นักกฎหมาย ไขข้อข้องใจ ‘กัญชา’ ยังเป็นยาเสพติดหรือไม่ ประชาชนจะปลูกต้องทำเช่นไร

นักกฎหมาย ไขข้อข้องใจ ‘กัญชา’ ยังเป็นยาเสพติดหรือไม่ ประชาชนจะปลูกต้องทำเช่นไร

เมื่อวันที่ 14 มกราคม ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการปลูกกัญชาผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยว่า

กัญชา ยังเป็นยาเสพติด และยังต้องขออนุญาตปลูก

มีเสียงเรียกร้องให้ผมช่วยไขปัญหาข้องใจ เกี่ยวกับเรื่องกัญชาว่าทุกวันนี้เราสามารถปลูกกัญชาได้อย่างเสรีจริงหรือ? แม้กระทั่งคำถามที่ว่าปลูกได้แล้วบ้านละ 6 ต้น หรือคนที่ปลูกแล้วถูกจับจะทำอย่างไร ไปจนถึงเรื่องที่ชาวบ้านได้รับการสื่อสารข้อมูลว่าทำได้แต่ถูกจับ ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ผมขออนุญาตช่วยค้นหาข้อมูลมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่านดังนี้

ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 และ พรบ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 4 ให้ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเดิม 24 ฉบับ ที่ใช้บังคับอยู่ทั้งหมด แล้วนำมาประมวลรวมไว้ในที่เดียวกันคือ ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่นี้ กฎหมายเขียนว่ายกเลิกกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2522 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความผิดต่างๆ จะถูกยกเลิกไปครับ เพราะต้องตีความว่าการกระทำนั้น ๆ ยังคงถูกเขียนไว้ในกฎหมายใหม่หรือไม่

Advertisement

หลักก็คือเราจะทำผิดกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อ มีกฎหมายในขณะกระทำเขียนไว้หรือไม่ว่าเป็นความผิด และมีบทกำหนดโทษไว้ด้วย กฎหมายใหม่จะใช้ย้อนหลังได้ในส่วนที่เป็นคุณครับ ส่วนที่เป็นคุณก็คือถ้ากฎหมายใหม่บอกว่าการมีกัญชาไว้ในครอบครอง ไม่เป็นความผิด จึงจะสรุปได้ว่า ไม่เป็นความผิดครับ

เรื่องกัญชา กฎหมายในปัจจุบันเขียนไว้ชัดเจนเกี่ยวกับ “กัญชา” ว่าการนำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ต้องขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ในกฎกระทรวง และ ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาต หากกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท ยิ่งถ้าทำเป็นการค้ายิ่งโทษหนักขึ้นถึงขั้นจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท

ผมเห็นว่าความเข้าใจผิดในข้อกฎหมายนี้ เกิดขึ้นเพราะการยกตัวอย่างชื่อยาเสพติดประเภท 5 ที่กฎหมายเก่าบอกว่ายาเสพติดประเภท 5 เช่น กัญชา และพืชกระท่อม แต่กฎหมายใหม่กลับเขียนว่า ยาเสพติดประเภท 5 เช่น พืชฝิ่น

Advertisement

เมื่อกฎหมายใหม่ตัดคำว่ากัญชาออกไปแล้ว จึงไม่ถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป การอ่านกฎหมายแบบนี้ อ่านไม่ตลอดครับ เพราะเมื่ออ่านกฎหมายให้จบ จะเห็นชัดเจนว่าการที่ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับยาเสพติดเดิมไปนั้น ยังบัญญัติให้กฎหมายลำดับรองของ กฎหมายเหล่านั้นยังมีผลใช้บังคับอยู่ จนกว่าจะมีการออกกฎหมายลำดับรองฉบับใหม่ออกมา และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยังระบุว่า กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 อยู่ โดยปลดล็อกบางส่วนของกัญชาเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ไม่จัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 นั้นก็คือ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และรากเท่านั้นครับ เพราะสามารถใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ได้ ส่วน ช่อดอกกัญชา และเมล็ดกัญชา ยังไม่ปลดล็อกจากยาเสพติด ขณะนี้ยังไม่มีประกาศใหม่ออกมา ดังนั้น ช่อดอกกัญชา และเมล็ดกัญชา จึงยังคงเป็นยาเสพติดประเภท 5 อยู่

การปลูกต้องได้รับอนุญาต

ประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถปลูกกัญชาได้โดยเสรี ผู้ที่จะขออนุญาตได้ต้องเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมตัวกัน จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ยื่นขอจดทะเบียนตามกฎหมายก่อน โดยสามารถยื่นขอจดทะเบียนต่อสำนักงานเกษตรอำเภอ และต้องดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) หรือมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐ และเอกชน จึงจะสามารถปลูกได้

ขณะนี้ผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้ง ป.ป.ส. ตำรวจ และพนักงานอัยการ ยังคงถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ ถ้าพบว่ามีใครปลูกกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะจับดำเนินคดีทันทีครับ
ดังนั้น การจะปลูกเกษตรกรต้องรวมตัวกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนก่อน แล้วขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินการภายใต้เงื่อนไขของทางราชการโดยเคร่งครัด จึงจะสามารถปลูก กัญชา ได้ครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image