารพม่าอย่างเต็มที่ และเรียกว่าไทยยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังเป็น “เพื่อน” ที่ดีของคณะรัฐประหารพม่า นอกจากรัสเซียที่เป็นผู้จัดหาอาวุธและยุทธภัณฑ์ให้พม่าเป็นหลักในขณะนี้ อย่างที่เรียนไปข้างต้น ว่าหมากเกมนี้ต้องดูกันยาวๆ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าคณะรัฐประหารพม่าอาจเลือกปิดประเทศเพื่อตอบโต้ท่าทีของประเทศในโลกตะวันตก

สำหรับกองทัพพม่า การปิดประเทศมีข้อดีเพราะตลาดมืดและการค้าผิดกฎหมายต่างๆ จะเติบโต และจะเป็นช่องทางให้กองทัพหรือนักธุรกิจอื่นๆ ทำการค้าแบบสีเทาๆ ได้เหมือนกับที่ตลาดมืดเคยเติบโตสุดขีดในยุคเผด็จการทหาร ตั้งแต่ยุคนายพลเน วิน ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลของ SLORC และ SPDC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image