เช็กกระแส ‘บิ๊กตู่’ ชิง ‘ยุบสภา’ หนี ‘ซักฟอก’

รายงานหน้า 2 : เช็กกระแส ‘บิ๊กตู่’ ชิง ‘ยุบสภา’ หนี ‘ซักฟอก’ 

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามมาตรา 151 ให้เร็วที่สุด หลังเปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 22 พฤษภาคม เพื่อไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชิงยุบสภาหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต
และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ผมคิดว่าตัวนายกฯเองคงปรารถนาจะอยู่นานที่สุด อยู่ให้ครบวาระ แต่ปัจจัยต่างๆ ที่จะเป็นเหตุของการยุบสภาก็ไม่ได้มาจากตัวนายกฯ แต่มาจากการที่รัฐบาลสามารถที่จะมีเสียงในสภาเพียงพอที่จะทำให้การบริหารบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้หรือไม่ นี่เป็นจุดที่สำคัญที่สุดว่าเสียงในสภาจะเป็นเสียงสนับสนุนรัฐบาลมากพอหรือไม่

Advertisement

ส่วนปัจจัยเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายลูกว่าจะเสร็จหรือไม่นั้นไม่น่าที่จะเป็นข้ออ้างหรือเป็นเหตุที่เป็นปัจจัย เพราะถึงแม้กฎหมายลูกพิจารณาไม่เสร็จ รัฐบาลเองก็มีทางออก ไม่ว่าจะเป็นการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เอง หรืออาจจะขอให้ทาง กกต.ออกคำสั่งหรือประกาศที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขไปแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่สามารถคุมเสียง ส.ส.ในสภา ในขณะนี้ผมก็ดูว่าอยู่ในภาวะไม่มั่นคง ยกตัวอย่างจากเรื่องของการที่กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาและไม่มีการประกาศตัวชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายใด พร้อมที่จะโหวตไปทางใดทางหนึ่งก็ได้

ปัจจัยต่อไปคือ ปรากฏการณ์ของการเลือกประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญแก้ไขกฎหมายลูก แม้พรรค พปชร.จะวางตัวไว้ว่าจะให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นประธาน กมธ. แต่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็ร่วมมือกับฝ่ายค้านในการโหวตคนของพรรค ปชป.ขึ้นมาเป็นประธาน กมธ.แทน เท่ากับว่าพรรคร่วมรัฐบาลเองไม่ได้ฟังพรรค พปชร.แล้ว หรืออะไรที่เห็นต่างก็กล้าที่จะแสดงออกที่ชัดเจน รัฐบาลก็อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง แต่จังหวะเวลาดังกล่าวจะไปถึงจังหวะไหนที่จำเป็นต้องมีการยุบสภาหรือไม่นั้นก็คงจะเป็นจังหวะเวลาที่สภาเริ่มมีการประชุมและเริ่มมีการเสนอกฎหมายสำคัญต่างๆ เข้าสภา มันยังไม่เกิดขึ้นช่วงนี้ มันจะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤษภาคมไปแล้ว

สำหรับงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลที่จัดขึ้นกับการกระชับความสัมพันธ์คิดว่าเป็นหน้าฉากที่แสดงถึงความสมัครสมานสามัคคีกัน แต่หลังฉากคิดว่าทุกคนคิดในลักษณะตัวใครตัวมันอยู่แล้ว ไม่มีใครคิดที่จะอยู่ด้วยกันตลอดไป เขาจะคิดถึงหนทางที่สามารถไปต่อและสามารถที่จะเกิดผลดีต่อพรรคของเขาเองมากกว่า ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเองคิดว่าเขาก็รอจังหวะโอกาส คือ ก็อยู่กันไป แต่ถ้าในจังหวะโอกาสใดที่ออกแล้วเกิดความได้เปรียบ ในจังหวะนั้นก็พร้อมที่จะออก

Advertisement

ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เรื่องนายกฯดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี จะมีผลต่อการตัดสินใจของนายกฯในการยุบสภาหรือไม่นั้น มองว่าการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ก็ยังเป็นประเด็น ยังมองแตกต่างกันได้หลายแบบว่าจะครบวาระเมื่อไร ตราบใดก็ตามถ้ายังไม่มีใครชี้ออกมาว่าเป็นอย่างไรก็จะเป็นเรื่องซึ่งตัวนายกฯเอง ยังอาศัยโอกาสดังกล่าวดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แต่ก็เป็นประเด็นทางการเมืองที่ถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปโจมตีว่านายกฯดำรงตำแหน่งโดยผิดต่อสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงประเด็นการโจมตีทางการเมืองเท่านั้น และประเด็นดังกล่าวจะแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม ถ้าหากยังไม่มีอะไร คงจะต้องมีผู้ที่ยื่นถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ในประเด็นดังกล่าว กว่าศาลจะชี้ก็ใกล้มากๆ ที่จะครบวาระ 4 ปีอยู่แล้ว ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในช่วงสมัยประชุมหน้า พรรคฝ่ายค้านเองสามารถยื่นได้ทันทีเมื่อสภาเปิดการยื่นดังกล่าวจะมีผลทำให้นายกฯไม่สามารถยุบสภาได้ต้องรอการอภิปรายและลงมติอย่างเดียว จังหวะเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงอันตรายที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ตั้งแต่จัดตั้งมาเพราะจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยมีการลงมติในจังหวะเวลาที่รัฐบาลไม่รู้ถึงเสียงสนับสนุนของฝ่ายตัวเองว่ามีเท่าไร และสามารถที่จะมีการถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลได้ตลอดเวลา ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะฉะนั้น หลายคนจึงประเมินว่าอาจจะมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการยุบสภาก่อนที่จะเปิดสมัยประชุมสภาเพื่อหลบหลีกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่หากดูถึงลักษณะการบริหารทั้งหมดของนายกฯ ก็เชื่อว่าคงเลือกที่จะไปเสี่ยงตายเอาดาบหน้ามากกว่าที่จะยุบสภาเพื่อหนี

การยุบสภาในช่วงนี้จะเป็นความเสียเปรียบ ยุบแล้วอาจจะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาล การรอเพื่อที่จะไปยุบสภาในภายภาคหน้าหรือรอให้สถานการณ์หลายๆ อย่างคลี่คลายก็ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลจะได้เปรียบมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะประชาชนก็จะยิ่งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ได้มากขึ้น ความเบื่อหน่ายรัฐบาลก็มีมากขึ้น เพราะฉะนั้น การยุบสภาในช่วงปัจจุบันแม้ว่าจะเสียเปรียบ แต่ถือว่าเสียเปรียบน้อย และมีโอกาสพลิกความเสียเปรียบมาเป็นความได้เปรียบได้ เพราะยังมี ส.ว.สนับสนุนในการเลือกนายกฯอยู่

แต่หากไปยุบสภาในโอกาสหน้า สมมุติว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น โดย ส.ว.ไม่มีสิทธิในการเลือกนายกฯ ก็เป็นความเสียเปรียบอย่างหนึ่ง และในกรณีที่ผลงานของรัฐบาลที่ไม่เป็นที่พอใจของประชาชนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งเสียเปรียบมากขึ้น เพราะฉะนั้นยุบสภาช้ายิ่งเสียหายต่อรัฐบาลชุดนี้

———————

วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร

ต้องกลับไปดูในเชิงหลักการก่อนว่า การยุบสภา คือไพ่ของฝ่ายรัฐบาล เรียกว่าเป็นการรื้อกระดานใหม่ ซึ่งการที่รัฐบาลเลือกจะใช้ไพ่ใบนี้ คือการชิงความได้เปรียบ ก่อนคะแนนเสียงของตัวเองจะลดลงจึงชิงจังหวะยุบสภาก่อนแล้วเลือกตั้งใหม่ในขณะที่ตัวเองบาดแผลยังไม่เยอะ นี่คือหลักการโดยพื้นฐาน ถ้าหากฝ่ายค้านโหวตให้กฎหมายเราไม่ผ่าน เราก็จะยุบสภา ต้องไปเลือกตั้งใหม่ เป็นอาวุธของฝ่ายรัฐบาล

ประเด็นคือรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 2562 คืออยู่มาประมาณ 3 ปีกว่า แต่ถ้านับกันตามจริง รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาเกือบ 8 ปีแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องไปเถียงกันอีกว่า 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ ต้องจบตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้หรือไม่ การที่รัฐบาลอยู่มาถึง 2 สมัย ถือว่ายาวนานมากในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีรัฐบาลที่นายกฯคนเดียวกันอยู่ยาวขนาดนี้แค่ไม่กี่คน ซึ่งการที่ยิ่งอยู่นานบาดแผลยิ่งเยอะ มีจุดที่เปิดช่องให้กลุ่มต่างๆ โจมตีได้มากขึ้น

ฉะนั้น ไพ่ของการยุบสภาจึงมีความเป็นไปได้ในการยุบสภาก่อนครบวาระ แต่ปัจจัยที่ผมพยายามบอกคือ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากศึกซักฟอก เพราะหากดูจากผลลัพธ์จริงๆ ศึกซักฟอกไม่ได้กระทบต่อตัวรัฐบาลมากนักการยุบสภาครั้งนี้ ปัจจัยจึงมาจากความเหนียวแน่นในกลุ่มของรัฐบาลเอง ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐที่แตกไปเป็นพรรคอื่น อย่างพรรคเศรษฐกิจไทย และพรรคร่วมรัฐบาล

กรณีพรรคร่วมรัฐบาลนัดดินเนอร์ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เห็นภาพลักษณ์ แต่แก้วที่ร้าวแล้ว จะกลับมาประสานอย่างเดิม คงไม่ได้ แน่นอนว่าในฐานะรัฐบาล ทุกคนก็ต้องยิ้มเข้าหากันแล้วบอกว่า รัฐบาลยังเดินต่อไปได้ แต่เราลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสภา ทั้งเรื่องการเลือกตั้งซ่อม ทั้งการเลือกประธานกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะพบเห็นความขัดแย้งเต็มไปหมดการยุบสภาจึงเป็นเครื่องมือในการรวมกลุ่มของฝ่ายรัฐบาลมากกว่า

ประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตัวเลขที่พูดออกมาคือ 260 ว่าจะสนับสนุนนายกฯถึง 260 เสียงหรือไม่ แน่นอนว่าพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย หรือพรรคอื่นๆ ก็น่าจะไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลอยู่แล้วแต่กลุ่มของพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากความขัดแย้งของพรรคพลังประชารัฐนี้ ที่จะกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญ ว่าจะไปทางไหน ท้ายที่สุด เราก็เข้าใจกันดีว่า พรรคนี้เป็นของกลุ่มเดียวกัน กลุ่มที่จัดตั้งรัฐบาลก็ยังอยู่ในกลุ่ม 3 ป. อย่างไรเขาก็คงประคับประคองกันไป แต่จะไปได้จนครบวาระ 4 ปีหรือไม่ อาจจะต้องลำบากมากเพื่อให้ไปต่อได้ถึงขนาดนั้น

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

คิดว่าเป็นการประเมินสถานการณ์จากตัวเลข ส.ส.ที่อยู่ในซีกรัฐบาล ส่วนตัวคิดว่าในกลุ่ม 3 ป. และพรรคร่วมน่าจะมีความขัดแย้งกันพอสมควร โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ซึ่งจะกลายเป็นตัวแปรหลักได้หมด ไม่ว่าจะไปยืนอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จากจุดนี้คิดว่าจะทำให้รัฐบาลต้องประเมินว่า ถ้าเกิดอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในพฤษภาคมนี้ แล้วไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงข้างมากได้ การตัดสินใจยุบสภาจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะไม่อยากให้รัฐบาลเกิดภาพที่รัฐบาลแพ้โหวตกลางสภา ถ้าไม่สามารถควบรวมควบคุมเสียงข้างมากเอาไว้ได้ เป็นการประเมินแค่นั้นเอง เพราะว่าถ้าดูสถานการณ์ตอนนี้ผมคิดว่ามันเห็นรอยร้าวชัดเจนมากขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ และท่าทีของ ร.อ.ธรรมนัสที่มีความแข็งกร้าวมากขึ้นตามลำดับ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจะต้องนัดกระชับมิตรทานข้าวกับพรรคร่วมเพื่อเช็กคะแนนให้ชัวร์ ว่าจะไปต่อหรือหยุดแค่นี้

พรรคภูมิใจไทยเป็นตัวแปรหลัก เพราะผมเข้าใจว่าพรรคภูมิใจไทยน่าจะเป็นพรรคที่ตอนนี้ค้ำบัลลังก์รัฐบาล และอาจจะเป็นพรรคที่อาจจะไปคุยกับกลุ่มธรรมนัส หรืออาจจะดึงกลุ่มอื่นๆ เข้ามาเพื่อที่จะต่ออายุรัฐบาลเพราะศักยภาพพรรคพลังประชารัฐผมคิดว่าตอนนี้ไม่เหลือแล้ว พรรคแตกเป็นเสี่ยงๆ แล้ว พรรคที่จะค้ำจุนรัฐบาลได้คือพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่แปลก สัญญาณ 3 ป. ต้องนัดทานข้าวด่วน

ส่วนปัจจัยในการยุบสภาอันดับแรก คือ คณิตศาสตร์การเมือง นั่นคือเสียงสนับสนุนรัฐบาล อันดับที่สองคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน กรณีค้ามนุษย์จะเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ถ้าพรรคฝ่ายค้านเอามาอภิปรายต่อในครั้งนี้ เพราะอย่าลืมว่าตอนนั้นเราเห็นคนในสังคม นักการเมือง เอ็นจีโอ นักวิชาการและสื่อมวลชน เริ่มไปขุดคุ้ยกระบวนการค้ามนุษย์ และถ้าเป็นแบบนี้ สื่อสารมวลชนสนใจ ผมว่ามีผลต่อจิตวิทยาการเมืองพรรคร่วมแน่นอน ซึ่งอาจจะทำให้เขาตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งได้ถ้าเกิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ตอนนี้ความได้เปรียบรัฐบาลที่มีอยู่คือฐานะที่เป็นพรรครัฐบาลแค่นั้นเอง ในขณะที่อย่างอื่นเกิดปัญหารุมเร้ารอบด้านไม่ว่าจะเป็นวิกฤตน้ำมัน การบริหารล้มเหลว ความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ ในความได้เปรียบคือมีกลไกรัฐเท่านั้น อย่างอื่นมีภาวะที่สุ่มเสี่ยงมาก ยิ่งราคาน้ำมันขึ้นขนาดนี้ คิดว่าจะสร้างแรงกระทบแรงกระเพื่อมกับรัฐบาลมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image