วัคซีนโควิดเด็กเล็ก 3 แสนโดสแรก ถึงไทยแล้ว สธ.คิกออฟ 31 มกราฯนี้

วัคซีนโควิดเด็กเล็ก 3 แสนโดสแรก ถึงไทยแล้ว สธ.คิกออฟ 31 มกราฯนี้

เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถานบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี (รพ.เด็ก) ร่วมแถลงแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก อายุ 5-11 ปี

นพ.โอภาส กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโควิดสำหรับเด็ก 5-11 ปี ซึ่งเด็กกลุ่มใหม่เป็นวัคซีนไฟเซอร์ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องเรียนว่าวัคซีนที่นำเข้ามาฉีดในกลุ่มเด็ก 5-11 ปี เป็นขวดฝาส้ม ฉีดตามขนาดที่ สธ.และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำ

Advertisement

เมื่อเช้าวันนี้ วัคซีนไฟเซอร์เด็กล็อตแรก จำนวน 3 แสนโดส ส่งถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังตรวจสอบคุณภาพ หลังจากผ่านกระบวนการแล้วก็จะส่งวัคซีนไปที่จุดฉีดทั่วประเทศพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ วัคซีนฝาส้มจะทยอยเข้ามาทุกสัปดาห์ รวมทั้งหมดในไตรมาสแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม) รวม 3.5 ล้านโดส จากทั้งหมด 10 ล้านโดส ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณจัดซื้อเรียบร้อย ซึ่งจะเพียงพอกับเด็ก 5-11 ปี ที่มีจำนวน 5 ล้านคน” นพ.โอภาส กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ได้รับข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า มีผู้ปกครองสมัครใจให้บุตรหลานฉีดวัคซีนแล้วร้อยละ 70 ซึ่งเข้าใจว่าจะทยอยมาเพิ่มเติมอีก อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดอื่นๆ ก็จะมีการยื่นขึ้นทะเบียนกับ อย. เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ อย.ว่าจะมีการอนุมัติให้ใช้อย่างไร ดังนั้น จะให้เป็นดุลยพินิจของผู้ปกครองว่า จะให้บุตรหลานฉีดวัคซีนชนิดใด

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม จะแตกต่างจากวัคซีนเดิมที่ 1 ขวด ฉีดได้ 6 คน ผู้ใหญ่จะใช้ปริมาณ 0.3 ซีซีต่อโดส แต่วัคซีนเด็กฝาส้ม 1 ขวด จะมีวัคซีนเข้มข้น 1.3 ซีซี เมื่อฉีดยังต้องเจือจางด้วยโซเดียมคลอไรด์ ร้อยละ 0.9 หรือผสมน้ำเกลือ ปริมาณ 1.3 ซีซี จะรวมเป็น 2.6 ซีซี โดย 1 ขวดฉีดได้ 10 คน โดยใช้ปริมาณ 0.2 ซีซีต่อโดส ขนาดวัคซีนคือ 10 ไมโครกรัมต่อโดส อย่างไรก็ตาม สูตรเดิมต้องเก็บในตู้แช่ อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส เมื่ออยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาฯ จะเก็บได้ 4 สัปดาห์ แต่เมื่อปรับสูตรใหม่ก็เก็บได้สูงสุด 10 สัปดาห์ แต่เมื่อผสมแล้วควรฉีดให้หมด

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กอายุ 5-11 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.เด็กที่มีโรคประจำตัว และ 7 โรคเรื้อรัง จะฉีดในโรงพยาบาล (รพ.) ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง มะเร็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ เบาหวาน โรคทางพันธุกรรม และบกพร่องทางประสาทรุนแรง เด็กที่พัฒนาการช้า รวมถึงกลุ่มดาวน์ซินโดรม โดยจะมีกุมารแพทย์ที่ดูแลเด็กพิจารณาดำเนินการฉีดวัคซีนให้ ช่วงเวลาการฉีดเข็มที่ 1 จะห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 3-12 สัปดาห์ เพื่อให้แพทย์ตัดสินใจร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อฉีดเข็มที่ 2 ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

2.เด็กทั่วไป จะใช้ระบบการฉีดในโรงเรียนเช่นเดียวกับการฉีดให้เด็กมัธยม ซึ่งกลุ่มอายุ 5-11 ปี จะฉีดไล่จากเด็กประถมจนถึงอนุบาล เข็มที่ 1 ห่างจากเข็มที่ 2 กำหนดที่ 8 สัปดาห์ เช่นเดียวกับเด็กกลุ่มอื่นๆ จะใช้วิธีการฉีดใน รพ.เป็นหลัก ซึ่งจะมีกุมารแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยการฉีดให้กับเด็กกลุ่มนี้

“ย้ำว่าการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ใช้นโยบายตามความสมัครใจ ไม่มีการบังคับใดๆ สำหรับอาการข้างเคียงในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและหายได้เองใน 1-2 วัน เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดบวม รอยแดงบริเวณที่ฉีด ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย ซึ่งข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับเด็กโต พบว่าในเด็กเล็กเจอน้อยกว่า เนื่องจากปริมาณที่ฉีดน้อยกว่า ผลข้างเคียงจึงน้อยกว่า ซึ่งเป็นความสบายใจอย่างหนึ่งให้กับผู้ปกครอง” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ในวันที่ 31 มกราคมนี้ จะมีการคิกออฟฉีดวัคซีนเด็กเล็กวันแรก ที่ รพ.เด็ก ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะเหตุใดคำแนะนำระยะห่างการฉีดวัคซีนในเด็กครั้งนี้ จึงแตกต่างจากคำแนะนำเดิมที่ระบุ 3-4 สัปดาห์ นพ.โอภาส กล่าวว่า ปกติการฉีดวัคซีนที่มีการฉีดหลายโดส เช่น 2 โดส 3 โดส จะมีระยะห่างของการฉีดวัคซีน ในเอกสารการขึ้นทะเบียนกำหนด 3-12 สัปดาห์ แต่การกำหนดระยะห่างมีปัจจัย 2-3 อย่าง คือ ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน ความปลอดภัย และสถานการณ์การระบาดของโรค ซึ่งช่วงแรกกำหนดระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ เพราะช่วงต้นปีมีการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนค่อนข้างมาก

“แต่เวลานี้การระบาดไม่รุนแรงมากนัก เมื่อดูข้อมูลทั้งหมด ปรึกษาคำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ จึงกำหนดว่า ถ้าฉีด โรงเรียนเป็นศูนย์กลางกำหนดที่ 8 สัปดาห์ เพราะสร้างภูมิค่อนข้างดี ผลข้างเคียงน้อย ประกอบกับการระบาดไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ฉีดเป็นกลุ่ม จึงต้องกำหนดเวลาแน่ชัด ส่วนฉีดในเด็กป่วยจะใช้รพ.เป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะมีกุมารแพทย์ทราบข้อมูลว่า เด็กคนนี้ต้องฉีดวัคซีนช้าหรือเร็วอย่างไร จึงกำหนด 3-12 สัปดาห์ เพื่อให้กุมารแพทย์และผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมตัดสินใจกำหนดเวลาอย่างเหมาะสม” นพ.โอภาส กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เด็กป่วยโควิด-19 จะมีอาการไม่มาก ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ร้อยละ 98 ไม่มีอาการ ส่วนที่พบเสียชีวิตในกลุ่มอายุ 6-12 ปี จากจำนวนกว่าแสนราย มี 10 คน ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ส่วนอายุ 1-6 ปี เสียชีวิต 5 คน ฉะนั้น จากข้อมูลพบว่า เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กโต หรืออายุน้อยมากๆ ต่ำกว่า 1 ขวบ หรือ 1 เดือน ทั้งนี้ แม้เด็กติดโควิด-19 จะอาการไม่มาก แต่ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากมีปัญหาแทรกซ้อน คือ หลังติดโควิด-19 ประมาณ 1 เดือน ให้หลังอาจมีอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ที่เรียกว่า มิสซี (MIS-C) ซึ่งอาจรุนแรงได้ เช่น เด็กที่เคยเป็นโรคอิสุกอิใสที่ไม่มีความรุนแรง แต่ก็พบว่า เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็มีโอกาสเป็นงูสวัดได้ จึงต้องมีวัคซีนป้องกัน ดังนั้น การไม่ติดเชื้อจะดีที่สุด ด้วยการฉีดวัคซีนจะดีกว่า

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ต้องกลัวการฉีดวัคซีน mRNA จะเป็นอันตราย เป็นมะเร็ง ฯลฯ เพราะไม่ได้ฉีด DNA แต่ฉีด RNA ซึ่งเป็นตัวเดียวกับเมื่อติดเชื้อ ที่ไวรัสจะสร้าง RNA และย้ำว่า RNA ของวัคซีนปลอดภัยกว่าเพราะเลือกเฉพาะส่วนเดียวที่ช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันป้องกันโรคเท่านั้น ผิดกับเชื้อธรรมชาติที่จะสร้างแอนติเจนไวรัสอีกหลายอย่างที่อาจเป็นอันตราย อีกทั้ง RNA ที่ฉีดไม่คงทน เพราะขนาดการเก็บรักษายังทำยากต้องแช่แข็ง -70 องศาฯ ดังนั้น เมื่อฉีดเข้าร่างกายก็จะอยู่ได้ไม่นาน จะสลายไปภายใน 1 สัปดาห์

“ทั้งนี้ สหรัฐฉีดเด็กไปเกือบ 9 ล้านคนแล้ว ไม่มีปัญหา นอกจากแขนบวมนิดหน่อย ไม่เกิน 2 วัน หายหมด ส่วนเรื่องหัวใจ ที่สหรัฐ ฉีดไป 8-9 ล้านคน พบ 11 คน แต่ไม่รุนแรง และหายได้เอง ทั้งนี้ สหรัฐฉีดห่าง 3 สัปดาห์ ส่วนออสเตรเลียฉีดห่าง 8 สัปดาห์ พบภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง และปัญหาโรคหัวใจก็น้อยลงด้วย ดังนั้น ฉีดห่างน่าจะดีกว่า เราจึงแนะนำของไทยอย่างที่โรงเรียนฉีดห่างกัน 8 สัปดาห์ ส่วน รพ. เป็น 3-12 สัปดาห์ สำหรับเด็กมีโรคเรื้อรัง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนเด็กที่รับวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม มาก่อนแล้วจะมารับ mRNA ด้วย ตรงนี้ต้องเรียนว่า เรายังไม่มีข้อมูลตรงนี้ เพราะขณะนี้ อย.ยังไม่ให้การรับรองวัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ซึ่งในเด็กต้องรอข้อมูลที่ปลอดภัยด้วย จริงๆ มีหลายคนพูดว่า เด็กอาการน้อยแล้วจำเป็นต้องฉีดหรือไม่ แต่การไม่เป็นโรคจะดีกว่า ซึ่งปัจจุบันป่วยโควิด-19 อาจเป็นมิสซีตามมาได้

ขณะที่ นพ.อดิศัย กล่าวว่า การฉีดเด็กอายุ 5-11 ปี มีประมาณ 5 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง 9 แสนคน กระจายตามภูมิภาคต่างๆ กรณีผู้ปกครองยินยอมให้บุตรหลานเข้าฉีดแล้ว คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร จะมีการบริหารตามความเหมาะสมของผู้ป่วย ซึ่งมีตัวเลขอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ ความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ และกุมารแพทย์เป็นผู้คัดสรรว่า เด็กแต่ละคน ใครพร้อมจะฉีดวัคซีน

“สำหรับการเตรียมตัวฉีดวัคซีน หากเด็กที่มีโรคประจำตัวก็ให้รับประทานยารักษาโรคปกติ รับประทานอาหารและน้ำตามปกติ ไปถึง รพ. กุมารแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่ามีไข้หรือไม่ หากมีไข้ก็จะชะลอเรื่องการฉีด แล้วโรคประจำตัวนั้น มีอาการรุนแรงและอันตรายหรือไม่ หากมีสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะชะลอการฉีดไปก่อน เพื่อรักษาโรคเหล่านี้ ส่วนกรณีที่สามารถฉีดได้ก็จะมีการทบทวนการยินยอมอีกครั้ง ทั้งนี้ ในขั้นตอนการฉีดจะต้องเป็นสถานที่มิดชิด เพื่อลดความกังวลของเด็กและผู้ปกครอง หลังฉีดให้รอดูอาการ 30 นาที หลังกลับบ้านไปแล้วต้องเน้นว่า เหมือนกับทุกกลุ่มอายุคือ ใน 1 สัปดาห์ ไม่ควรให้เด็กออกกำลังกาย รวมถึงการปีนป่าย การว่ายน้ำ เป็นต้น ขอให้ผู้ปกครองช่วยดูแลตรงนี้ด้วย” นพ.อดิศัย กล่าว

ทั้งนี้ นพ.อดิศัย กล่าวว่า สิ่งที่กังวล คือ มีอาการเฉพาะที่กับอาการทั่วไป และการเกิดอาการข้างเคียงทางด้านโรคหัวใจ ซึ่งมีจริง แต่สามารถรักษาได้ โดยจากการฉีดแล้วกว่า 7 ล้านโดส พบเพียง 7 ราย ดังนั้น อาการข้างเคียงมีน้อย แต่เพื่อไม่ประมาท เพื่อให้ผู้ปกครองเบาใจได้มีการสร้างเครือข่ายส่งต่อดูแล ให้ผู้ปกครองสามารถรู้ว่า มีอะไรที่ต้องสงสัย ซึ่งสถิติที่เจอมาส่วนใหญ่มักเกิดในเข็มที่ 2 แต่เพื่อไม่ประมาท ขอให้สังเกตตั้งแต่เข็มแรก คือ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว หากมีไข้สูง รับประทานอาหารไม่ได้ ขอให้รีบไป รพ.ใกล้บ้าน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image