เศรษฐกิจที่ลืมสังคม

เศรษฐกิจที่ลืมสังคม

เศรษฐกิจที่ลืมสังคม

ภาพข่าวโทรทัศน์รายงาน โฆษกรัฐบาลแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ภูมิอกภูมิใจในผลงานอนุมัติ 5 โครงการใหญ่ เพิ่มเงินสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่งเฟส 3 ยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมวงเงิน 92,000 ล้านบาท ช่วยทั้งคนมี คนจน หลายสิบล้านสุขถ้วนหน้าได้เงินฟรีเพื่อใช้จ่าย ลืมไปว่าล้วนเป็นเงินจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชนที่ต้องชดใช้หนี้สาธารณะต่อไปอีกนาน

อีกภาพหนึ่งเวลาต่อมา เหตุเกิดที่หน้าอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สองยายเฒ่ายืนแช่น้ำสูงท่วมเอวอยู่บนชานบ้านไม้ชั้นสอง อีกเมตรกว่าจะมิดหลังคา ร้องขอความช่วยเหลือมาหลายวันจนกำนันรับภาระไม่ไหว ออกมาพูดเสียงดังถึงใครไม่รู้ว่า “คนจนน่ะตะโกนดังแค่ไหนก็ไม่มีใครได้ยิน คนรวยน่ะ แค่กระซิบเบาๆ เขาก็หาทุกอย่างมาประเคน”

สองภาพบนจอ ฝ่ายหนึ่งกำลังดีอกดีใจจะได้เงินใช้คนละครึ่ง วันละ 300 บาทไปถึงสิ้นปี อีกฝ่ายหนึ่งสิ้นเนื้อประดาตัว พืชผลเสียหายล่มจม ขอแค่ให้ชีวิตวันนี้อยู่รอดก่อนเป็นพอ เป็นความย้อนแย้งในระดับรายบุคคล รายครอบครัว ขณะที่ความย้อนแย้งเชิงระบบยังคงดำเนินคู่ขนานกันไป

Advertisement

กระทรวงการคลังเห็นด้วยตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจนรัฐบาลให้ความเห็นชอบได้สำเร็จ โชว์ตัวเลขจำนวนผู้มีสิทธิ ผู้ใช้สิทธิไปแล้วเท่าไหร่ ยังเหลืออีกเท่าไหร่ รวมยอดเงินใช้จ่ายไปแล้วหลายหมื่นล้าน ช่วยกันใช้สิทธิหน่อยเดี๋ยวตกขบวน

ล้วนเป็นแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเพื่อผลทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมบริโภคนิยมและสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง อย่างน้อยก็ช่วยลดเสียงกล่าวหาโจมตีลง

ในเวลาเดียวกัน ด้านกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หน่วยงานรับผิดชอบการสร้างคนเพื่อผลในระยะยาว ความมั่นคง มั่งคั่งของประเทศชาติและประชาชนที่แท้จริง เสียงเรียกร้องของนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้ขาดแคลน กำลังเผชิญกับกระแสเทคโนโลยี วิกฤตเรียนออนไลน์ ดังให้ได้ยินขรมไปหมด

Advertisement

กลับไม่มีตัวเลขข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง ชัดเจน ลงถึงระดับรายบุคคล ใครขาดแคลนอะไร จำนวนเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน ต้องการความช่วยเหลืออะไร อย่างไร

สาเหตุหลักเพราะคนผู้มีอำนาจจนถึงหัวหน้าหน่วยราชการ ล้วนมุ่งหน้าไปทาง “เศรษฐกิจ” จนลืม “สังคม”

การประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรนัดสุดท้าย ก่อนสภาล่มและปิดลงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปรากฏคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่จัดการศึกษาออนไลน์ แสดงข้อมูลแค่ในระดับโรงเรียน

เดือนมิถุนายน 2564 เทอมหนึ่งโรงเรียนเปิดการเรียนในห้องเรียน (on site) 9,000 โรง หลังสถานการณ์โควิดระบาดรอบ 3 การเรียนในห้องเรียนค่อยๆ ลดลงมาเรียนออนไลน์เพิ่มขึ้น จนถึงเดือนกันยายนเรียนออนไลน์ 12,216 โรง

นักเรียนขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งไม่เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ หลายครอบครัวมีเครื่องเดียว ไม่เพียงพอ จนกระทบต่อคุณภาพการเรียนตกต่ำ หรือไม่ก็ไม่เข้าเรียน หายหน้าไปเฉยๆ จำนวนมาก

หนทางแก้ไขนอกจากช่วยเหลือตัวเอง ตัวใครตัวมันเป็นหลักแล้ว ในระดับหน่วยงานก็ด้วยการรณรงค์ขอรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา บริษัทห้างร้าน มีบริษัทกูเกิลแสดงความประสงค์ช่วยเหลือบางส่วนแล้ว

แต่จำนวนตัวเลขผู้ขาดแคลนที่สมบูรณ์ก็ยังไม่มีความชัดเจน จนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการท่านหนึ่งเสนอให้สำรวจเด็กลงลึกเป็นรายบุคคล หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายลง ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ควรทำตั้งแต่โควิด-19 ระบาดรอบแรกปี 2563

ครับ มาสายดีกว่าไม่มา

ถึงอย่างไร ข้อมูลตัวเลขที่ถูกต้องเหล่านี้ก็เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน การบริหารการศึกษาต่อไปอย่างแน่นอน

มีข้อเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์การสื่อสารให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุกคนทำนองเดียวกับที่เคยตั้งงบประมาณจัดซื้อหนังสือเรียนแจกฟรี หรือแจกแท็บเล็ตก็เคยมีมาแล้ว (One Tablet PC per Child)

แต่เพราะออกกฎหมายกู้เงิน กำหนดให้ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้เลยกลายเป็น “ม้าลำปาง” ละเลยการศึกษาและสังคม

ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีอำนาจและช่องทางที่สามารถทำได้ทันทีจากงบประมาณแผ่นดินในส่วนงบกลางนับแสนล้าน แต่เสียงตอบรับยังเป็นความเงียบอยู่เช่นเดิม

ฉะนั้น หากปล่อยให้ความย้อนแย้งเชิงระบบนี้ดำรงต่อไป หรือรอให้มีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคมเสียก่อน

ก็อย่าหวังเลยว่าประเทศไทย คนไทย เด็กและเยาวชนไทยจะเรืองรอง รุ่งโรจน์ชัชวาล จนสู้กับนานาอารยประเทศเขาได้

ในเมื่อเก่งแต่หาเสียงระยะสั้น แจกเงินไปซื้อปลาแทนที่จะให้เบ็ดไปตกปลาและดีแต่ขอรับบริจาค ไม่ยอมทุ่มเท ลงทุนสร้างคนในระยะยาวอย่างที่ปากว่าจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image