ปฏิรูป กทม. : แก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาล

ปฏิรูป กทม. : แก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาล ผมเข้าใจว่า

ผมเข้าใจว่า “กรุงเทพมหานคร” (กทม.) ได้ถูกอุปโลกน์ให้เข้าใจว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษมานานแล้ว ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายจัดตั้ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่ระบุให้ กทม.มีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะที่เหมือนๆ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบทั่วไป โดยไม่มีอะไรใหม่ที่พอจะบ่งบอกถึงความเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแต่อย่างใดและซ้ำร้ายกว่านั้น อำนาจหน้าที่ในหลายๆ อย่างก็ยังถูกรวมศูนย์อำนาจการจัดบริการสาธารณะไว้ที่รัฐบาลและส่วนราชการ จึงทำให้ กทม.เองไม่สามารถที่จะบริหารจัดการเมือง กทม.ได้อย่างอิสระ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจอำนาจหน้าที่ที่ยังคงซ้ำซ้อนกันอยู่ระหว่างรัฐบาลส่วนราชการกับ กทม.และโดยที่สำคัญ ส่วนราชการโดยรัฐบาลก็เอางานการจัดบริการสาธารณะไปทำก็มีมาก จนทำให้ผู้บริหาร กทม.ในฐานะทำงานให้ กทม.ก็มักทำงานรายย่อยไป จึงมีข้อเปรียบเปรยว่าฐานะของการบริหารเมืองกรุงเทพมหานครก็ไม่แตกต่างอะไรกับเทศบาลนครโดยทั่วๆ ไป หรือ กทม.เทียบเท่ากับเทศบาลนครนั่นเอง ซึ่งก็อาจจะเป็นจริงเพราะอำนาจหน้าที่ที่ กทม.มีก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก จึงไม่อยากให้ว่าที่ผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯกทม. ที่ได้เสนอตัวเองมาเป็นผู้ว่าฯกทม. หลายคนก็จงอย่าฝันหวานคิดจะทำโน่นทำนี่ จึงเสนออีกทางหนึ่งว่า ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ทั้งหลายควรจะร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลและส่วนราชการคืนอำนาจเต็มให้ กทม.

ตัวอย่างการผูกขาดของรัฐบาลและส่วนราชการ กรณีโครงการการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ที่มุ่งจะแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบ การสร้างเขื่อนและทางเดินเท้าริมคลองตลอดทาง ซึ่งรัฐบาลมีการทุ่มเงินงบประมาณดำเนินการถึง 82,563 ล้านบาท ก็เป็นโครงการของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่ง กทม.เองไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ทำอะไร หรือ กทม.ควรมีส่วนร่วมในโครงการนี้ตรงจุดไหนอย่างไรทั้งๆ ที่ควรจะเป็นหน้าที่ของ กทม.ที่ต้องรับผิดชอบ แม้อาจจะอ้างว่า กทม.ไม่มีงบประมาณที่จะทำได้ แต่ก็ควรจะสนับสนุนงบประมาณให้ กทม. และ กทม.ก็ควรเป็นผู้จัดทำและรับผิดชอบ หรือจะให้มีส่วนร่วมอย่างไรก็ควรจะมีความชัดเจน ในฐานะที่ กทม.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมของคน กทม.โดยตรง

ยังมีตัวอย่างอีกหลายประการ ที่หลายๆ ภารกิจที่ กทม.จะต้องรับผิดชอบต่อการจัดบริการสาธารณะให้คนกรุงเทพฯ แต่ก็ถูกรัฐบาลรวมอำนาจรวมศูนย์โดยส่วนราชการ ดังเช่นงานให้บริการทางน้ำ เรือข้ามฟากเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยา โป๊ะริมตลิ่งรวมทั้งการดูแลแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นงานรวมอำนาจโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งโดยหลักการบริหารเมืองพิเศษอย่าง กทม. รัฐบาลโดยกรมเจ้าท่าต้องถ่ายโอนภารกิจนี้ให้แก่ กทม. นอกจากนี้ ยังมีงานการขนส่งมวลชนใน กทม. รถเมล์ทางด่วน และงานการจราจรทั้งหมดนี้ก็ถูกรวบอำนาจโดยรัฐบาลและส่วนราชการทั้งสิ้น

Advertisement

ส่วนการให้บริการในกิจการสาธารณะทั้งหมดแก่คนกรุงเทพฯที่เกิดขึ้นจะมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดนั้น หรือจะประสบปัญหาอันเกิดขึ้นจากการจัดบริการสาธารณะดังกล่าว การถูกต่อว่าหรือด่าทอ ส่วนใหญ่คนกรุงเทพฯจะเข้าใจว่าเป็นการจัดบริการโดยการบริหารของกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าฯกทม. ทั้งๆ ที่งานบริการสาธารณะในโครงการในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และงานบริการที่กล่าวมาแล้วนั้น ถูกผูกขาดโดยรัฐบาลและส่วนราชการ

นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับ กทม.

ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คนกรุงเทพมหานครหรือผู้อยู่อาศัยที่มีถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพฯ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องการอากาศบริสุทธิ์ไร้ฝุ่น ต้องการต้นไม้สีเขียว ต้องการสวนสาธารณะ และที่สำคัญต้องการที่จะมีส่วนร่วมออกแบบเมืองกรุงเทพฯให้เป็นไปตามความต้องการดังที่ว่านี้ก็ดูจะไร้สิทธิเรียกร้องและถูกยัดเยียดการกระทำโดยรัฐบาลกลางและส่วนราชการ โดยเฉพาะการก่อสร้างทางด่วนสายต่างๆ ที่รกรุงรัง ทำลายพื้นที่สีเขียวและภูมิทัศน์ของเมืองกรุงเทพฯอย่างไร้ระเบียบ เป็นตัวอย่างที่เห็นว่าคนกรุงเทพฯไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมของเมืองว่าควรจะเป็นอย่างไร

Advertisement

แล้วผู้ว่าฯกทม.กับผู้บริหารกรุงเทพฯจะทำอะไรได้ แม้ว่าว่าที่ผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯกทม.จะออกตัวกันแรงๆ ว่าจะจัดบริการสาธารณะ ทำโน่นทำนี่ให้คนกรุงเทพฯ หรือความคิดที่จะออกแบบพัฒนากรุงเทพฯ ก็จะทำให้ได้ดังจินตนาการที่วางนโยบายไว้ได้อย่างยากลำบากมากที่สุด การผูกขาดโดยรัฐบาลและส่วนราชการดังกล่าวจะให้กี่ผู้ว่าฯกทม.ก็แก้ปัญหากรุงเทพฯไม่ได้

นอกจากการผูกขาดรวมอำนาจโดยรัฐบาลแล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีบทบาทอย่างมากในการกำกับดูแลกรุงเทพมหานคร ทั้งการให้การอนุมัติให้ความเห็นชอบและการสั่งการให้กรุงเทพฯ จะตัดสินใจดำเนินการต่างๆ เช่น การออกข้อบัญญัติกรุงเทพฯ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ จากผู้ซึ่งใช้หรือได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะที่ กทม.จัดขึ้น การที่ กทม.จะร่วมกับบุคคลอื่นก่อตั้งบริษัทหรือถือหุ้นในบริษัท หรือเปลี่ยนแปลงหุ้นที่ถืออยู่ การมอบอำนาจให้เอกชนดำเนินการ และการออกระเบียบว่าด้วยการมอบให้เอกชนกระทำกิจการ รวมทั้งการออกข้อบังคับเพื่อให้ส่วนราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค มอบอำนาจหน้าที่ของตนให้ กทม.ปฏิบัติ เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทั้งสิ้น

คำถามก็คือว่า แล้วกรุงเทพมหานครเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษตรงไหน ในเมื่อรัฐบาลและส่วนราชการกำกับควบคุมและรวบอำนาจในการจัดบริการสาธารณะไว้เกือบเบ็ดเสร็จ คงเหลืองานการพัฒนาตรอกซอกซอยและดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนต่างๆ เท่านั้น

ถึงเวลาแล้วที่ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. จะต้องร่วมมือกับคนกรุงเทพฯและภาคส่วนต่างๆ ทวงคืนอำนาจกรุงเทพมหานครให้กลับคืนมา และรัฐบาลต้องถ่ายโอนภารกิจจัดบริการสาธารณะให้ กทม.รับผิดชอบปล่อยให้ผู้บริหารกรุงเทพฯ ประชาสังคมได้ไปบริหารจัดการอย่างอิสระ รัฐบาลและส่วนราชการเป็นเพียงผู้ให้นโยบายหลักๆ และเป็นผู้สนับสนุนการกระจายอำนาจหน้าที่ให้ กทม. และที่สำคัญรัฐบาลต้องยับยั้งการหยุดโตของ กทม. แล้ววางแผนกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ให้จังหวัดที่มีความพร้อมเพื่อพัฒนาให้เจริญเติบโต ป้องกันการหลั่งไหลเข้ามาใน กทม. และให้จังหวัดมีการจัดการตนเองโดยเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในบางจังหวัดเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทดแทนกรุงเทพมหานครในอนาคต และรีบปฏิรูป กทม. เพื่อทำให้กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองรูปแบบพิเศษที่สมบูรณ์โดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image