สนอง คลังพระศรี ดร.‘แคน’คนแรกของโลก ‘คนอีสานไปอยู่ตรงไหน ไม่เคยลืมหมอลำ’

ควันเพิ่งจางลงไปหมาดๆ สำหรับกระแสถล่ม #คลับเฮาส์toxic เหยียดคนอีสาน ในบรรยากาศเรียกร้องให้ ‘คนเท่ากัน’ ในทุกมิติ

ย้อนไปก่อนหน้านั้น การเสียชีวิตของหมอลำระดับตำนานอย่าง *พรศักดิ์ ส่องแสง* ก็เปิดสวิตช์ไฟให้สปอตไลต์สาดฉายไปยังท่วงทำนองที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้เพียงในเทปคาสเซต หากแต่ผนึกแนบแน่นอยู่ในวิถีชีวิตทุกย่างก้าวของชาวที่ราบสูง

มีพัฒนาการยาวนานนับพันปี จากมุขปาฐะ สู่หนังสือผูกที่จดจารบนใบลาน จนถึงเทปคาสเซต ซีดี กระทั่งยูทูบในวันนี้

ท่ามกลางความพยายามอนุรักษ์มหรสพโบราณหลายประเภทที่หวั่นสูญหาย ‘หมอลำ’ กลับสวนทางด้วยการก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่เคยต้องออกมาเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่หันมาสานต่อลมหายใจที่รวยริน หากแต่มีชีวิตเป็นของตัวเองอย่างภาคภูมิ

Advertisement

“คนอีสานไปอยู่ตรงไหน ไม่เคยลืมหมอลำ โหยหามันอยู่เสมอ ในปี 2537 หรือ 2538 หนุ่มชาวอีสาน ติดคุกที่สิงคโปร์ ถูกตัดสินประหารชีวิต เขาร้องขอ 3 เรื่องก่อนโดนประหาร คือ 1.ขอฟังพระสวด 2.ขอกินอาหารอีสาน 3.ขอฟังหมอลำ คนอีสานที่ไปทำงานต่างประเทศ เสียงลำ ช่วยความคิดถึงบ้าน มันไม่เคยจางหายไปเลย คนอีสานไปอยู่ไหน เสียงหมอลำก็ไปด้วย”

ผศ.ดร.สนอง คลังพระศรี อาจารย์ประจำสาขาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกเล่าเรื่องราวสะเทือนอารมณ์ที่สะท้อนถึงความผูกพันของคนอีสานกับหมอลำที่เปรียบเสมือนจิตวิญญาณที่ไม่อาจพรากจาก

Advertisement

ไม่เพียงเป็นเจ้าของผลงาน ‘หมอลำซิ่ง : กระบวนการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมดนตรีของหมอลำในภาคอีสาน’ ที่ถูกดาวน์โหลดสนั่นหวั่นไหวในช่วงเวลาใดก็ตามที่หมอลำและข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นอีสานกลายเป็นกระแส นักวิชาการท่านนี้ยังขึ้นคว้าคำนำหน้า ‘ดอกเตอร์’ คนแรกของไทยผู้เชี่ยวชาญในด้าน ‘แคน’ จากวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘แคน : ระบบเสียงและทฤษฎีการบรรเลง’ ซึ่งได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2557 อีกด้วย

ถ้าจะพูดให้ไกลกว่านั้น ย่อมกล่าวได้ว่าเป็น ดร.แคน คนแรกของโลก เมื่อเครื่องดนตรีดังกล่าวแพร่หลายเป็นวัฒนธรรมร่วมในไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังอยู่เบื้องหลังวงดังอย่าง ‘กู่แคนไทบ้าน’ ที่โดนหมายเรียกจากการ ‘ลำซิ่งปลดแอก’ บทเวทีชุมนุมซ้อมต้านรัฐประหารเมื่อปลายปี 2563 สนั่นห้าแยกลาดพร้าว

“ชื่อกู่แคน ไทบ้าน ผมก็เป็นคนตั้ง ชื่อหมอลำก้องศิลป์ ผมก็ตั้ง เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้รู้เห็นเป็นใจ (ในงานดนตรี) ของเขา”

นัดหมายขอฟังเลคเชอร์นอกห้องเรียน ในพื้นที่สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรดนตรีหลากหลายตั้งแต่หมอลำจนถึงคลาสสิก

ก่อนนั่งเก้าอี้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีอีกทั้งประวัติดนตรีไทยและพื้นบ้าน

หมุนเข็มนาฬิกาย้อนไปในวัยเยาว์ เกิดที่อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เติบโตมาพร้อมเสียงแคนและหมอลำจากวัดใกล้บ้าน โดยเลือกขลุกอยู่บนเวทีกับนักดนตรีมากกว่านั่งดูในฐานะผู้ชม

•ทำไมหมอลำ เนเวอร์ดาย อะไรที่ทำให้อยู่ยั้งยืนยง จากนับพันปีมาถึงยุค ‘ติ๊กต็อก’?

หมอลำบันทึกประวัติศาสตร์สังคมอีสาน อยู่ในวิถีชีวิตทั้งพิธีกรรม บุญประเพณีที่ทำให้ชีวิตคนอีสานมีชีวิตชีวา บรรยากาศการพบปะญาติพี่น้อง การกินดื่ม แล้วมีเสียงลำ เสียงพิณ เสียงแคน ผมหัดเป่าแคนมาตั้งแต่เด็ก มาอยู่ที่นี่ ก็สอนแคน ทำแคน ทำวงดนตรีพื้นบ้าน ไม่เคยหายไปจากความเป็นอีสานเลย สิ่งเฟหล่านี้คือชีวิตของดนตรีอีสานที่ปรับตัวไปได้ทุกยุคทุกสมัย นักศึกษาที่มาเรียน ส่วนใหญ่ก็เป็นคนอีสาน มาเรียนหลายประเภท มีแคน มีพิณ โปงลาง ก็สอนกันไป ปรับประยุกต์กันไป

เสน่ห์ของหมอลำอยู่ที่เสียงแคน เสียงลำที่พูดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่นำมาเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกัน ถือเป็นวัฒนธรรมสืบทอดมาตั้งแต่ยุคโบราณดึกดำบรรพ์ 2,500-3,000 ปีเลยก็ว่าได้ ยุคแรกเป็นเรื่องเชิงพิธีกรรม เป็นกลุ่มที่มาเรียกกันตอนหลังว่าหมอลำผีฟ้า หมอลำทรงในชุมชนที่นับถือผี เมื่อพุทธศาสนาเข้ามา เกิดวัฒนธรรมการอ่านหนังสือ มีทำนองเทศน์ ทำนองสวด จึงเป็นช่วงของการสร้างสรรค์ของการลำที่ขยายออกไปมากมาย พระสร้างสรรค์ทำนองการเทศน์ คนที่บวชเรียนแล้วก็เอาไปสานต่อ เสียงสวดในศาสนาพุทธมาเป็นหมอลำเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นหมอลำพื้น ที่เล่านิทาน ตำนานต่างๆ โดยผู้ชายเป็นคนลำ เพราะบวชเรียนจากวัด ต่อมาเป็นลำโจทย์แก้ เอาผู้ชายกับผู้ชายมาลำโต้กันเป็นกลอน เกี่ยวกับคดีโลก คดีธรรม อวดความรู้กัน

จากนั้น การลำโต้ประชันกลอนแบบหมอลำโจทย์แก้ ก็เข้าไปสู่การขับผญา แล้วกลายมาเป็นหมอลำกลอน ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง สายนี้ จากลำกลอนแล้วก็มาเป็นหมอลำกลอนซิ่ง นี่คือสายโต้ประชันกลอน ก็สนุกไปอีกแบบ ส่วนสายลำพื้นเล่าเรื่องก็พัฒนาไปเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน แบบลิเกลาว พูดบทบาทเป็นพระเอก นางเอก พ่อพระยา อะไรประมาณนั้น นอกจากนี้ยังมีหมอลำกกขาขาว หมอลำเพลิน หมอลำเพลินประยุกต์ ลูกทุ่งหมอลำ ลูกทุ่งอีสานด้วย

•ที่บอกว่าหมอลำเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สังคม เนื้อหาเด่นๆ ในแต่ละยุคเป็นอย่างไร?

ยุคที่หนุ่มอีสาน นิยมไปทำงานที่ซาอุฯ ก็เกิดกลอนลำแบบ เมียป๋าเพราะซาอุฯ ของสมโภชน์ ดวงสมพงษ์ หรือน้ำตาเมียซาอุฯ ของพิมพา พรศิริ ตอนหลังเพลงลูกทุ่งของมนต์แคน แก่นคูณ ก็เขียนพล็อตเกี่ยวกับหนุ่มสาวชาวอีสานที่เข้ามาทำงานในเมืองกรุง เพราะฉะนั้นพล็อตที่ดังมาก และทำมาตลอดคือ พูดถึงความหลังและความหวัง ความหลัง คือไทบ้าน คนที่อยู่ที่บ้านที่รอคอยอยู่ ความหวังคือคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หนุ่มแรงงานที่หวังว่าชีวิตจะดีขึ้น

•เนื้อหาแบบไหน ปล่อยมาแล้ว โดนทุกรอบ?

ผมว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จ ขึ้นอยู่กับจังหวะ แต่ความหลังและความหวัง ฮอตตลอด คิดว่าทุกวันนี้มีความพยายามหยิบความตลกโปกฮามาเขียนเป็นกลอนลำ หรือเอาเพลงมาสลับ ซึ่งหมอลำมีรูปแบบคือ 1.ลำล้วน 2.เพลงสลับลำ 3.ลำสลับเพลง อย่างพรศักดิ์เรียกว่า ลำสลับเพลง คือลำก่อนในท่อนแรก ท่อนกลางเป็นเพลง นี่เป็นสูตร วิธีการเขียนรูปแบบทำนอง ส่วนเนื้อหา ก็ตามหา อยู่ไกล คิดฮอด สื่อความถึงชีวิตมนุษย์

•แล้วอะไรที่ทำให้พรศักดิ์ ส่องแสง แตกต่าง โดดเด่น จนกลายเป็นตำนาน?

ก่อนที่พรศักดิ์จะดัง หมอลำไม่ได้เฟื่องฟูมากนัก มันก็มีเพลงลูกทุ่งหมอลำหรือเพลงลูกทุ่งอีสานออกมาบ้างประปราย ตอนที่พรศักดิ์ดังขึ้นมา มันเป็นยุคสตริง ยุค 80 ที่ดังมาก เพลงดังเพลงแรกของพรศักดิ์คือหนุ่มนานครพนม ในปี 2525 และ 2526 ที่ออกเพลงลอยแพ อันนี้เป็นเพลงลูกทุ่งอีสาน แต่พอมาปี 2529 ออกสาวจันทร์กั้งโกบ เป็นลำเต้ย อินโทรเป็นป๊อปสตริง ก็ติดหู แล้วส่งเข้าลำเต้ยที่เป็นจังหวะขับฟ้อนเกี้ยวหมอลำกลอนมันชัด มันเด่น และสามารถพุ่งขึ้นมาต่อสู้กับสตริงยุค 80 ได้ในช่วงนั้น กลายเป็นว่าพรศักดิ์นำร่องเพลงลูกทุ่งหมอลำในยุคนั้น คือ 2529-2530 ถูกนำไปประกบเทียบกับเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ในคอนเสิร์ต 2 คน 2 คม หลังจากนั้น พรศักดิ์เดินสายแสดงทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศ ทำให้บรรยากาศความเป็นลูกทุ่งหมอลำแพร่หลาย

ความเป็นลูกทุ่งหมอลำของพรศักดิ์ มีความชัดเจน เป็นยุคที่หยิบเอาทำนองการลำมาประสมประสานกับเพลง ก่อนนั้นมีไหม มี อย่างอีสานลำเพลิน ของอังคนางค์ คุณไชย ก็ทำมาแล้ว แต่บริบทของสาวจันทร์กั้งโกบเป็นบริบทของเพลงสตริง เลยพุ่งมาอย่างชัดเจน เสียงลำพวกนี้ก็แพร่ไปอยู่ในวงหมอลำโดยเฉพาะลำเรื่องต่อกลอนซึ่งมีช่วงเปิดวงด้วยเพลงก่อนจะลำเล่าเรื่อง จะเล่นเพลง ทั้งลูกทุ่ง ลูกทุ่งหมอลำหรือเพลงสตริง ช่วงนี้วัยรุ่นหนุ่มสาวจะมาออกันหน้าเวทีเพื่อมาชมช่วงนี้โดยเฉพาะ พอจบช่วงนี้ก็แยกย้าย เหลือคนแก่ที่สนใจฟังลำเป็นเรื่องชมต่อ

สำหรับหมอลำผู้หญิงที่มีชื่อเสียง แล้วแต่ประเภทลำ ถ้าเป็นสายศิลปินแห่งชาติ ก็แม่หวี ฉวีวรรณ ดำเนิน ซึ่งเป็นหมอลำหมู่ แม่บานเย็น รากแก่น ก็ดังในยุคของเขา สุภาพ ดาวดวงเด่น ศิริพร อำไพพงษ์ โบรักสีดำ ดังมาก จินตหรา พูนลาภ เต่างอย แต่ละยุค แต่ละสมัย มีหมอลำที่โดดเด่น โด่งดัง ทำให้หมอลำคนนั้นกลายเป็นตำนานของคนอีสาน ไม่เฉพาะพรศักดิ์ ส่องแสงเท่านั้น

•เมื่อหมอลำยังอยู่ แล้วช่างแคนมีผู้สืบทอดต่อเนื่องไหม สถานการณ์เป็นอย่างไร?

กระแสของแคนยังก้าวหน้าไม่หยุด ยังมีคนเรียน คนเล่น เยอะมาก ทั้งแคนเดี่ยว แคนวง มีนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาเรียน พยายามสื่อสารเสียงแคนผ่านแคนวงบ้าง ผสมนั่นผสมนี่บ้าง โดยเฉพาะเพลงอีสานอินดี้ จะเห็นว่าตั้งแต่กู่แคนเอาแคนมาเป็นเครื่องดนตรีหลัก เพลงในอีสานส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับแคนมากขึ้น สมัยก่อนเป็นโหวดและพิณเสียส่วนใหญ่ แต่พอกู่แคนเอามาทำแบบนี้ ทำให้เห็นว่าแคนสามารถทดแทนออร์แกน หรือคีย์บอร์ดได้ มันมีพลังของตัวเอง ไม่หายไปไหน และจะยังเชื่อมต่อกับโลกสมัยใหม่เรื่อยไป

ในชุมชนก็ยังมีช่างแคนเก่งๆ หลายที่ อย่างร้อยเอ็ด ยังมีช่างแคนที่มีชื่อเสียงที่ยังมีชีวิตอยู่หลายท่าน ในชัยภูมิ นาหว้า ก็มี รวมทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบไปแล้ว ก็ไปเรียน ไปฝึกทำแคนออกมาขาย อุตสาหกรรมแคนก็กว้างขวางอยู่ในโลกของหมอลำหมอแคน

•หัวใจของการทำแคนให้ไพเราะอยู่ที่ไหน?

ไม้ไผ่ ที่เรียกว่า ไม้เฮี้ยะ แต่บ้านเรามีปัญหาคือเมื่อปิดป่าก็ไม่สามารถหาไม้พวกนี้ได้ ต้องอาศัยเพื่อนบ้านคือลาวส่งมาขายปีละหลายคันรถ ไม้ชนิดนี้จึงอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องคิดการณ์ต่อไปว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ขาดแคลน ส่วนสำคัญของแคนคือลิ้น ที่ทำจากโลหะผสมระหว่างทองแดงกับเงินหลอมสูตรใครสูตรมัน แล้วแต่ว่าจะชอบแบบไหน เขาหาฟังแล้วเลือกซื้อ ราคาทุกวันนี้สูงขึ้น แต่ผมคิดว่าคุ้มถ้าเทียบกับเครื่องดนตรีตะวันตกแพงๆ กับการที่มีเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่มันสืบทอด มีคุณค่ากับสังคมมากมายขนาดนี้ ก็ยังน่าสนับสนุน เท่าที่ฟัง ตอนนี้ราคาพื้นฐานอยู่ประมาณ 8,000 บาทสำหรับช่างเก่งๆ ถ้าเป็นช่างเล็กๆ ก็จะราวๆ 3,500-5,000 บาท และขึ้นอยู่กับขนาดแคนด้วย ถ้าแคนใหญ่ราคาก็สูง

• ศิลปินเพลงกับการเมือง ยุคนี้มี R.A.D. ทำเพลงประเทศกูมี แล้วหมอลำเอี่ยวการเมืองบ้างไหม?

หมอลำคือการเมืองเลย ตั้งแต่กบฏในยุคหลังรัชกาลที่ 3 ที่เผยแพร่การมาถึงของผีบุญผ่านเรื่องมหาเวสสันดรชาดกบ้าง ผ่านนิทานลำต่างๆ บ้าง ความเป็นหมอลำมันเกิดขึ้นตอนนี้ คือชัดเจนขึ้นในช่วงหลังรัชกาลที่ 3 หมอลำเฟื่องฟูในอีสานเพราะมีการเผยแพร่นิทานที่เรียกว่าลำต่างๆ พูดถึงการมาของผู้มีบุญในยุคพระศรีอารย์ เกิดกบฏการเมืองที่ใช้หมอลำมาระดมผู้คน อีสานเกิดกบฏหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับหมอลำ อย่างกบฏผีบุญ ผู้วิเศษ หมอลำคือผู้วิเศษ ผู้มีบุญ มีปัญญา หลอมรวมความโดดเด่นของความเป็นผู้นำ ผญา (สุภาษิต) เยอะ

•ไหนๆ ก็ย้อนประวัติศาสตร์แล้ว คิดว่าเหตุใดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดแคนมาก และยังพระราชทานให้เซอร์ จอนห์น เบาว์ริ่งด้วย ทำไมไม่เป็นเครื่องดนตรีประเภทอื่น

ผมเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีวิสัยทัศน์ว่าแคนเป็นเครื่องที่ป๊อปปูลาร์ ทรงชูแคนขึ้นมาอวดฝรั่ง ทรงเป่าแคนและพระราชทานแคนให้เซอร์ จอนห์น เบาว์ริ่ง เป็นของขวัญ ฝรั่งชอบเสียงแคนเพราะสเกลคุ้นหู เป็นเพนทาโทนิกสเกล สอดรับเป็นป๊อปคัลเจอร์ มีความเป็นสากล เครื่องดนตรีตะวันตกมีสเกลเดียวกับเสียงแคน

•กลับมาที่ปัจจุบัน มองหมอลำในวันนี้แนวโน้มในอนาคตอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อทุกวันนี้ใครๆ ก็มีสื่อของตัวเองได้ในโลกออนไลน์?

เท่าที่ผมไปดูหมอลำเรื่องต่อกลอน ไม่นิยมลำเป็นนิทานเล่าเรื่องสักเท่าไหร่ กลายเป็นหมอลำคอนเสิร์ต เพลงไหนดัง ก็เอามาร้อง มาลำ คนที่ฟังลำ ก็เปลี่ยน ไม่ใช่คนเฒ่าคนแก่อย่างแต่เดิม กลายเป็นหนุ่มสาวฟังหมอลำถึงสว่าง เพราะรอเต้น รอฟ้อน สารพัดที่ออกมาในภาพของสื่อที่เห็นคนฟังลำเปลี่ยนไป ในส่วนของหมอลำกลอนพัฒนาเป็นหมอลำซิ่งที่ช่วงหนึ่ง ต่อมาเป็นหมอลำประยุกต์ ส่วนหมอลำเรื่องอย่างมนต์แคน แก่นคูน มีหลายเพลงดัง จนมีคนเข้าไปดูคลิปมากที่สุดของปีที่แล้ว หรือเพลงแนวใหม่ที่เรียกว่า อีสานอินดี้ ก็มีกลุ่มนักดนตรี วงกู่แคน เอาเนื้อ รูปแบบหมอลำมาปรับเป็นเพลง

เพราะฉะนั้น หมอลำปรับตัวเข้ากับยุคสมัย กับเทคโนโลยี ทำได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะยูทูบเป็นพื้นที่สื่อที่อยู่ในระนาบเดียวกันกับค่ายใหญ่ หรือค่ายอื่นทั่วโลก สู้ได้หมด ขึ้นอยู่กับว่า มันจะโดนหรือไม่โดน ตอนไหนอย่างไร แต่มันไม่หยุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image