‘อาคม’ เผยรัฐบาลไม่ประมาท จับตาดู ‘โอไมครอน’ เข้มมาตรการป้องกัน ลดผลกระทบทาง ศก.

คอฟฟี่เบรก : ปิดไม่มิด เรื่องฮอตทางเศรษฐกิจเวลานี้ ไม่พ้นรัฐบาลจะออกมาตรการ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

‘อาคม’ เผยรัฐบาลไม่ประมาท จับตาดู ‘โอไมครอน’ เข้มมาตรการป้องกัน ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ยันมีเงินใน พ.ร.ก.กู้เงินเหลืออีก 2.5 แสนล้านบาท รองรับการเยียวยาได้หากจำเป็น

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Bangkok Post International Forum 2021 “Unleashing The Future: A Glimpse into 2022 and Beyond” ถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาที่ชัดเจนถึงความรุนแรงของสายพันธุ์ดังกล่าว โดยด่านแรกคือ การป้องกันการติดเชื้อ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับและให้แนวทางป้องกันผ่านมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น การตรวจนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยจากใช้เอทีเค เป็นอาร์ที-พีซีอาร์ ส่วนมาตรการอื่นๆ ขณะนี้รัฐบาลก็พยายามสร้างสมดุลทั้งการป้องกันการแพร่ระบาดและมาตรการด้านเศรษฐกิจควบคู่กัน ซึ่งจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศก็ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่งบประมาณในการดูแลบรรเทาผลกระทบหากกรณีเกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นนั้น ยังมีเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมเหลืออีก 2.5 แสนล้าน ซึ่งสามารถโยกเงินใน พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้ใช้แก้ปัญหาได้ในกรณีมีความจำเป็นด้านอื่นๆ

“การระบาดของโอไมครอนยังต้องรอประเมินความรุนแรงของเชื้อจากทางสาธารณสุข แต่เบื้องต้นคือเชื้อมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ประมาทและได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงแล้ว ซึ่งภายใต้ความเสี่ยงนี้จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่นั้นยังต้องรอดูก่อน” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า ขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีเม็ดเงินจากงบประมาณของภาครัฐอีก 3.1 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบลงทุนของหน่วยงานรัฐ 6 แสนล้านบาท งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 3 แสนล้านบาท ซึ่งงบลงทุนทั้ง 2 ส่วนนี้ได้เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายให้ได้ตามแผน รวมถึงยังมีงบจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ยังเหลืออยู่ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งก็จะมีเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแน่นอน นอกจากนี้ยังมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ ในช่วงต้นปี 2565 คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้พิจารณาและจะประกาศโครงสร้างภาษีที่จะใช้ ซึ่งคาดว่าจูงใจนักลงทุน และทำให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพิ่มขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image