สภาฯ ผู้บริโภคเปิดเวทีถกปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส.ส.ภท.ยันพรรคร่วม รบ.โหวตสวนแน่!

สภาฯ ผู้บริโภคเปิดเวทีถกปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส.ส.ภท.ยันพรรคร่วม รบ.โหวตสวนแน่!

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดการเสวนาออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้หัวข้อ ‘เปิดปมสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนได้หรือเสีย?’ โดยมี นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ นักวิชาการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายชนินท์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าร่วมการเสวนา

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า หลังจากรัฐมนตรีสังกัดพรรค ภท.ลาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมทั้งส่งข้อเสนอแนะจากกระทรวงคมนาคมประกอบการพิจารณาวาระต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ บีทีเอส (BTS) โดยตั้งข้อสงสัยว่า ครม.จะพิจารณาวาระดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2565) นั้น จนถึงขณะนี้ ยังไม่ทราบว่าจะนำวาระเข้าที่ประชุม ครม.หรือไม่ ยังเป็นเพียงข่าวลือ และถ้านำเข้าคงไม่วอล์กเอาท์แล้ว แต่จะเตรียมข้อมูลไปนำเสนอโต้แย้ง ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เตรียมเอกสารข้อมูลประกอบไว้ค่อนข้างพร้อม โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมสิทธิ์ในสัญญาสัมปทาน

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ครม.ต้องทำความเข้าใจว่า หนี้ค่าก่อสร้างจำนวน 6 หมื่นล้านบาท เป็นของใคร และ กทม.ทำตามกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่ เพราะหากดูกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรรมสิทธิ์ยังเป็นของ รฟม. ดังนั้น ณ วันนี้ ภาระหนี้จึงเป็นของ รฟม. บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มีสิทธิอะไรไปจ้างบีทีเอสดำเนินการตามสัมปทานเดินรถ

ด้านนายประภัสร์ กล่าวว่า โดยหลักแล้วสัญญาประเภทนี้ หน่วยงานราชการควรเปิดเผยให้ประชาชนทราบ เพราะผลทั้งหลายนั้นเกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น ค่าโดยสาร คิดว่าเป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องชี้แจงและทำให้ปรากฏว่าไม่มีอะไรซ่อนเร้น ไม่ควรมีการดำเนินการอะไรแปลกๆ

Advertisement

“อย่างการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ กทม.จ้างเอกชนรายเดียวดำเนินรถในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ร่วมถึงความเป็นความลับของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ที่ควรมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีกระบวนการที่ไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น ตั้งแต่การก่อสร้างทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และการต่อสัญญาจนถึงสถานีแบริ่ง ผมอยู่ในวงการมาก็ยังไม่ทราบว่า สัญญาของบีทีเอสมีกี่ปี ตรงนี้เป็นข้อมูลที่เชื่อว่าหลายคนก็ไม่ทราบ และตราบใดยังไม่เปิดข้อมูลทั้งหมด จะเป็นอันตรายมาก โดยเฉพาะในอนาคตที่จะมีการเชื่อมต่อโครงข่ายอีกหลายสาย” นายประภัสร์ กล่าว

นายประภัสร์ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลอ้างว่าทำทุกอย่างตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ยกเว้นการใช้มาตรา 44 ตรงนี้สะท้อนนัยบางอย่างที่ตรวจสอบไม่ได้และไม่โปร่งใส

“การเร่งอนุมัติไปมันก็มีสิทธิมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 157 เช่นกันไม่ใช่แค่ไม่เข้าแล้วจะผิดมาตรา 157 ทำไมมันถึงเร่งด่วนต้องเอาเข้าให้ได้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งหรือที่รัฐบาลนี้จะหมดชุดลงไป ทั้งที่สัญญาไม่ใช่จะหมดวันนี้ พรุ่งนี้ ส่วนนี้ก็เร่งเก็บเงินไปเลย บวกเข้าไปใช้หนี้ มันควรต้องเอามาดูให้ชัด ไม่งั้นหากอนุมัติไปความเสียหายที่ตามขึ้นมาอีกหลายเรื่องต่อระบบขนส่งมวลชน ที่ต้องทำให้มวลชนใช้ได้ ไม่ใช่แค่บางชนชั้นใช้ได้ มันเป็นขนส่งสาธารณะที่ควรดูที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่หาค่าโดยสารแพงเพื่อหาเงินจ่ายให้กับรัฐบาล” นายประภัสร์ กล่าว

Advertisement

ด้าน นายชาลี กล่าวว่า ทราบข้อมูลว่า กทม.ได้รับรายได้การเดินรถกว่า 3 แสนล้านบาท จากสูตรค่าโดยสาร 15+3x แล้วประโยชน์เหล่านี้จะกลับมาที่ประชาชนหรือไม่ พร้อมทั้งคาดการณ์ฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นในการประชุม ครม.วันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ อยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.เลื่อนการต่อสัญญาสัมปทานนี้ออกไป 2.ต่อสัญญาสัมปทานด้วยการหักด้ามพร้าด้วยเข่า หรือการอาศัยอำนาจของ ครม. ลงมติอนุมัติ และ 3.ถอนเรื่องออกไป โดยไม่กลับเข้า ครม.อีก หวังว่าจะมีการแก้ปัญหาเป็นระบบและมองภาพรวม เพราะเป้าหมายคือ การทำให้ค่าโดยสารทั้งหมดมีราคาถูก ไม่ใช่แค่สายสีเขียว ขณะเดียวกัน ควรมีแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ให้ประชาชนต้องจ่ายทั้งหมดใน 30 ปี

นายชาลี กล่าวว่า ต้องแก้จากปมปัญหาแรกที่เกิดขึ้นก่อนมาตรา 44 หรือ ต้องปลดกระดุมแรกให้ถูกก่อน ทั้งเรื่องกรุงเทพธนาคม และเรื่องหนี้สินที่ถูกใช้เป็นตัวประกันในการต่อสัมปทาน ซึ่งนายชาลีก็เห็นว่ามีทางออกหลายทางทั้งที่กระทรวงคมนาคมเสนอ หรือตั้งงบประมาณมาสนับสนุน ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมาใช้หนี้ และนำรายได้ในอนาคตกลับมาที่กองทุน พร้อมทั้งแนวทางระยะสั้น คือ ให้บีทีเอสดำเนินการดังนี้ 1.ดำเนินการจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยาย ที่วันนี้โดยสารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2.ผลักดันให้มีการหารายได้จากการดำเนินการสถานีส่วนต่อขยาย

“ก็ยังอยากเห็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของรัฐบาล และเป็นกำลังใจให้นายกฯ ในการที่จะเห็นประโยชน์ของประชาชนมาก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอฝากข้อคิดไว้ว่า คนมักจะจำสิ่งที่เราทำไว้ ไม่ได้จำตัวเราสักเท่าไหร่ สิ่งที่เราทำและเกิดผลตามมาคือสิ่งที่คนจะจำ ดังนั้นจึงขอให้นายกตัดสินใจให้ถูกต้อง และผลักดันให้ ครม. ส่วนใหญ่ มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกับที่เราเสนออยู่” นายชาลี กล่าว

นายชนินท์ กล่าวว่า ในฐานะฝ่ายค้านไม่สามารถควบคุมการทำงานของ ครม.ได้ แต่พูดให้เสียงดังขึ้นได้ ซึ่งหาก ครม.จะอนุมัติเรื่องนี้ก็ต้องใช้เสียงเกินครึ่งของ ครม. อาจสามารถรวมเสียงคัดค้านของพรรค ภท.พร้อมทั้งอยากเรียกร้องไปยังพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้ชัดเจนในจุดยืน และร่วมกดดันเรื่องนี้ด้วย

“รถไฟฟ้าเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคมที่แพงมาก คนมีกำลังซื้อเท่านั้นที่จะจ่ายค่ารถไฟฟ้าได้ ซึ่งผิดหลักการการพัฒนาเมืองทั้งหมด จึงมองว่าการรถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะ ต้องสะดวกและราคาถูก คือมีตั๋วร่วม เชื่อมต่อทั้งระบบ คือมีราคาที่ประชาชนจ่ายได้อย่าง 20 บาท” นายชนินท์ กล่าวและว่า พรรค พท.ยืนยันว่า หากมีการผ่านมติ ครม. ไม่ว่าใครจะยกมือบ้าง เรื่องนี้น่าจะต้องถึงกระบวนการศาล หรือกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลทบทวนให้ดีก่อนลงมติอนุมัติเรื่องนี้

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image