‘นิราศหนองคาย’ 1 ใน 100 หนังสือดีควรอ่าน ที่เคยเป็นวรรณกรรมถูกสั่งเก็บ

หนังสือที่ได้รับรางวัล หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ ขณะเดียวกันหนังสือต้องห้ามที่ถูกสั่งเก็บ สั่งเผา ก็เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งเห็นได้เป็นช่วงๆ เช่นกัน

แต่มีหนังสือไม่กี่เล่ม ที่ได้รับ “เกียรติ” ทั้งสองอย่างข้างต้น เช่น “นิราศหนองคาย”

นิราศหนองคายเป็นผลงานเขียนของ ขุนพิพิธภักดี (ทิม) ข้าราชการในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนนิราศหนองคายขึ้นเมื่อครั้งไปราชการทหารในการปราบฮ่อ (ในช่วง พ.ศ.2418-19) กับทัพของ เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง)

pra01090259p2 (1)
เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) แม่ทัพหน้าในการปราบฮ่อที่เมืองหนองคายเป็นผู้ให้นายทิมแต่ง “นิราศหนองคาย”

เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำ “โครงการวิจัยเพื่อคัดเลือกและแนะนำหนังสือดีในรอบศตวรรษ” ในช่วง พ.ศ. 2540-41 เพื่อรวบรวมรายชื่อ “หนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน” โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ

Advertisement

เป็นหนังสือภาษาไทย ที่เขียนขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5

พ.ศ.2411 ถึง พ.ศ.2519 ที่จัดเป็นหนังสือประเภทคลาสสิก หรือโมเดิร์นคลาสสิกมีค่าควรอ่านได้ทุกยุคสมัย

เป็นหนังสือที่มีศิลปะในการเขียนและการใช้ภาษาที่ดี มีคุณค่าทางศิลปวรรณกรรม ครบถ้วนตามแนวทางของวรรณกรรมโลก หรือวรรณกรรมสากล

Advertisement

เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระแสดงออกถึงความริเริ่มสร้างสรรค์ ช่วยให้ผู้อ่านมีทรรศนะต่อชีวิตและต่อโลกกว้างขึ้น ได้รับความรู้ ความคิดอ่าน ความบันเทิงทางศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ ให้ผู้อ่านมีความฉลาด และมีความคิดแบบเสรี หรือมีจิตใจที่กว้างมากขึ้น เข้าใจชีวิตและสังคมมากขึ้น และช่วยให้ลดการมีอคติในเรื่องเผ่าพันธุ์ เพศ ฯลฯ

เป็นหนังสือที่มีความโดดเด่น มีอิทธิพลต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของผู้อ่านจำนวนมากในยุคหนึ่ง ที่มีผลสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ผลก็คือ “นิราศหนองคาย” ติดโผ “หนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน”

(ซ้าย) ประกาสเรื่องอ้ายทิมแต่งนิราศ จาก "ราชกิจจานุเบกษา" เล่มที่ 4-6 จ.ศ.1240-1241 (ขวา) หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยาค์) ผู้แต่งนิราศหนองคาย
(ซ้าย) ประกาสเรื่องอ้ายทิมแต่งนิราศ จาก “ราชกิจจานุเบกษา” เล่มที่ 4-6 จ.ศ.1240-1241 (ขวา) หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยาค์) ผู้แต่งนิราศหนองคาย

หากอดีตที่ผ่านนิราศหนองคายคือ “หนังสือต้องห้าม” ของทางราชการ เมื่อตีพิมพ์นิราศหนองคายออกเผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ. 2419 ก็เกิดเป็นคดีความสำคัญและผลกระทบกับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพหลายคน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาตัดสินคดีด้วยพระองค์เอง โดยทรงตัดสินว่านิราศหนองคายของขุนพิพิธภักดีนั้นเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีจะทำให้เสียการบังคับบัญชาขัดขวางต่อราชการแผ่นดิน และหมิ่นประมาทท่านผู้บัญชาการและท่านเสนาบดี จึงให้ลงโทษนายทิมด้วยการถอดบรรดาศักดิ์ เฆี่ยน 50 ที และจำคุก 8 เดือน

ส่วนหนังสือนิราศหนองคายนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เก็บต้นฉบับหนังสือ และหนังสือที่พิมพ์แล้วรอจำหน่ายมาเผาไฟ ส่วนหนังสือที่จำหน่ายไปแล้วให้เจ้าของฉีกทำลาย อย่าให้เป็นแบบอย่างสืบไป

พ.ศ.2459 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงประวัติหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (บรรดาศักดิ์ของขุนพิพิธภักดีเมื่อกลับมารับราชการอีกครั้ง) กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงขอต้นฉบับนิราศหนองคายมาคัดลอกลงสมุดไทยดำ 4 เล่มด้วยโดยเก็บไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร (หรือหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน) ต่อมาทายาทของขุนพิพิธภักดีขออนุญาตพิมพ์หนังสือนิราศหนองคาย แต่ทางการไม่อนุญาต อย่างไรก็ตาม มีการพิจารณาเนื้อหาของนิราศหนองคายและเห็นว่าแม้จะมีถ้อยคำรุนแรง ทว่าเรื่องราวน่าสนใจ จึงให้มีการคัดตัดตอนออกมาเป็นนิราศหนองคาย ฉบับตีพิมพ์ พ.ศ.2498 โดยนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์อีกหลายครั้งก็พิมพ์ตามฉบับนี้ทั้งสิ้น

(ซ้าย) "นิราศหนองคาย" ฉบับที่กรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์โท ขุนสันทัดวุฒิวิถี (สวน สันทัดวุฒิ) เมื่อ พศ.2498 (ขวาล่าง) "นิราศหนองคายวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา" โด สิทธิ ศรีสยาม (จิตร ภูมิศักดิ์) สำนักพิมพ์พี่น้องสองธรรม เป็นการพิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2518
(ซ้าย) “นิราศหนองคาย” ฉบับที่กรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์โท ขุนสันทัดวุฒิวิถี (สวน สันทัดวุฒิ) เมื่อ พศ.2498 (ขวา) “นิราศหนองคายวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา” โด สิทธิ ศรีสยาม (จิตร ภูมิศักดิ์) สำนักพิมพ์พี่น้องสองธรรม เป็นการพิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2518

พ.ศ.2504 เมื่อ “สิทธิ ศรีสยาม” (จิตร ภูมิศักดิ์) นำนิราศหนองคายฉบับพิมพ์ พ.ศ.2498 มาวิพากษ์ในหัวข้อว่า “นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา” ซึ่งทำให้นิราศหนองคายฟื้นคืนชีพอีกครั้งใน พ.ศ.2518 เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่งนำงานชิ้นนี้ของจิตรมาพิมพ์เผยแพร่ จนกระทั่งอีกหลายปีต่อมาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือ 100 เล่ม ที่ควรอ่านจาก สกว. (ซึ่งก็เนื่องจากงานของจิตร ภูมิศักดิ์ นั่นเอง)

วันนี้ประเด็นเรื่องการเผานิราศหนองคายถูกหยิบยกมากล่าวถึงอีกครั้งเมื่อ บุญเตือน ศรีวรพจน์ ใช้เป็นชื่อบทความ “‘นิราศหนองคาย’ ทำไมต้องเผา” เพื่อเขียนถึงนิราศหนองคายในปีที่ครบ 137 ปีที่หนังสือเล่มนี้ถูกเผา โดยตีพิมพ์ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์

ที่สำคัญคือบุญเตือนเทียบนิราศหนองคาย “ฉบับ พ.ศ.2498” กับ “ฉบับสมุดไทยดำ” ที่ทำให้รู้จัก “นิราศหนองคาย” มากขึ้น

ขอยกตัวอย่างที่บุญเตือนเขียนมาเรียกน้ำย่อยสักตอนหนึ่งที่กล่าวถึงการเตรียมบำเหน็จสำหรับปูนรางวัลแก่ทหารในทัพของเจ้าพระยามหินทรฯ ฉบับ พ.ศ.2498 เขียนว่า

“และท่านทำแหวนเพชรสิบเอ็ดวง หวังใจจงแจกจ่ายนายทหาร

ที่ไม่คิดย่อหย่อนเข้ารอนราญ ใครทำการศึกสำเร็จบำเหน็จมือ

ทั้งเสื้อผ้าสารพัดท่านจัดครบ ถ้าใครรบจริงจริงไม่วิ่งตื๋อ”

ขณะที่ฉบับสมุดไทยดำเขียนว่า

“แลท่านทำแหวนเพชรสิบเอ็ดวง หวังใจจงแจกจ่ายนายทหาร

ที่ไม่คิดย่อหย่อนเข้ารอนราญ ใครทำการศึกสำเร็จบำเหน็จมือ

แต่อย่างไรก็ไม่ได้ไปรบแน่ เพราะท้อแท้ไม่อยากไปหมีใช่หฤๅ

แต่ทำแหวนเพชรไปให้เขาฦๅ พอเสร็จทัพกลับใส่มือนางละคร

ไม่ต้องเสียแหวนเพชรสักเม็ดเดียว ทำกราวเกรียวพอให้ชื่อฦๅกระฉ่อน

แต่ขี้ขลาดยังอาจมาทำกลอน หวังจะอวดราษฎรให้เลื่องฦๅ

ทั้งเสื้อผ้าสารพัดท่านจัดครบ ถ้าใครรบจริงจริงไม่วิ่งตื๋อ”

ส่วนที่ข้อคิดเห็น การวิเคราะห์ต่างๆ ที่ บุญเตือน ศรีวรพจน์

อธิบายไว้อย่างไร ขอท่านได้โปรดติดตามจากนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม”

นิราศหนองคาย หนังสือต้องห้าม ความรู้ที่ถูกกักขัง กำลังจะปรากฏแก่สาธารณะ ณ บัดนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image