เชียงใหม่คุมเข้มคลัสเตอร์ ‘ตลาดวโรรส-ต้นลำไย’ หลังยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม

เชียงใหม่คุมเข้มคลัสเตอร์ ‘ตลาดวโรรส-ต้นลำไย’หลังยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ย้ำผู้ซื้อ ATK มาตรวจเองผลเป็นบวกรีบแจ้ง จนท. ภายใน 3 ชั่วโมง สั่งปิด 16 สถานที่เสี่ยง 8 อำเภอ-ตั้งศูนย์ CI ในชุมชนทุกอำเภอ

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ประจำวันว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 294 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพียง 1 ราย ที่เหลือเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด โดยเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า 34 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 39 ราย เป็นการระบาดในครอบครัว 11 ครอบครัว รวมจำนวน 38 ราย และมาจากคลัสเตอร์ต่าง ๆ หลายคลัสเตอร์ ได้แก่คลัสเตอร์ใหม่ ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง 12 คลัสเตอร์ รวมจำนวน 147 ราย คลัสเตอร์เดิม ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่พบระหว่างการกักตัวหรือติดตาม 17 คลัสเตอร์ รวมจำนวน 35 ราย

 

สำหรับคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 82 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 1,127 ราย ส่วนใหญ่เป็นการตรวจพบครั้งที่ 2 ของกลุ่มเสี่ยงสูงที่อยู่ระหว่างการกักตัว และการตรวจเชิงรุกของกลุ่มผู้สัมผัสต่างอำเภอ รวมถึงผู้สัมผัสร่วมบ้าน ทั้งนี้พบว่ามีการแพร่กระจายออกไปแล้วมากกว่า 10 คลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์บ้านขุนช่างเคี่ยน, คลัสเตอร์หมู่ 4 ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม, คลัสเตอร์ สภ.สันทราย, คลัสเตอร์หมู่ 1 ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง, คลัสเตอร์ชุมชนหลังวัดป่าเป้า ซอยอุ่นอารีย์ ตำบลศรีภูมิ, คลัสเตอร์ หมู่ 12 ตำบลเวียง อำเภอฝาง, คลัสเตอร์ตลาดเทศบาลตำบลหางดง อำเภอหางดง, คลัสเตอร์หมู่ 8 ตำบลหางดง อำเภอฮอด, ตลาดสดแม่ริม และ สภ.แม่ริม รวมถึงตลาดสดสันป่าตอง ตลาดต้นพยอม และตลาดท่ารั้ว ดอยสะเก็ด โดยขณะนี้ทีมควบคุมโรคแต่ละอำเภอ ได้เร่งดำเนินการควบคุมป้องกันโรคอย่างเต็มที่เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ลุกลามเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ จึงขอเน้นย้ำให้กลุ่มเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับตลาดเมืองใหม่ เช่น ไปซื้อสินค้า ไปขายของ สัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงสูงจากตลาดเมืองใหม่ ให้รีบเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยเร็ว นอกจากนี้ ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้เร่งให้มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมในกลุ่มเสี่ยงตลาดเมืองใหม่ จึงขอให้ประชาชนรีบประสานเข้ารับการฉีดวัคซีน

Advertisement

คลัสเตอร์โลตัสคำเที่ยง อำเภอเมือง พบผู้ติดเชื้อ 9 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 41 ราย ส่วนใหญ่เป็นพนักงานผู้ทำการค้าในห้าง และผู้สัมผัสร่วมบ้าน อยู่ระหว่างการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้ารับการตรวจคัดกรอง และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้เฝ้าสังเกตอาการต่อไป ล่าสุดสั่งปิดแล้ว 3 วัน

คลัสเตอร์ตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 14 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 21 ราย ส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ที่มีประวัติไปจับจ่ายซื้อของในตลาด และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าจำนวนหนึ่ง ขณะนี้ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและขอความร่วมมือพ่อค้าแม่ค้า พนักงาน และผู้ใช้บริการเข้ารับการตรวจหาเชื้อโดยด่วน โดยเทศบาลนครเชียงใหม่จะลงพื้นที่ตรวจ ATK อีกครั้ง

Advertisement

ทั้งนี้ขอเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคน เคร่งครัดในมาตรการการป้องกันโรคส่วนบุคคล งดการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง งดการรวมกลุ่มปาร์ตี้สังสรรค์ งดการทำกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยง และเคร่งครัดในการกักตัว ส่วนผู้ที่ซื้อ ATK มาตรวจ ถ้าผลเป็นบวกให้รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม. ใกล้บ้านภายใน 3 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะถือว่ากระทำผิดตาม พรบ.โรคติดต่อ 2558 ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในชุมชน และอาจทำให้มีผลต่อตนเอง ที่เข้าถึงการรักษาล่าช้า อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานว่าพบการติดเชื้อโรคโควิด – 19 เป็นกลุ่มก้อนในหลายพื้นที่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการฯ ได้มีมติออกคำสั่งที่ 196 – 211/2564 ปิด 16 สถานที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราว ในพื้นที่อำเภอต่างๆ โดยมีรายละเอียดของคำสั่งดังนี้

พื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ มูลนิธิสานสัมพันธ์ครอบครัว 397/2 หมู่ 7 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และแผนกช่าง ร้านอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ สาขาเชียงใหม่ (Index Living Mall) เลขที่ 132/1 ตำบลหนองป่าครั่ง ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2564 , ร้านก๋วยเตี่ยวห้อยขา 68/3 ถนนเชียงใหม่ – ลำพูน ตำบลวัตเกตุ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2564 และห้างสรรพสินค้า โลตัส (สาขาเชียงใหม่ คำเที่ยง) เลขที่ 19 ถนนตลาดคำเที่ยง ตำบลป่าตัน ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564

พื้นที่อำเภอสันกำแพง ได้แก่ โรงงานลูกชิ้นพรสวรรค์ หมู่ที่ 9 ตำบลต้นเปา และโรงงานน้ำดื่มพีเอ็น หมู่ที่ 9 ตำบลต้นเปา ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2564

พื้นที่อำเภอฝาง ได้แก่ บ้านโป่งถืบ (เฉพาะหย่อมบ้านตาดน้อย) หมู่ที่ 12 ตำบลเวียง และบ้านห้วยห้อม หมู่ที่ 1 ตำบลแม่งอน ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2564

พื้นที่อำเภอจอมทอง ได้แก่ อู่ช่างต้อมบริการ เลขที่ 167/1 หมู่ที่ 19 ตำบลสบเตี๊ยะ , โกดังลำไย เจ๊ติ๊กพืชผล เลขที่ 155 หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านแปะ และบ้านขุนกลาง (เฉพาะหย่อมบ้านใหม่) หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านหลวง ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2564

พื้นที่อำเภอสารภี ได้แก่ โรงงานเมก้าพลาสติก เลขที่ 188 หมู่ที่ 8 ตำบลไชยสถาน ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2564 และบริษัท เรียลลี่ริช 2020 จำกัด เลขที่ 188/47 หมู่ที่ 7 ตำบลไชยสถาน ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2564

พื้นที่อำเภออมก๋อย ได้แก่ หย่อมบ้านจือทะ และหย่อมบ้านเมโลเด หมู่ที่ 10 ตำบลสบโขง ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2564

พื้นที่อำเภอหางดง ได้แก่ ร้าน มิสเตอร์ ดี.ไอ.วาย. สาขากาดฝรั่ง เลขที่ 225/29 หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านแหวน ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

และพื้นที่อำเภอเชียงดาว ได้แก่ หมู่บ้านทุ่งหลุก (เฉพาะหย่อมบ้านหลักคนเมืองและตีนดอย) หมู่ที่ 9 ตำบลเชียงดาว และหมู่บ้านแม่เตาะ (เฉพาะหย่อมบ้านฝั่งหมิ่น) หมู่ที่ 11 ตำบลเชียงดาว เป็นพื้นที่ควบคุมการเข้า – ออก เป็นระยะเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2564

ทั้งนี้ขอให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกรายเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 หากผลตรวจเป็นลบให้กักตนเอง (Home Quarantine) เป็นเวลา 14 วัน ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำให้คุมไว้สังเกตอาการ เป็นเวลา 14 วัน หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

และคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation – CI) ขึ้นในทุกอำเภอ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับดูแลกลุ่มผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว และลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในชุมชน ภายหลังจากทราบผลการตรวจทดสอบด้วยวิธี Rapid Antigen หรือ RT-PCR แล้ว โดยมีเป้าหมายในการรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวอาการไม่รุนแรง

ทั้งนี้ ให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคเทศบาลนครเชียงใหม่ (ศปก.ทน.) และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคเทศบาลเมือง (ศปก.ทม.) จัดเตรียมบุคลากรและเจ้าหน้าที่สำหรับดูแลศูนย์แยกกักในชุมชน (Community Isolation – CI) โดยให้ประสานบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กำหนด พร้อมจัดเตรียมแผนการประสานนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในกรณีที่อาการรุนแรงขึ้น และจัดระบบสุขาภิบาลสภาพแวดล้อม ระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อควบคุมการเข้า – ออก ตลอดจนมีมาตรการควบคุมป้องกันการติดเชื้อแพร่กระจายไปสู่ชุมชน ในการนี้ ขอให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบถึงการจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน พร้อมให้ความร่วมมือกับทางราชการด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image