เดินหน้าชน : ชาวกรุงตัดสิน โดย นายด่าน

ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กลับมาคึกคัก หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคาะวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และสมาชิกสภา กทม. (ส.ก.)

เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี หลังการหย่อนบัตรลงคะแนนล่าสุด วันที่ 3 มีนาคม 2556

จนถึงขณะนี้มีผู้ที่ประกาศตัวจะลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว 8 คน ไล่เรียงมาตั้งแต่คนที่ประกาศตัวคนแรก 1.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ลงในนามผู้สมัครอิสระ 2.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากพรรคประชาธิปัตย์ 3.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พรรคก้าวไกล 4.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. ผู้สมัครอิสระ

5.สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ผู้สมัครอิสระ 6.ประยูร ครองยศ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. พรรคไทยศรีวิไลย์ 7.ศิธา ทิวารี อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย

Advertisement

และ 8.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯกทม. เป็นรายล่าสุดในนามอิสระ ที่ประกาศตัวขอเป็นทางเลือกของชาว กทม. ที่จะกลับมาสานต่อนโยบายที่ทำค้างอยู่ หากได้รับเลือกก็จะสามารถทำงานต่อเนื่องได้ในทันที โดยชูนโยบาย “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ”

กว่าจะถึงวันเปิดรับสมัครคาดจะมีผู้ที่ลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.เพิ่มอีกหลายราย และน่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้สมัครจำนวนมากกว่าหลายครั้งที่ผ่านๆ มา

โดยเฉพาะแคนดิเดตที่เป็น “บิ๊กเนม” ที่มีโปรไฟล์ไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นประวัติการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน

Advertisement

จะต้องต่อสู้ขับเคี่ยวกันในนโยบายที่พัฒนามหานครกรุงเทพแห่งนี้

แม้กรุงเทพฯจะพัฒนาไปมากจนกลายเป็นมหานครระดับโลก แต่ก็ยังมีปัญหาใหญ่ๆ ที่สั่งสมมานาน

ทั้งปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายในคราวที่ฝนตกหนัก ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม และยังไม่รวมปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ด้วย

ที่ผ่านมาว่าที่ผู้สมัครฯหลายคนได้โชว์วิสัยทัศน์ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว แต่จะถูกใจคนกรุงเทพฯหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

อย่าง “ดร.เอ้-สุชัชวีร์” ชูนโยบายเดินหน้าการเปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพฯเรื่องปากท้อง สาธารณสุข และการเปลี่ยนเมือง ในการแก้ปัญหาจราจรแบบเบ็ดเสร็จ การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำเน่า และน้ำหนุนซ้ำซาก การเปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่และปลอดภัยสำหรับทุกคน

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชู 200 นโยบาย ด้วยแนวคิดกรุงเทพฯ 9 ดี ครอบคลุมความต้องการและความจำเป็นของชาวกรุงเทพฯ 9 ด้าน ได้แก่ ปลอดภัยดี เดินทางดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี โครงสร้างดี บริหารจัดการดี เรียนดี และเศรษฐกิจดี

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ชูแนวทาง “ผู้ว่าฯพร้อมชน หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม” การสร้างเมืองที่คนเท่าเทียมกันภายใต้
12 นโยบายหลักที่จะประกาศออกมา

รสนา โตสิตระกูล ชูนโยบาย ลอกคลองทุกสาย ระบายน้ำท่วม จ้างคนว่างงานขุดคลอง แก้น้ำท่วม เพิ่มพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ มีรายได้

ส่วน สกลธี ภัททิยกุล เน้นขับเคลื่อนกรุงเทพฯให้ดีกว่านี้ เป็นเมืองแห่งความสุข มีนโยบายหลัก 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการขนส่ง จราจร ล้อรางเรือ ด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผังเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม

แม้ผลโพลในทุกสำนัก ดร.ชัชชาติจะมีคะแนนนำ แต่ยังต้องขับเคี่ยวกันเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนนับจากนี้

ว่าสุดท้ายแล้วนโยบายของใครจะถูกใจคนกรุงเทพฯมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image