ส่องสถานการณ์ประชากรไทยลดลง ใกล้วัน ‘คนเกิด-คนตาย’ เท่ากัน

ส่องสถานการณ์ประชากรไทยลดลง

ส่องสถานการณ์ประชากรไทยลดลง ใกล้วัน ‘คนเกิด-คนตาย’ เท่ากัน

เคยคาดการณ์ไว้ว่าประเทศไทยจะมีประชากรถึง 70 ล้านคน แต่สถานการณ์วันนี้อาจไม่เป็นอย่างนั้น หาคำตอบในงานครบรอบ 50 ปี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม จัดภายใต้หัวข้อ “50 ปี: ประชากรที่เปลี่ยนไป”

 ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ต้องถือว่าสถานการณ์ประชากรไทยเปลี่ยนแปลงไปมากมาย อย่างเทียบกับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว หรือปี พ.ศ.2513 ไทยมีประชากร 34.4 ล้านคน จนมาปี 2564 ไทยมีประชากรเพิ่มเป็น 66.5 ล้านคน

ทั้งนี้ เมื่อดูในรายละเอียดจะพบการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรไทย จากปรากฏการณ์คนเกิดน้อยลง และคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น โดยข้อมูลพบว่า ในอดีตไทยมีสัดส่วนประชากรเด็กเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 45 หรือเกือบครึ่งของประชากรทั้งหมด แต่ปัจจุบันประชากรเด็กมีสัดส่วนร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด ขณะเดียวกันแต่ก่อนประชากรสูงอายุมีน้อยมาก ประมาณร้อยละ 4.9 แต่ปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 18 หรือเรียกว่าเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แล้ว และอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

  “นับเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่อัตราการเกิดของคนไทยลดต่ำกว่า 6 แสนคนต่อปี โดยข้อมูลปี 2563 พบว่ามีเด็กไทยเกิด 5.8 แสนคนต่อปี และคาดการณ์ว่าจะมีทิศทางลดลงไปอีก โดยเฉพาะในเวลาไม่เกิน 10 ปีจากนี้ อัตราการเกิดคนไทยจะลดลงต่ำกว่า 5 แสนคนแน่นอน ขณะที่ปัจจุบันไทยมีอัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี หรือแทบจะไม่เพิ่มเลย ต่างจากในอดีตอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี”

Advertisement
แนวโน้มอัตราการเกิดและอัตราการตายของประเทศไทย จะมาเท่ากันประมาณปี 2567

ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ยังฉายสไลด์ข้อมูลสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และสำนักบริการการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย พบแนวโน้มอัตราการเกิดและอัตราการตายของประเทศไทย จะมาเท่ากันประมาณปี 2567 จากนั้นอัตราการตายจะสูงกว่าอัตราการเกิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าตกอกตกใจแต่อย่างใด เพราะอัตราการเกิดที่น้อย ไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของการเกิด เช่น การเกิดจากความตั้งใจ เกิดอย่างมีแผน เพื่อปูทางสู่การเป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต

ส่วนข้อกังวลว่าเกิดน้อยแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต  ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์มองว่า สามารถหาแรงงานประเทศเพื่อนบ้านมาทดแทนได้ อีกทั้งใช้ เครื่องจักร เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์มาเสริมได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ประชากรรุ่นเกิดเกินล้านคนต่อปี หรือเกิดระหว่างปี พ.ศ.2506-2526 พบว่า 2 ปีข้างหน้า จะทยอยเข้าสู่วัยสูงอายุจนหมดปีละเกือบ 2 ล้านคน ในะเวลา 20 ปี จะทำอย่างไรต่อไป

ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image