ทีมวิจัยเอกชนพบสารพันธุกรรม ‘หวัด’ ในโอไมครอน ชี้ทำให้ระบาดง่ายขึ้น

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ทีมวิจัยเอกชนพบสารพันธุกรรม ‘หวัด’ ในโอไมครอน ชี้ทำให้ระบาดง่ายขึ้น

รอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ทีมวิจัยที่นำโดย เวนกี สุนทรราชัน นักวิจัยจากบริษัท เอ็นเฟอเรนซ์ บริษัทวิจัยในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ แถลงถึงผลการวิจัยเชิงพันธุกรรมของเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน ว่าตรวจสอบพบชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อโรคหวัดทั่วไปกลายเป็น 1 ในการกลายพันธุ์ของโอไมครอน โดยเชื่อว่าการกลายพันธุ์โดยอาศัยส่วนพันธุกรรมของไวรัสอื่นเช่นนี้เป็นไปเพื่อให้โอไมครอนสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจจับของภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ และยังอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้โอไมครอนแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

ทีมวิจัยระบุว่า ส่วนพันธุกรรมที่พบรู้จักกันในชื่อ “เอชโควี-229อี” (HCoV-229E) ไม่เคยตรวจพบมาก่อนในการจำแนกพันธุกรรมของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเชื้อกลายพันธุ์ตัวไหน หรือเชื้อดั้งเดิมก็ตาม แต่พบย่อยครั้งแรกจากการจำแนกพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดทั่วไป และในตัวคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งก่อให้เกิดโรคเอดส์

งานวิจัยชิ้นนี้เชื่อว่าเป็นไปได้ที่ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีสามารถติดเชื้อโควิด-19 และเชื้อหวัด พร้อมๆ กัน เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ส่งผลให้เกิดการหยิบยืมหน่วยพันธุกรรมดังกล่าวขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image