ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ไม่แนะเด็กรับวัคซีนโควิดสูตรไขว้ ยันมี mRNA พอฉีดครบโดส 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ไม่แนะเด็กรับวัคซีนโควิดสูตรไขว้ ยันมี mRNA พอฉีดครบโดส 

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก ว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก ยืนยันว่ามีความจำเป็น แม้เด็กติดโควิด-19 แล้วอาการไม่รุนแรง แต่ก็มีข้อมูลพบว่า เด็กติดเชื้อแล้วไม่มีอาการมากถึงร้อยละ 98 อีกร้อยละ 2 มีอาการต้องเข้าโรงพยาบาล (รพ.) ในจำนวนนี้พบว่า 1 ใน 3 ต้องเข้าห้องไอซียู

“ดังนั้น เราไม่รู้ว่าลูกของเราจะเข้า รพ.หรือไม่ หรือแม้ว่าติดเชื้อแล้วอาการไม่หนัก แต่พ่อแม่ก็กลุ้มใจมาก ไม่คุ้มค่า อีกทั้งถ้าเด็กติดเชื้อโควิด-19 แล้ว หลังจากนั้นก็อาจเกิดภาวะมิสซี (MIS-C) คือการอักเสบทั่วร่างกาย โดยเฉพาะช่วงอายุ 5-12 ปี ที่พบมากที่สุด แต่หากรับวัคซีนแล้วก็จะไม่มีภาวะดังกล่าว การฉีดวัคซีนในเด็กคุ้มค่า และมีความปลอดภัย เพราะฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกันมากกว่าผู้ใหญ่ พบว่ามีอาการไข้น้อยกว่า แต่จะพบมากคือ อาการปวด บวม แดงบริเวณจุดที่ฉีด ซึ่งไม่ใช่ปัญหาอันตราย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อแนะนำการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ในเด็ก 12-17 ปี ว่า ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีคำแนะนำการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ในเด็ก 12-17 ปี เป็น ชนิดเชื้อตายซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ตามด้วยชนิด mRNA ไฟเซอร์ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า วัคซีนทั้ง 3 ยี่ห้อ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อฉีดในเด็กได้ ทั้งนี้ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นเทียบเท่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม โดยตนมองว่า การฉีดแบบนี้ก็จะช่วยลดปริมาณการฉีดวัคซีนเชื้อตายหลายเข็ม เพราะการฉีดเชื้อตาย 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันยังขึ้นไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเด็กเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง

Advertisement

“เด็กที่รับวัคซีนเชื้อตายมาแล้วในเข็มแรก เข็มที่ 2 ก็รับไฟเซอร์ได้ แต่จริงๆ ไม่เห็นด้วยกับการฉีดวัคซีน 2 ชนิด เพราะเรามีวัคซีนไฟเซอร์เพียงพอใน 2 เข็มแล้ว และรัฐบาลก็ให้บริการฟรี ก็ควรให้เด็กฉีดได้โดยไม่ต้องไขว้ ส่วนความกังวลเรื่อง mRNA แล้วเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงว่าจะเกิดการตกค้างนั้น ปัจจุบันมีข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา และ แคนนาดา พบว่า ฉีดไฟเซอร์เต็มโดสในเด็ก 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้นดีกว่าการฉีดห่าง 4 สัปดาห์ ถึง 10 เท่า และช่วยลดการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ด้วย แทบจะไม่มีเลย ซึ่งทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ก็แนะนำเช่นนี้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการฉีดสูตรไขว้ในเด็กยังมีการศึกษาน้อย แต่สำหรับไฟเซอร์ 2 เข็ม มีเป็นล้านคนแล้ว พบว่า mRNA ที่หลายคนกังวลว่าจะตกค้างในร่างกาย ซึ่งต้องย้ำว่าวัคซีนชนิดนี้ไม่คงที่ เก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ยังเก็บได้ยาก และอีกอย่างคือ mRNA ไม่ใช่พันธุกรรม DNA ของไวรัส ดังนั้นจึงเข้าไปในระดับพันธุกรรมของคนไม่ได้ เทียบได้กับการติดเชื้อก็จะมี RNA เดียวกับการฉีดวัคซีน ฉะนั้น จึงมีความปลอดภัย

เมื่อถามว่า กรณีโลกออนไลน์แชร์วิธีการแก้ไขภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเด็กหลังฉีดวัคซีนด้วยยาแอสไพริน หรือยาทัมใจ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่แนะนำอย่างยิ่ง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะและภาวะเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ปัจจุบันในวงการแพทย์ของไทยก็ไม่แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินในผู้ใหญ่ด้วย

Advertisement

เมื่อถามกรณีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิฯ เตรียมศึกษาฉีดสูตรไขว้เด็กอายุ 6-11 ปี เป็น “ซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม เข็มแรก และเข็ม 2 เป็นไฟเซอร์” นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ก็เหมือนกัน แนะนำเข็มแรกควรเป็นชนิด mRNA หรือไฟเซอร์ แต่หากฉีดเข็มแรกเป็นเชื้อตายมาแล้ว ก็สามารถฉีดเข็ม 2 เป็นไฟเซอร์ ทั้งนี้ ทางที่ดีที่สุดคนที่ยังไม่ฉีดเข็มแรก ขอให้ฉีดเป็นชนิด mRNA และตามด้วยเข็ม 2 ชนิดเดียวกัน ยกเว้นก่อนหน้านี้ฉีดเชื้อตาย อย่างซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม ก็ต้องฉีดเข็ม 2 เป็นไฟเซอร์ ซึ่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ได้ออกคำแนะนำไว้แล้ว

เมื่อถามถึงกรณีการฉีดเข็มบูสเตอร์โดสในเด็ก นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ เราไม่ได้แนะนำให้ฉีดบูสเตอร์ในเด็กช่วงนี้ ยกเว้นกรณีเด็กที่มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นตามช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งสามารถปรึกษาแพทย์ที่ดูแลได้ อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่าการฉีดวัคซีนเด็ก ยังคงเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง

ทั้งนี้ การแนะนำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ที่เคยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มอย่างน้อย 4-6 เดือน อีก 1 เข็ม ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วงขนาด 30 ไมโครกรัม โดยแนะนำให้ฉีดกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยงเกิดโรค ดังนี้ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัมนาการช้า ส่วนเด็กที่เคยรับวัคซีนชนิดเชื้อตาย ทั้งซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มา 2 เข็ม แนะนำกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยใช้ขนาดที่รับรองให้ฉีดตามกลุ่มอายุห่างจากฉีดวัคซีนเชื้อตายอย่างน้อย 4 สัปดาห์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image