ตรีนุช เทียนทอง : ลุยพัฒนาการศึกษาไทย สู่‘นวัตกรรมอัจฉริยะ’

ตรีนุช เทียนทอง : ลุยพัฒนาการศึกษาไทย สู่‘นวัตกรรมอัจฉริยะ’

ตรีนุช เทียนทอง

ลุยพัฒนาการศึกษาไทย

สู่‘นวัตกรรมอัจฉริยะ’

หมายเหตุ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา แนวคิด และนโยบายการทำงานในปี 2565 ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด และจะขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวข้ามวิกฤตต่างๆ ที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไร

Advertisement

⦁กว่า 8 เดือนที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. มองการศึกษาไทยอย่างไรบ้าง?

การศึกษาที่เป็นเหมือนฟันเฟืองชิ้นหลักในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าสำหรับการพัฒนาประเทศ และถือเป็นความท้าทายมากยิ่งขึ้นเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เข้ามาส่งผลต่อรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ไม่สามารถดำเนินไปตามวิถีปกติได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และไม่มีใครรู้ว่าคำตอบที่ถูกต้องที่สุดคืออะไร ขณะเดียวกันเกิดโอกาสในการปรับเปลี่ยน ลดภาระงานให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น เป้าหมายสำคัญคือจะทำอย่างไรให้เด็กๆ เข้าถึงการศึกษาได้มากที่สุด

⦁อยากเห็นอะไรในการศึกษาไทย?

Advertisement

อยากเห็นโรงเรียนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน เนื่องจากนักเรียนใช้เวลาอยู่มากเป็นอันดับ 2 รองจากบ้าน เราไม่จำเป็นต้องมองไปไหนไกล เพราะความปลอดภัยเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเรื่องสถานศึกษาปลอดภัยเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่จะตั้ง MOE SAFETY CENTER เพื่อดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาแบบครบระบบ และมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

⦁การเดินหน้า 12 นโยบาย และ 7 วาระเร่งด่วน มีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน?

7 วาระเร่งด่วน คือ 1.ความปลอดภัยของผู้เรียน ได้จัดตั้ง MOE SAFETY CENTER เพื่อดูแลความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจของนักเรียน เช่น การบูลลี่ การล่วงละเมิดทางเพศ ต้องการให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็ก พร้อมกับสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย MOE SAFETY CENTER จะเป็นศูนย์กลาง เมื่อรับเรื่องแล้วต้องดำเนินการให้ความเป็นธรรมอย่างรวดเร็ว สร้างความมั่นใจให้นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ที่ ศธ.เตรียมให้กับนักเรียน และประชาชน

2.หลักสูตรฐานสมรรถนะ การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นอีกก้าวหนึ่งที่มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ รองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา ตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะที่จำเป็น แก้ปัญหา ปรับตัวสื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล มีวินัย นิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรัก ความภาคภูมิใจ และรู้คุณค่าของประวัติศาสตร์ในความเป็นไทย

หลักสูตรดังกล่าวเป็นการปรับปรุงสมรรถนะ โดยพิจารณาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กไทยในโลกปัจจุบัน จากเดิมมีสมรรถนะ 5 ด้าน ปรับเป็นมีสมรรถนะ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ 2.การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้ 3.การสื่อสารด้วยภาษา 4.การจัดการและการทำงานเป็นทีม 5.การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และ 6.การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน โดยเน้นมิติด้านคุณธรรม จริยธรรม รวมถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ และความเป็นไทยมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มสมรรถนะการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน เพื่อให้เด็กไทยมีสมรรถนะทั้งด้านวิทยาศาสตร์ รู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

โดยเปิดโครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 8 จังหวัดนำร่อง ครอบคลุม 265 โรงเรียนในสังกัดต่างๆ ถือเป็นการปักหมุดหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาว่าด้วยกิจกรรมปฏิรูปที่ 24 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

3.Big Data ความสำเร็จในการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา (Big Data for Education) เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของ ศธ. เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา ได้แก่ การดำเนินการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลรายบุคคลจากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และฐานข้อมูลด้านการศึกษา ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยอนาคตจะต้องมีการจัดเก็บ ใช้ง่ายกว่าเดิม ทั้งการนำเข้าฐานข้อมูล การเชื่อมโยงแบบ Realtime และการพัฒนาแพลตฟอร์ม โดยบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานในสังกัด

4.ศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้เปิดศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาทั้ง 25 แห่งอย่างเป็นทางการ นับเป็นภารกิจสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทยมาเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และรองรับการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 4.0

ตรีนุช เทียนทอง : ลุยพัฒนาการศึกษาไทย สู่‘นวัตกรรมอัจฉริยะ’

5.พัฒนาทักษะทางอาชีพ การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติ เป็นการผลิตและการพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเชื่อมโยงระบบการศึกษาและการอาชีพ โดยใช้กลไกการเทียบโอนประสบการณ์ด้วยธนาคารหน่วยกิต และการจัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาที่สามารถอ้างอิงอาเซียนได้ เพื่อให้ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาและอาชีวศึกษา มีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้

แม้แต่ผู้เรียนการศึกษานอกระบบยังจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพ re-skill และ up-skill สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้ศึกษา วิเคราะห์จากการสำรวจความต้องการของประชาชน และความพร้อมของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่จะนำไปฝึกอาชีพให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อประชาชน เพื่อให้เกิดทักษะอาชีพใหม่ หรือต่อยอดอาชีพเดิม ที่นำไปประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง และครอบครัวเป็นที่ตั้ง

6.การศึกษาตลอดชีวิต มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในระดับพื้นที่ เช่น จ.สระแก้ว ทางสำนักงาน กศน.จังหวัดสระแก้ว จัดกิจกรรมการฝึกทักษะอาชีพเพื่อการมีงานทำสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกิจกรรมการพัฒนาทักษะอาชีพจากแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล โครงการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล และการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้ด้อย พลาด และขาดโอกาส ตลอดจนประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยชรา ก่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาในทุกพื้นที่ทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้เป็นอย่างดี โดยบูรณาการกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายระดับต่างๆ

และ 7.การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จากการลงพื้นที่ ครม.สัญจร จ.กระบี่ ส่วนตัวได้ไปเยี่ยมนักเรียนพิการซ้อน ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ติดตามจากการปักหมุด โดยในส่วนของการศึกษาพิเศษ เราจะเดินหน้าค้นหาเด็กที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา เมื่อแรกพบจะส่งเสริม สนับสนุน ครูศูนย์การศึกษาพิเศษให้คำแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครอง ในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลช่วยเหลือเด็กพิการในช่วงที่อยู่ที่บ้าน สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายระหว่างกลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว และชุมชน ทั้งนี้ สั่งให้ สพฐ.ขยายการปักหมุดในโครงการ “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” และให้เร่งตั้งหน่วยบริการของศูนย์การศึกษาพิเศษให้ครบทุกอำเภอ เพื่อช่วยเหลือและดูแลเด็กพิการทั่วไทย ตามนโยบายรัฐบาล “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

เหล่านี้ยังคงเป็นจุดเน้นที่ ศธ.ยังคงดำเนินการอย่างเร่งด่วนในปีนี้ และปีหน้า

⦁หากเปรียบการศึกษาเป็นเครื่องจักร มองว่าเครื่องจักรการศึกษานี้มีสภาพอย่างไร?

การให้การศึกษา ทำกับมนุษย์ ซึ่งมีชีวิต มีจิตใจ มีความรู้สึก ไม่สามารถเปรียบเป็นเครื่องจักรที่ไม่มีชีวิตได้ แต่หากต้องการให้เปรียบเทียบจริงๆ คงประมาณได้ว่า ขณะนี้เรากำลังพัฒนาการศึกษาให้เป็น “นวัตกรรมอัจฉริยะ” ที่ผลิตบุคลากรของประเทศให้เป็นคนเก่ง มีพฤติกรรมที่ดี มีคุณธรรม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ สามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะ และพัฒนาต่อยอดได้อย่างไม่หยุดนิ่ง
การให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ไม่ใช่การศึกษาเพื่อการอ่านออก เขียนได้ หรือเพื่อให้ได้รับวุฒิการศึกษา จบออกไปมีงานทำเท่านั้น แต่ต้องเป็นการศึกษาที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต มนุษย์จะหยุดเรียนรู้ไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้พัฒนาแบบก้าวกระโดดไปทุกวินาที ดังนั้น ทุกคนต้องปรับตัวและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิต

⦁อนาคตการจัดการศึกษาต้องปรับเปลี่ยน และพัฒนาไปในทิศทางใด เพื่อให้ทันต่อการพัฒนาในระดับนานาชาติ?

โลกในยุคดิจิทัลนี้ทุกอย่างพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เด็กๆ สามารถเข้าถึงสื่อได้ทุกที่ การจัดการเรียนการสอนให้เด็กยุคนี้จะจัดในแบบเดิมๆ ไม่ได้ สมัยก่อนเรายังจำได้ ครูให้การบ้าน ต้องทำในสมุด สงสัยก็ถามเพื่อน แต่ปัจจุบันเด็กค้นหา เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ลองผิดลองถูกในสิ่งที่อยากรู้อยากเห็นได้ง่ายขึ้น ความรู้ที่มากกว่าการบ้านจึงมีมากมายมหาศาล ดังนั้น จะปรับเปลี่ยนแนวคิดพัฒนาการสอนของ “ครู” จากผู้สอนหน้าห้อง ต้องปรับบทบาทเป็นผู้จัดทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ ให้เด็กๆ ใช้ความคิดมากขึ้น เป็นผู้ชี้แนะ ไม่ใช่ชี้นำ รับฟัง สนับสนุน ส่งเสริมให้กำลังใจ ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก ควรให้ความสำคัญในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเน้นให้ผู้เรียนมีความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริง และองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้สร้างความเข้าใจในจุดยืนของตนเองในโลกที่ซับซ้อนได้ และการส่งเสริมทักษะความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษให้แก่ผู้เรียนก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้เด็กมีเครื่องมือในการค้นหาความรู้ได้กว้างขึ้น

การศึกษาในอนาคตจะไม่ได้เรียนรู้แค่ในห้องเรียนอีกต่อไปแต่จะมีรูปแบบใหม่ๆ มาใช้ เช่น Coding Literacy การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ เพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยี AI ที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ Student as Creators สนับสนุนการสร้างสรรค์ เป็นต้น นอกจาก ศธ.จะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จัดหา และกระจายระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้เข้าถึงสถานศึกษา และผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกลให้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมแล้ว สิ่งสำคัญที่จะหลงลืมไม่ได้ คือการส่งเสริมให้เด็กไทยมีทัศนคติที่ดีต่อชาติ
บ้านเมือง และสถาบันหลักของชาติ รักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรรม ประเพณีที่ดีงามของไทยเอาไว้ เพราะเด็กไทยต้องไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง

⦁จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับการศึกษาอย่างไรบ้าง ควรจะฟื้น หรือพัฒนาการศึกษาอย่างไรให้แข็งแรง?

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อการเปิดเรียนในสถานศึกษาทุกระดับทั่วโลก แต่มองอีกด้านถือเป็นความท้าทายของทั้งโลก รวมทั้ง ศธ.ที่ทำให้เรามีระบบการศึกษายุค New Normal ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถเรียนรู้จากบทเรียนที่ครูทั่วประเทศได้ร่วมพัฒนาขึ้นมาในช่วงโควิด-19 ระบาด ตั้งแต่ช่วงปี 2563-2564 ซึ่ง ศธ.มีการเรียนการสอนหลากหลายใน 5 รูปแบบ ที่สถานศึกษาเลือกจัดการเรียนการสอนตามสภาวการณ์การแพร่ระบาด บริบทของแต่ละพื้นที่คือ On-Site, On-Air, On-Hand, Online, On-Demand หรือผสมผสานกันได้

ขณะเดียวกัน ศธ.ได้จัดอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา หลักสูตรอบรมออนไลน์ 10 หลักสูตร ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การอบรมระดับประเทศ คือตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์วังจันทรเกษม โดยแต่ละหลักสูตรมีคนสมัครเข้าร่วมถึงหลักสูตรละ 6 หมื่นคน หรือรวมๆ แล้วกว่า 5 แสนคน สิ่งเหล่านี้ช่วยประหยัดงบประมาณการอบรมพัฒนาภาครัฐได้มหาศาล และเป็นการเตรียมคนเข้าสู่การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็น Disruption ครั้งใหญ่ของวงการศึกษาบ้านเรา

ปัญหาสำคัญที่เราทราบมาตลอดคือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องมืออุปกรณ์ในการเรียนรู้ที่เด็กๆ ครอบครัวมีฐานะยากจน อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ยังเข้าไม่ถึง ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณประเทศ ที่ต้องนำไปช่วยเหลือเยียวยาผู้คนทุกกลุ่มที่ประสบปัญหาในช่วงโควิด-19 แต่ในด้านการศึกษาก็ยังได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล นายกรัฐมนตรีให้ดูแลเป็นพิเศษแก่ผู้ปกครองเด็กๆ ทุกคน เป็นเงินเยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้นำไปช่วยเหลือครอบครัวจากค่าใช้จ่ายในการเรียนที่บ้านได้มาก

อีกเรื่องคือ การขยายโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ทั้งการติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ได้ประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เข้าถึง ครอบคลุมมากขึ้น

⦁ตั้งเป้าว่าปี 2565 จะขับเคลื่อนเรื่องใดเป็นหลัก?

ปฏิรูปตาม 5 เป้าหมายหลัก (Big Rock) ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้เสนอไว้ เพื่อเร่งรัดทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว คือ 1.ปฏิรูปความเสมอภาคทางการศึกษา 2.การจัดการเรียนการสอนรับศตวรรษที่ 21 3.ปฏิรูปการผลิตพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 4.ปฏิรูประบบการอาชีวศึกษา และ 5.ปฏิรูปบทบาทการวิจัย การส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษา

แน่นอนว่าการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาทั้งระบบนั้นคงไม่เห็นผลในเวลาอันใกล้ เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง เพื่อวางเป้าหมายให้การศึกษาไทยก้าวออกจากกับดักของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อพัฒนาคนในประเทศจากรายได้ปานกลางให้เป็นรายได้ในระดับสูงให้ได้

TRUST ศธ.ยังคงนำไปเป็นแนวทางยึดถือปฏิบัติ และกำหนดไว้ในหลักการตามนโยบายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564-2565 ต่อไป โดยจะจัดพิมพ์เผยแพร่ในสมุดบันทึก ศธ.ปี 2565 ไว้ด้วย เพื่อให้บุคลากร ศธ.ทุกคนตระหนักในการสร้าง “TRUST” หรือ “ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ” ให้กับสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กและผู้ปกครอง โดยทุกหน่วยงานสามารถที่จะเป็นหลัก หรือเป็นที่พึ่งได้

พร้อมสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนดำเนินการตามภารกิจด้วยความรับผิดชอบต่อตนเอง องค์กร ประชาชน และประเทศชาติ ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยผ่านกลไกการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา

⦁อยากฝากอะไรถึงครูและบุคลากรทางการศึกษา?

อยากขอบคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ที่แม้ว่าปีที่ผ่านมาเราอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ครูยังทุ่มเทปรับตัวเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ได้เป็นอย่างดีขอให้กำลังใจครูทุกคน โลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจำเป็นต้องเรียนรู้ และปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

สิ่งสำคัญ คือการพัฒนาให้เด็กสามารถคิด วิเคราะห์เป็น และเอาตัวรอดในสังคมได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image