ยุโรประส่ำ โลกผวา ‘โอไมครอน’ โควิดกลายพันธุ์

‘โมเดอร์นา’ ผู้พัฒนาวัคซีนโควิดสัญชาติอเมริกัน ประกาศแล้วว่า จะพัฒนาวัคซีนบูสเตอร์เพื่อสู้กับไวรัส ‘โอไมครอน’ โดยเป็นหนึ่งใน 3 กลยุทธ์เพื่อจัดการกับภัยคุกคามใหม่ รวมถึงการเพิ่มโดสยาในวัคซีนให้สูงขึ้น

ยุโรประส่ำ โลกผวา ‘โอไมครอน’ โควิดกลายพันธุ์

ฝ่าฟันมานานนับปีสำหรับสถานการณ์ไวรัสอุบัติใหม่ โควิด-19 ที่ขยันกลายพันธุ์แม้มีวัคซีนหลากยี่ห้อมาต่อกรจนบรรยากาศโลกค่อยๆ ผ่อนคลาย หลายประเทศกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงความปกติสุขในยุคก่อนหน้า

ทว่าล่าสุด มวลมนุษยชาติต้องหันมาสะดุ้งกันอีกระลอก เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 เรียกว่า ‘โอไมครอน’ ซึ่งจากหลักฐานต่างๆ บ่งชี้ว่าไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อันตรายในทางระบาดวิทยา ขอให้ประเทศต่างๆ ปรับปรุงความพยายามในการเฝ้าระวังและลำดับเหตุการณ์ เพื่อให้เข้าใจถึงการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์นี้ ในขณะที่ยุโรปก็กำลังระส่ำจากการกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง

27 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกถ้อยแถลง

‘พี่น้องประชาชนที่รักครับ…ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งหน่วยงานคัดกรองที่จุดต่างๆ ให้จับตามองและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ และรายงานข้อมูลต่อผมในทันทีที่มีความคืบหน้า หรือมีข้อเสนอแนะด้านมาตรการต่างๆ ซึ่งหากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการปรับมาตรการ โดยเฉพาะการเดินทางเข้าออกประเทศ จากประเทศต่างๆ ที่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ ผมก็จะสั่งการให้ดำเนินการโดยทันที โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนสูงสุด’

Advertisement

เป็นห้วงเวลาที่ต้องกลับมาจับจ้องแบบห้ามกะพริบตาอีกครั้ง โดย‘ทีมข่าวต่างประเทศ’ มติชน เกาะติดทุกความเคลื่อนไหวอย่างไม่คลาดสายตา

B.1.1.529 ‘โอไมครอน’
เชื้อกลายพันธุ์ที่‘น่ากังวล’

หลัง WHO ประกาศให้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 เรียกว่า ‘โอไมครอน’ ก็ต้องมาทำความรู้จักให้ลึกลงไป โดยไวรัสสายพันธุ์นี้จัดเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่ WHO จัดให้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลต่อจากอัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า ขณะที่อีก 2 สายพันธุ์ ได้แก่ แลมบ์ดา และมิว ที่สร้างความกังวลก่อนหน้านี้ยังเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ (Variant of Interest) ซึ่งมีความร้ายแรงต่ำกว่า

ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อันตรายในทางระบาดวิทยา และขอให้ประเทศต่างๆ ปรับปรุงความพยายามในการเฝ้าระวังและลำดับเหตุการณ์ เพื่อให้เข้าใจถึงการแพร่กระจาย

Advertisement

ส่งผลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมที่สมบูรณ์ และนิยามข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยังฐานข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น ฐานข้อมูลกลาง
โควิด-19 โลก หรือ GISAID ซึ่งสามารถประสานงานกับประชาคมระหว่างประเทศได้ รวมถึงสามารถดำเนินการตรวจสอบภาคสนาม และประเมินผลในห้องปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์นี้ในทางระบาดวิทยา

สำหรับรายงานเคสผู้ติดเชื้อ/คลัสเตอร์แรกเริ่มที่เกี่ยวข้องกับเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลไปยัง WHO ผ่านกลไกของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) ซึ่งสามารถประสานงานกับประชาคมระหว่างประเทศได้ รวมถึงสามารถดำเนินการตรวจสอบภาคสนาม และประเมินผลในห้องปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์นี้ในทางระบาดวิทยาและความรุนแรง อีกทั้งยังมีมาตรการด้านสาธารณสุขและสังคมที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการวินิจฉัย การตอบสนองต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันชนิดสลายไวรัส หรือลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า เบลเยียมได้ตรวจพบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นครั้งแรกของยุโรป และได้ประกาศมาตรการมุ่งควบคุมการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ของการติดเชื้อโควิดอย่างรวดเร็ว

ยุโรปติดโควิดเพิ่ม 11 เปอร์เซ็นต์
‘หนาวเย็น-ต้านวัคซีน’เป็นเหตุ ดับทะลุ 1.5 ล้าน

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ยอดติดเชื้อใหม่ทั่วยุโรปในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมามีสูงถึงกว่า 2.4 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ประเทศที่ติดเชื้อเพิ่มสูงสุดคือเยอรมนี เพิ่มขึ้นถึง 31 เปอร์เซ็นต์ ยอดติดเชื้อและยอดเสียชีวิตในยุโรปคิดเป็นกว่า
60 เปอร์เซ็นต์ของยอดติดเชื้อและยอดเสียชีวิตรวมทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญนอกจากเป็นเชื้อเดลต้าแล้ว ยังเป็นเพราะยังมีการต่อต้านวัคซีนในบางประเทศ และอากาศที่หนาวเย็นลงส่งผลให้คนพากันไปรวมตัวในอาคารอีกครั้ง

ประเทศอย่าง สโลวาเกีย, สาธารณรัฐเช็ก, เนเธอร์แลนด์ และฮังการี รายงานยอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงเป็นสถิติใหม่ของแต่ละประเทศในวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งทำให้ศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (อีซีดีซี) หน่วยงานด้านสาธารณสุขของอียู เสนอให้ชาติในอียูฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมด โดยให้ความสำคัญต่อผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปเป็นลำดับแรก โดยอ้างอิงประสิทธิภาพของ
บูสเตอร์จากข้อมูลในอิสราเอลและอังกฤษ ในขณะที่อีกหลายประเทศ รวมทั้งออสเตรียและฝรั่งเศสต้องหันกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้ง

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ล่าสุด ยุโรปมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวมกว่า 1.5 ล้านคนแล้ว นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปเริ่มกลับไปใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มข้นอีกครั้ง

ในขณะเดียวกันทางการเยอรมนีได้ประกาศว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในเยอรมนีทะลุ 100,000 คนแล้ว แม้เยอรมนีรับมือกับการระบาดใหญ่ก่อนหน้านี้ได้ดีกว่าหลายประเทศในยุโรป แต่เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเตียงผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลเต็มอย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลของสถาบันโรเบิร์ต คอช หน่วยงานด้านสุขภาพของเยอรมนี เปิดเผยว่า อัตราการติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ยังอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 419.7 คนต่อประชากร 100,000 คน

อนามัยโลกเตือน
เดลต้าทำวัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อได้แค่ 40%

ท่ามกลางห้วงเวลาที่น่ากังวลนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก แถลงยอมรับว่ายุโรป กำลังกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง พร้อมกับเตือนให้ทุกประเทศได้ตระหนักว่า ยังไม่มีประเทศใดในโลกหลุดพ้นจากวงจรการระบาด โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการระบาดของวัคซีนลดน้อยลง

“ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ก่อนหน้าที่เชื้อเดลต้าจะมาถึง วัคซีนสามารถป้องกันการระบาดได้ราว 60 เปอร์เซ็นต์ แต่พอเป็นเดลต้าความสามารถดังกล่าวลดลงเหลือแค่ราว 40 เปอร์เซ็นต์”

ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอเตือนต่อว่า ที่น่ากังวลคือความเข้าใจผิดที่ว่า การฉีดวัคซีนคือการหยุดการแพร่ระบาด ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วมักเกิดความเข้าใจผิดๆ ว่าไม่จำเป็นต้องระมัดระวังตัวอีกแล้ว แต่ในความเป็นจริง วัคซีนช่วยรักษาชีวิตคนไว้ได้ด้วยการป้องกันการป่วยหนัก หรือเสียชีวิต แต่ไม่ได้ป้องกันการแพร่ระบาดได้ทั้งหมด ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วก็ยังคงต้องระวังตัวไม่ให้ติดเชื้อ เพราะเมื่อติดเชื้อก็จะยังสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื้อที่แพร่ระบาดอยู่เป็นเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ที่ทำให้ประสิทธิภาพเชิงป้องกันของวัคซีนลดลง” ผอ.WHO กล่าว

อังกฤษระงับเที่ยวบิน 6 ชาติ‘แอฟริกา’

ย้อนไปก่อนการประกาศให้ B.1.1.529 มีนาม ‘โอไมครอน’ เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลอย่างเป็นทางการ อังกฤษหันกลับมาใช้มาตรการห้ามนักเดินทางจากหลายประเทศในแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศใหม่อีกครั้ง หลังมีคำเตือนเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ดังกล่าวซึ่งพบในประเทศแอฟริกาใต้

ซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ ประกาศว่า นับตั้งแต่เที่ยงของวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายนเป็นต้นไป 6 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้จะถูกบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อกลุ่มประเทศสีแดง โดยจะมีการระงับเที่ยวบินจากประเทศดังกล่าวมายังอังกฤษเป็นการชั่วคราว

ประเทศที่รับผลกระทบจากการประกาศขึ้นบัญชีแดงของอังกฤษในครั้งนี้ ประกอบด้วย แอฟริกาใต้ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท และเอสวาตีนี (สวาซีแลนด์)

มาตรการคุมเข้มของอังกฤษมีขึ้นหลังจากที่มีผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งออกมาเตือนว่า พบไวรัสกลายพันธุ์ที่เรียกว่า B.1.1.529 ซึ่งถูกระบุว่าเป็นการกลายพันธุ์ที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยพบ ซึ่งทำให้หวั่นวิตกว่าวัคซีนที่มีอยู่อาจไม่สามารถรับมือได้

WHO คาดยอดดับจากโควิดในยุโรปเพิ่ม 7 แสน
ภายใน มี.ค.ปีหน้า

จากสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังดำเนินไป องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยุโรปเพิ่มขึ้นอีก 700,000 ราย ภายในเดือนมีนาคม 2565 หลังจากที่ยุโรปได้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดครั้งใหม่ในขณะนี้ เป็นการปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการ ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 200,000 คน ภายในไม่กี่วันของ WHO

ทั้งนี้ ทวีปยุโรปภายใต้คำจำกัดความของ WHO มีประเทศรวม 49 ประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทะลุ 1.5 ล้านคนแล้ว แต่ WHO เตือนว่า จำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องไอซียูจะเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในเดือนมีนาคมปีหน้า

WHO ยังเตือนว่าโควิดจะเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในยุโรป เมื่อตัวเลขจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ทำให้คาดว่าจำนวนรวมอาจทะลุ 2.2 ล้านคนในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า โดยขณะนี้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในยุโรปเฉลี่ยอยู่ที่ 4,200 คนต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ถึง 2 เท่า

ดร.ฮานส์ คลุ้ก ผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปของ WHO ร้องขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว เพราะทุกคนมีโอกาสและมีความรับผิดชอบที่จะช่วยกันหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรม รวมถึงการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นได้ ทั้งยังช่วยจำกัดภาวะดิสรัปชั่นในสังคมและเศรษฐกิจในช่วงฤดูหนาวอีกด้วย

คณบดีแพทย์ศิริราชแนะ‘ไม่ต้องตกใจ’
รามาฯชี้รอพิสูจน์ 3-6 เดือน

จากต่างแดนมาโฟกัสความเคลื่อนไหวในไทย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีการพบสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 แต่ไม่ต้องตกใจเพราะมีการถอดรหัสพบ 10 ราย เจอที่บอสวานา 3 ราย ฮ่องกง 1 ราย แอฟริกาใต้ 6 ราย มีการกลายพันธุ์ 32 จุดเกี่ยวข้องกับสไปค์โปรตีน เป็นตัวเข้าสู่เซลล์ทำให้เกิดการติดเชื้อ ทำให้นำสไปค์โปรตีนไปผลิตวัคซีน แต่หากตรงนี้กลายพันธุ์จนเพี้ยนอาจทำให้เชื้อหลุดลอดจากวัคซีนที่ฉีด แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายงานเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องต้องติดตาม

ด้าน ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ขณะนี้พบการระบาดของไวรัส B.1.1.529 แค่ 10 คนในแอฟริกา และมีการเดินทางมาต่อที่ฮ่องกง 1 คนเท่านั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบมีการกลายพันธุ์ 32 ตำแหน่ง แต่ในส่วนนี้จะมีผลให้เชื้อรุนแรงขึ้นหรือไม่ต้องใช้เวลาให้ไวรัสได้พิสูจน์กับสิ่งแวดล้อมประมาณ 3-6 เดือน ค่อยกลับมาดูอีกครั้งหนึ่ง หากเชื้อเข้ากับสิ่งแวดล้อม แข็งแรงแพร่เร็ว เชื้อนั้นก็ยังคงอยู่ แต่หากการกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้อ่อนแอลง หรือเชื้อพิการ เชื้อไวรัสนั้นก็จะค่อยๆ หายไปกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งหมดนี้คืออีกสถานการณ์ต้องติดตามอย่าให้คลาดสายตา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image