‘จูดี้’ถกตำแหน่งพงส.ตามคำสั่งคสช. ด้าน’ส.พนักงานสอบสวน’รวมตัวอาทิตย์นี้

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ป็นประธานประชุมคณะทำงานปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ให้สอดคล้องกับโครงสร้างและระบบการบังคับบัญชาของ ตร. โดยใช้เวลาประชุมเพียง 30 นาที

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวภายหลังประชุมว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 7/2559 ปรับตำแหน่งงานสอบสวน ตร. มีเวลา 90 วัน ในการปรับระบบตำแหน่งใหม่ ให้เหมาะสม สร้างบ้านที่เหมาะสมให้พนักงานสอบสวนที่มีอยู่ กว่า 10,000 คน โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีวัตถุประสงค์สำคัญว่าต้องเพิ่มประสิทธิภาพงานสอบสวนในระดับสถานีตำรวจให้มีคุณภาพขึ้น ประชาชนไว้วางใจเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

“เราพิจารณาเรื่องขวัญกำลังใจของพนักงานสอบสวนด้วย มองว่าเมื่ออยู่ในโรงพักเดียวกัน ทุกสายงาน ทั้งปราบปราม สืบสวน จราจร สอบสวน ต้องทำงานร่วมกัน ช่วยกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคุยกันถึงการเชื่อมโยงงานทะเบียนประวัติอาชญากร นิติเวช บูรณาการอย่างไร คุยในคราวนี้เลย วันนี้ตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม ให้ตัวแทนพนักงานสอบสวนจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค (บช.ภ.) ต่างๆ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เกิดความพึงพอใจจากพนักงานสอบสวน รวมทั้งตำรวจสายงานอื่นๆ ที่ต้องทำงานร่วมกัน จุดประสงค์หลักคือเพิ่มประสิทธิภาพงานสอบสวน สืบสวน อำนวยความยุติธรรม คลี่คลายคดี จับคนร้ายได้เร็ว เป็นที่พึ่งของประชาชนได้” รอง ผบ.ตร.กล่าว

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวต่อว่า คำสั่งคสช.ถือเป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ ต้องทำความเข้าใจนั่งคุยกับพนักงานสอบสวนทั้ง10,000 นาย และตำรวจอีก 200,000 นายทั่วประเทศ โดยจากนี้จะเชิญตัวแทนพนักงานสอบสวนมาร่วมกันระดมความคิด ออกแบบแนวทางให้สอดคล้องคำสั่ง คสช.

Advertisement

“ยอมรับว่ามีพนักงานสอบสวนบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจ เป็นปัญหาบ้าง บางส่วนยังไม่เข้าใจเจตนา แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่เข้าใจการเปลี่ยนผ่านและยึดถือประโยชน์ส่วนรวมว่าเป็นการทำเพื่อแก้ปัญหา หวังให้งานสอบสวนตำรวจมีประสิทธิภาพ ให้ความยุติธรรมทางอาญา คิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องดี แต่มีฝ่ายที่ยังไม่เห็นด้วย แต่ ตร.พร้อมรับฟังข้อคิดความเห็น ตร.พยายามดูแลทุกคน เราบ้านใหญ่ เราให้ความสำคัญคนเห็นต่าง รับฟังทุกคน อย่างไรก็ตามขณะนี้การเปลี่ยนผ่านยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ย้ำว่าเราเปลี่ยนเพื่อให้ทุกองคาพยพ สืบสวน สอบสวน ปราบปราม เดินไปด้วยกัน”รองผบ.ตร.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นการลดสิทธิประโยชน์ ที่พนักงานสอบสวนบางกลุ่มกังวล รองผบ.ตร.กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการลิดรอนอะไร สิทธิที่เคยได้ตอนนี้ยังได้รับเหมือนเดิม และหลังจากนี้มีการคุยกันว่าจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ด้วยซ้ำ โดยต้องประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์สายงานอื่นๆ ทั้งนี้ มีการตั้งคณะทำงานย่อย มี พล.ต.ท.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นหัวหน้า เชิญตัวแทนพนักงานสอบสวนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง คนที่เคยยื่นหนังสือร้องเรียน จะเชิญมาพูดคุยกัน หารือแนวทางให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่ากระบวนการยุติธรรมชั้นต้นเชื่อถือได้ เชื่อว่าตำรวจทุกคนเข้าใจว่า ตร. ทำอะไรอยู่ แต่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านต้องมีการทำความเข้าใจบ้าง

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวอีกว่า จากนี้ต้องมีกระบวนการกำหนดตำแหน่ง นำเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจ (อนุ ก.ตร.) สำหรับตำแหน่งระดับนายพล ต้องเข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ต้องใช้เวลาพอสมควร เมื่อกำหนดตำแหน่งแล้วเสร็จ จะแต่งตั้งใน ก.ตร. ซึ่ง ผบ.ตร.เร่งรัดให้ทันการแต่งตั้งวาระประจำปี ขณะเดียวกันต้องวางกฎกติกาให้ชัดเจนเป็นธรรม ไม่ให้ใครเข้ามาแทรกแซงกระบวนการทำงานของตำรวจ

Advertisement

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษก ตร. กล่าวย้ำว่า ยืนยันว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้เพื่อพัฒนาให้งานสืบสวนสอบสวนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อเรียกเพื่อให้การบริหารบุคคลคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ให้ทำงานสืบสวนควบคู่สอบสวน เดิมพนักงานสอบสวนแยกสายงานเป็นแท่ง มีปัญหาในการเติบโตข้ามสายงาน มีปัญหาในการบริการงานบุคคล แต่คำสั่งนี้ปลดเดดล็อก แก้ปัญหา แต่กลับมีพนักงานสอบสวนบางกลุ่มไม่เข้าใจ เฉไฉเอาเรื่องนี้มีอ้าง มีเจตนาแอบแฝง อยากให้กลุ่มนี้ทบทวน เป็นตำรวจต้องมีวินัย มีระเบียบ กฎหมายอยู่ หากจะชุมนุมรวมตัวให้คำนึงด้วยว่ามี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะอยู่ ทั้งนี้ขอให้พนักงานสอบสวนเชื่อมั่นในผู้บังคับบัญชา ว่าสิ่งที่ทำเพื่อประโยชน์ระยะยาว ให้ตำรวจที่ทำงานในสายสืบสวนมีโอกาสเติบโต และให้การบังคับบัญชาในสถานีตำรวจคล่องตัวมีประสิทธิภาพในเชิงบริหารบังคับบัญชา

ขณะที่ พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.ท่าพระ ในฐานะเลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน กล่าวว่า ส่วนตัวทำงานสอบสวนมาตลอดชีวิตราชการ เป็นครูอาจารย์งานสอบสวน เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ เชื่อว่าจะทำให้งานสอบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น งานสอบสวนต้องควบคู่งานสืบสวน การอำนวยความยุติธรรมชั้นต้นจะมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มองว่ากลุ่มพนักงานสอบสวนที่ออกมาเคลื่อนไหว ส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง ไม่มั่นใจว่าเมื่อเปลี่ยนแล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่บางส่วนมีเจตนาแอบแฝง อยากแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่คำตอบของงานอำนวยความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานสมาคมพนักงานสอบสวน นัดประชุมพนักงานสอบสวนเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image