สัญญาณ เลือกตั้ง ต้องการ เปลี่ยน รุนแรง ข้ามปี

คอลัมน์หน้า 3 : สัญญาณ เลือกตั้ง ต้องการ เปลี่ยน รุนแรง ข้ามปี

แม้ว่าจะเป็นเพียงสนามเลือกตั้งซ่อม แต่ดูเหมือนแต่ละพรรคการเมืองต่างขยันขันแข็งในการต่อสู้

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า 5 อดีตแกนนำ กปปส. ที่เป็น ส.ส. นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากต้องโทษ ทำให้เขตเลือกตั้งที่ 6 จ.สงขลา และเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ชุมพร ต้องเลือกซ่อมภายใน 45 วัน

ปรากฏว่า 2 อดีตแกนนำ กปปส. นั้นเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องส่งคนรักษาเก้าอี้

แต่พรรคพลังประชารัฐก็หมายปองเก้าอี้ทั้ง 2 ตัวนี้เหมือนกัน

Advertisement

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มองว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่น่าจะลงแข่งกัน ซึ่งไม่ตรงกับมุมมองของพรรคพลังประชารัฐ

กลายเป็นวิวาทะเรื่อง “มารยาททางการเมือง” ขึ้น

เมื่อถึงเวลาสมัครรับเลือกตั้งซ่อม 2 เขต 2 จังหวัด พรรคพลังประชารัฐมีมติส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงชิงชัยในเขต 6 จังหวัดสงขลา เพียงจังหวัดเดียว

Advertisement

พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลที่ไม่ส่งชิงชัยในเขต 1 จังหวัดชุมพรว่า นายชุมพล จุลใส รับปากจะโยกเข้าพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

ทำให้ นายชวลิต อาจหาญ หรือ ทนายแดง ขยับจะลาออกจากพรรคเพราะน้อยใจ กระทั่งวันต่อมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ประชุมทีมงานแล้วมีมติใหม่

ส่งนายชวลิต หรือทนายแดง ลงชิงชัยเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ชุมพร ด้วย โดยอ้างว่าประชาชนในพื้นที่เรียกร้องมา
กลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในพื้นที่เลือกตั้งซ่อม

พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ ต้องห้ำหั่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐไม่ได้มอบให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค เป็นแม่ทัพ หากแต่กระจายให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นแม่ทัพสู้เลือกตั้งในพื้นที่ จ.สงขลา และมอบให้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นแม่ทัพสู้เลือกตั้งในพื้นที่ชุมพร

สะท้อนคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงแม่ทัพจาก ร.อ.ธรรมนัส ไปเป็นคนอื่นนั้น เป็นเพราะเหตุใด

เป็นผลพวงจากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐก่อนหน้านี้หรือไม่

นี่คือสัญญาณ

เช่นเดียวกับสนาม กทม. ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวคึกคักเกี่ยวกับการเปิดตัวผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ต่อมา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติของ นายสิระ เจนจาคะ ว่าต้องพ้นจาก ส.ส. และเลือกตั้งซ่อมเขต 9 กทม. ภายใน 45 วัน

ทำให้สนามเลือกตั้ง กทม. กลายเป็นที่จับตามองอีกเช่นกัน

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หลังจากที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงสมัครในนามอิสระ และ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประกาศลงชิงในนามของพรรคประชาธิปัตย์ แล้ว ทุกฝ่ายต่างถามหาคู่แข่งรายอื่นๆ

ถามหาตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และอื่นๆ

คำตอบจากพรรคเพื่อไทยคือ ไม่ส่งผู้สมัคร

คำตอบจากพรรคพลังประชารัฐ คือ ยังไม่แน่นอน

ขณะที่พรรคก้าวไกลนั้น ยืนยันว่า ส่งแน่ โดยจะเปิดตัวต้นปีหน้า ด้วยแนวคิด 1 ต่อ 4 ต่อ 8

หมายถึง ผู้ว่าฯกทม. 1 คน รองผู้ว่าฯกทม. 4 คน และทีมอีก 8 คน

ความเคลื่อนไหวล่าสุด นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตแกนนำ กปปส. ยื่นลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ เพื่อลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ส่วนพรรคพลังประชารัฐนั้น ยังไม่มีคำตอบ มีเพียงกระแสข่าวต่างๆ ที่ว่าจะมีคนนั้นมาลง หรือจะสนับสนุนคนอื่นๆ แต่ไม่ส่ง

อาการอึกอักเช่นนี้ก็เป็นสัญญาณ

ความเคลื่อนไหวในการเลือกตั้งซ่อม และเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นี้ สะท้อนภาพความคึกคักของผู้คนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งแล้ว

ทั้งว่าที่ผู้สมัคร และประชาชนผู้หย่อนบัตร

น่าสังเกตแนวนโยบายหาเสียงของการเลือกตั้งซ่อม และการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็พอมองเห็นแนวทางความต้องการของประชาชน

หลายพรรคชูนโยบาย “เปลี่ยน” ในการหาเสียง

นโยบายที่ชูประเด็น “เปลี่ยน” นี้เอง ที่ทำให้ทราบว่า สังคมไทยต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับประเทศ

การชูนโยบายเหล่านี้ก็เป็นอีกสัญญาณ

ขณะที่รัฐบาลตอนนี้กำลังเผชิญหน้ากับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเบื้องต้นมีแนวโน้มไปทางที่ดีว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว

ยังมีข้อน่าพอใจอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วเกิน 100 ล้านโดส และกำลังจะเปิดทางให้ ประชาชนบูสต์โดสเข็ม 4

ยังมีข่าวดีอีกว่า บรรดาบริษัทยาต่างผลิตวัคซีน และยาเม็ด เพื่อรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และมีความหวังว่าจะได้ใช้ในเร็ววัน

กระแสข่าวที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้รัฐบาลหวังว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจของชาติกลายเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมืองในช่วงท้ายๆ ของวาระรัฐบาล

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะหมดวาระลงในปี 2566 แต่ตามธรรมชาติการเมืองไทย ยิ่งเข้าสู่ปีท้ายๆ ของรัฐบาลก็จะยิ่งเสี่ยง

สถานการณ์ทางการเมืองในรอบปีที่ผ่านมาคงเดาไม่ยากว่า สังคมไทยอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

หากรัฐบาลสามารถทำให้ปี 2565 เป็นปีที่เศรษฐกิจพลิกจากฟุบไปเป็นฟื้นได้ ย่อมส่งผลดีต่อรัฐบาล และทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บนตำแหน่งได้ครบวาระตามที่ตั้งใจ

แต่ถ้ารัฐบาลยังทำไม่ได้ ความรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงจะมีมากยิ่งขึ้น

จุดหักเหในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นรอ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในปี 2565

เนื่องเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดว่า บุคคลจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 8 ปี

ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีถึงปี 2565 ประเด็นการดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้จะกลายเป็นปัญหาที่ร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นดังกล่าวมีข้อโต้แย้งกันหลากหลาย

บ้างก็ว่าการนับเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องนับตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ คือ นับหลังปี 2560

บ้างก็ว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนามิให้ใครเป็นนายกฯเกิน 8 ปี จึงต้องนับรวมย้อนหลังไปก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย

ไม่ว่าจะข้อสรุปจะเป็นเช่นไร แต่นี่คือจุดล่อแหลมทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ในปี 2565

เท่ากับว่าปี 2565 เก้าอี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่มั่นคงนัก

เหตุการณ์ในช่วงท้ายปี 2564 สะท้อนภาพว่า สังคมต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

สะท้อนภาพจากการหาเสียงในการเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองชูนโยบาย “เปลี่ยน”

สะท้อนภาพจากความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ที่เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถเปลี่ยนสถานการณ์จากสภาพปัจจุบันที่ถูกกระหน่ำด้วยโรคระบาดโควิด-19 มายาวนานไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ย่อมทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล มีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้น

แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถเปลี่ยนประเทศให้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ เสียงเรียกร้องให้ “เปลี่ยนรัฐบาล” หรือ “เปลี่ยนตัวบุคคล” ย่อมมีสูง

ยิ่งเมื่อปี 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญหน้ากับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าด้วยดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีรออยู่

เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ต้องตกอยู่ในมรสุมของการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

จากสัญญาณท้ายปีที่ประดังขึ้นมา ทำให้พอคะเนถึงการเมืองปีหน้า

เป็นสัญญาณที่บอกว่า การเมืองไทยรุนแรงข้ามปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image