การจัดการศึกษาของท้องถิ่น และจัดสรรงบประมาณรายจ่าย

หนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศคือการสนับสนุนการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนมีความรู้ ทักษะ และความสามารถทัดเทียมกับชาติใดๆ ในโลก รัฐบาลได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัว (ผู้เรียน) ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐหรือเอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหนึ่งในองค์กรภาครัฐที่จัดการศึกษาให้ผู้เรียนมากกว่า 1.7 ล้านคน (จากรายงานวิจัยโครงการพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ปี 2563)ในโอกาสนี้ขอนำสถิติรายจ่ายการลงทุนด้านการศึกษาของ อปท. มาเล่าสู่กันฟัง พร้อมข้อสังเกตและวิจารณ์ตามสมควร

เป็นที่น่ายินดีที่มีความก้าวหน้าของการบันทึกข้อมูลการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐ ขอขอบคุณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล บันทึกรายจ่ายด้านการศึกษา รายแห่ง คือ อบจ. เทศบาล อบต. ว่าองค์กรเหล่านี้จัดการศึกษาอย่างไร ทุ่มเทงบประมาณเพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนมากน้อยเพียงใด ระบุประเภทและแผนงาน ซึ่งมีประโยชน์ต่อการวิจัยอย่างมาก

ตารางที่ 1 สถิติรายจ่ายการศึกษาของท้องถิ่นไทย ปี 2562

Advertisement

ที่มา ศูนย์ข้อมูล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นปีงบประมาณ 2562

หมายเหตุ : มีรายการตกหล่นข้อมูลของ กทม. ไม่แสดง จึงสืบค้นข้อมูลย้อนหนังหนึ่งปี พบว่า กทม. จัดสรรงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา 18,025 ล้านบาท (2561) ถ้าสมมุติว่าในปี 2562 รายจ่ายของ กทม. มากกว่าหรือเท่าเดิม สามารถสรุปภาพรวมว่า ท้องถิ่นไทยจัดสรรรายจ่ายด้านการศึกษาลงไปถึง 1 แสนล้านบาทโดยประมาณ ในปี 2562 เพื่อสนับสนุนเด็กและเยาวชนกว่า 1.7 ล้านคน คำนวณเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว 5.8 หมื่นบาทต่อคนต่อปี

ฐานข้อมูลชุดนี้ยังจำแนกรายจ่ายการศึกษาเป็นหมวดๆ ที่น่าค้นคว้า เช่น ค่าบริหารทั่วไป (เงินเดือน) รายจ่ายสำหรับระดับประถมหรือก่อนวัยเรียน ระดับมัธยมศึกษา และอีกส่วนหนึ่งไม่ได้ระบุเป็นระดับ เมือนำมาเปรียบเทียบจะเห็นความแตกต่างกันพอสมควร กล่าวคือ ก) อบจ.จัดการเรียนระดับมัธยมศึกษาเงินจึงลงไปกับระดับมัธยมศึกษา ข) เทศบาลนครส่วนใหญ่จัดตั้งมายาวนานโดยจัดตั้งหลัง พ.ร.บ.เทศบาล 2476 จัดการศึกษาตั้งแต่ประถมถึงมัธยมปลาย ค) เทศบาลเมืองมีส่วนคละกันทั้งเก่าใหม่หรือส่วนที่ยกฐานะจากเทศบาลตำบล ง) สำหรับเทศบาลตำบล และ อบต. ส่วนจัดการศึกษาก่อนวัยเรียน-ถึงระดับประถม แต่ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ว่า ขยายจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตามความต้องการของประชาชน

Advertisement

ตารางที่ 2 รายจ่ายด้านการศึกษาตามระดับและหมวดรายจ่าย (หน่วย ล้านบาท ปี 2562)

ที่มา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

จะสังเกตว่ามีการแบ่งงานกันทำ (division of labor) ใน อปท. ทุกหน่วยงานจัดการศึกษาแต่ทว่าบริการหลักหรือจุดเน้นแตกต่างกัน และร่วมมือกัน (ส่งต่อ) เช่น เมื่อจบประถมศึกษาใน ร.ร. เทศบาลตำบล/เทศบาลเมือง แล้วไปต่อ ร.ร. สังกัด อบจ. ซึ่งรับถ่ายโอนโรงเรียนมาหลายร้อยแห่งเมื่อปี 2550 โดยประมาณ

ย้อนอดีตสัก 20-30 ปีต้องยอมรับว่านักเรียนที่เข้าเรียนรใน ร.ร.สังกัดท้องถิ่นส่วนใหญ่ฐานะยากจน แต่เมื่อกระจายอำนาจตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา เมื่อท้องถิ่นได้รับอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้น รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ได้พัฒนาโรงเรียนอย่างมากปรับปรุงคุณภาพผู้บริหารเอาใจใส่และทุ่มเททรัพยากรเพื่อการศึกษา ทำให้ ร.ร.ท้องถิ่นยกระดับคุณภาพและ/หรือขยายจำนวนการให้บริการอย่างมาก วัดสัมฤทธิผลการศึกษา (ด้วยคะแนนโอเน็ตจัดโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) พบว่า ร.ร.สังกัดท้องถิ่นก้าวขึ้นมาอยู่ระดับท็อปของประเทศ (top 3% 5% 10%) จัดการศึกษาแบบนานาชาติ เสริมทักษะด้านภาษาจีน ทักษะชีวิตด้านกีฬาและอาชีพ ได้อย่างน่าชื่นชม ในหลายหัวเมือง ร.ร. ท้องถิ่นติดอันดับโรงเรียนยอดนิยมในจังหวัดเป็นความต้องการของเด็กและผู้ปกครอง คณะวิจัยของเราได้มีโอกาสเยี่ยมชมและสัมภาษณ์ผู้บริหาร/ผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งได้รับความประทับใจกับความคิดริเริ่มและการพัฒนาคุณภาพในหลายพื้นที่ การร่วมมือกับโรงเรียนในต่างประเทศ โรงเรียนสาธิตชั้นนำ หรือนำเทคนิคการเรียนการสอนจากต่างประเทศมาใช้ นักวิจัยมองว่าเกิด “กระบวนการไล่กวด” (catching-up) ด้านสัมฤทธิผลการศึกษาถือเป็นความก้าวหน้าที่น่าชื่นชม ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างโรงเรียนชั้นนำ (เอกชน หรือ รัฐ) ที่ก่อตั้งมายาวนานนับร้อยปี และลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสการศึกษาได้อย่างแน่นอน

ข้อคิดเห็นเชิงนโยบายที่จะฝากในโอกาสนี้คือ รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนแผนงานถ่ายโอนโรงเรียนและโรงพยาบาลสุขภาพตำบลให้ อปท. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ(ภายใต้คณะกรรมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เรียกย่อว่า กกถ.)ในส่วนของ รพ.สต.มีความก้าวหน้าไปมากโดยจัดทีมประเมินความพร้อมของ อบจ.ในทุกจังหวัด และคงจะขยายต่อไปยั้งท้องถิ่นประเภทอื่นที่ประสงค์จะรับถ่ายโอน “สำหรับการถ่ายโอนโรงเรียนคาดว่าจะพยายามขับเคลื่อนอย่างแข็งขันในปี 2565 คงจะมีข่าวดีมาแจ้งให้ประชาชนและสื่อมวลชนรับทราบเป็นระยะๆ

การถ่ายโอนบริการสาธารณะไม่ว่าโรงพยาบาลสุขภาพ การปฐมพยาบาลขั้นต้น โรงเรียน การส่งเสริมการ
ท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ฯลฯ ความจริงเป็นหลักปฏิบัติทั่วไปในสากล–กล่าวคือการให้หน่วยงานท้องถิ่นดำเนินการ ในขณะที่หน่วยงานส่วนกลางกำกับคุณภาพมาตรฐานประเมินและตรวจสอบ มีกระบวนการทำงานแบบแข่งขันกัน มีความหลากหลาย” สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ นักวิจัยมีความยินดีที่จะได้ร่วมมือกับหลายๆฝ่าย
เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนหลายล้านคน

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ⦁ พิชิต รัชตพิบุลภพ

สุวิมล เฮงพัฒนา ⦁ ภาวิณี สตาร์เจล ⦁ วสุ สุวรรณวิหค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image