ครอบครัวการเมืองกับประชาธิปไตย : ข้อสังเกตเล็กๆ

ในการศึกษาการเมืองมีหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจและดูเหมือนจะยังไม่มีข้อสรุปอะไรที่ตายตัวมากนัก นั่นก็คือเรื่องของ ความสัมพันธ์ในเรื่องของครอบครัวการเมือง กับ ประชาธิปไตย ว่าจะมีความสัมพันธ์ในแบบไหน

มักจะเชื่อกันว่าครอบครัวการเมือง ทั้งที่สืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น ที่เรียกว่าแนวดิ่งแนวแคบ กับที่แผ่อำนาจไปเป็น “บ้าน” เช่น บ้านใหญ่ ที่เรียกว่าแนวระนาบ หรือแนวขยายข้าง จะเป็นโทษกับประชาธิปไตย และทำให้คุณภาพของผู้นำลดลง แต่ถ้าดูคร่าวๆ จากสถิติทั่วโลกแล้วทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศหยุดพัฒนาแล้วที่เราคุ้นๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีระบบครอบครัวการเมืองทั้งนั้น (บ้างก็เรียกว่า ตระกูลการเมือง บ้างก็เรียกว่าราชวงศ์การเมือง)

ตั้งแต่ประเภทการสืบทอดอำนาจจากรุ่นลูกหรือมีเครือญาติอยู่ในวงการเมืองพร้อมกันหลายๆ คน

ดังนั้น การจะบอกว่าครอบครัวการเมืองเท่ากับความไม่เป็นประชาธิปไตยจึงค่อนข้างเป็นการด่วนสรุปมากเกินไป เพราะต้องคำนึงถึงบริบทและเงื่อนไขอย่างจริงจังว่าทำไมประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้วก็มีครอบครัวการเมือง ประเทศประชาธิปไตยมีตำหนิก็มีครอบครัวการเมือง และประเทศเผด็จการก็มีครอบครัวการเมือง มีงานวิจัยที่ชี้ว่าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละสิบของผู้นำทั่วโลกนั้นมาจากครอบครัวการเมือง และทวีปเอเชียไม่ใช่ทวีปที่มีผู้นำทางการเมืองมาจากครอบครัวการเมืองมากที่สุดอีกต่างหาก

Advertisement

นอกจากนี้ ประสิทธิภาพในการปกครองของระบบครอบครัวการเมืองก็อาจจะไม่ได้ด้อยกว่ารุ่นพ่อเสมอไป อย่างกรณีของสิงคโปร์ก็มักถูกนำมากล่าวถึงบ่อยๆ

การสืบทอดอำนาจในระบบที่ต่างกันน่าจะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่สำคัญ และเอาเข้าจริงจะเรียกว่าการสืบทอดอำนาจก็อาจไม่ง่ายนักเพราะไม่มีหลักประกันว่าการสืบทอดอำนาจของครอบครัวการเมืองจะทำได้อย่างราบรื่น การรักษาอำนาจและขยายฐานอำนาจของครอบครัวการเมืองขึ้นกับเงื่อนไขและปัจจัยนานับประการ

สิ่งที่สำคัญจริงๆ ซึ่งไม่มีการพูดถึงกันมากก็คือในงานวิชาการต่างประเทศ รวมทั้งข้อสังเกตเรื่องครอบครัวการเมืองมักจะมองแต่เรื่องของตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะในโลกประชาธิปไตย หรือโลกเผด็จการ ในความหมายของนักการเมือง ครอบครัวการเมือง หรือตัวเผด็จการ

Advertisement

ผมเห็นว่าสิ่งที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญคือครอบครัวการเมืองในแบบที่มีทั้งนักการเมือง และข้าราชการประจำ ซึ่งความจริงแล้วเป็นเครือข่ายที่ใหญ่กว่าการมองนักการเมืองอย่างเดียว ครอบครัวการเมืองอาจเป็นอยู่ในวงของข้าราชการประจำด้วย และก็อาจจะเป็นครอบครัวที่มีการขยายไปทั้งในวงการเมือง วงราชการ และวงการธุรกิจอีกต่างหาก และคำว่าเครือญาติยังมีการขยายตัวไปถึงการแต่งงานระหว่างกัน

แต่ถ้าไม่ได้แต่งงาน หรือเป็นญาติกันแล้วก็คงจะขยายไปสู่ระบบ “เครือข่าย” เสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการมาจากโรงเรียนเดียวกัน เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน หรือแม้กระทั่งมาจากการไปเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ที่วัดเดียวกัน รวมทั้งเป็นลูกน้องของนายคนเดียวกัน (ซุ้ม)

แม้จะเป็นเรื่องของการสมรสและสายโลหิต แต่เรื่องใหญ่สำหรับผมก็คือผมไม่อยากจะใช้คำว่าตระกูล เพราะคิดว่ามันเฉพาะเจาะจงมากเกินไป คำว่าครอบครัวมันให้ความหมายที่ดูจะยืดหยุ่นและกว้างขวางกว่า เพราะมันไปเชื่อมต่อกับเรื่องของเครือข่ายได้ในระดับหนึ่ง ไม่ได้แยกขาดอย่างสมบูรณ์ เพราะคำว่าเครือข่ายก็ยังใช้คำที่เชื่อมต่อได้อย่างแทบจะพอดิบพอดี เช่น คำว่า ทายาท พี่น้องที่ไม่ได้มาจากสายโลหิต

ผมจะไม่ขอพูดเรื่องครอบครัวการเมืองในประเทศไทย เพราะเดี๋ยวจะตีความไปต่างๆ นานา แต่จะขอยกตัวอย่างเรื่องราวในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาพูดคุยกันสักหน่อย

ในประเด็นแรก มาจนถึงวันนี้เรื่องราวของทายาทจากครอบครัวนักการเมือง หรือผู้มีอำนาจทางการเมืองนั้นก็ยังมีบทบาททางการเมืองต่อเนื่องกันมา อย่างน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเกือบจะทุกประเทศก็มีเรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้น แต่จะเอาประเด็นล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ปีหน้ามาคุยกันสักหน่อย

ในกรณีของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา

กรณีของฟิลิปปินส์ ตอนนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ว่าที่ผู้สมัครประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี (ซึ่งเลือกตั้งแยกกัน แต่ต้องมาทำงานด้วยกัน) ในรอบที่จะถึงนี้ก็มาจากครอบครัวการเมืองทั้งสิ้น คือ ว่าที่ผู้สมัครประธานาธิบดีจะเป็นลูกของอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสผู้อื้อฉาว มาร์กอสเคยเป็นนักการเมืองยอดนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ต่อมาเป็นบิดาแห่งการสถาปนาระบอบเผด็จการในคราบนักการเมือง และครองอำนาจยาวนานจนประชาชนต้องออกมาขับไล่

แถมว่าที่ผู้สมัครรองประธานาธิบดีก็เป็นลูกสาวของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือดูแตร์เต ซึ่งเธอเพิ่งจะชนะการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Davao ที่ดูแตร์เตเคยเป็นมาก่อน

อย่างไรก็ตาม การจะบอกว่าครอบครัวการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดีทั้งหมดก็เป็นไปไม่ได้แม้กระทั่งในกรณีของฟิลิปปินส์ เพราะอาคีโน ทั้งแม่และลูกก็มาจากครอบครัวเดียวกัน คือ เป็นภรรยาของอดีตผู้นำฝ่ายค้าน และต่อมาอาคีโนผู้ลูกก็ทำหน้าที่ได้ไม่เสียหาย

ในฟิลิปปินส์นั้น ครอบครัวการเมืองมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจเมื่อปี ค.ศ.1988 มีผู้ว่าการรัฐร้อยละสี่สิบเอ็ดมีญาติอย่างน้อยคนหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในหน่วยการปกครองนั้น ขณะที่สามสิบปีต่อมาคือ ค.ศ.2019 จำนวนเพิ่มเป็นเท่าตัวคือ ร้อยละแปดสิบ ในส่วนของนายกเทศมนตรีนั้น ร้อยละสี่่สิบในปี 1988 มีสมาชิกครอบครัวอยู่ในองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นร้อยละสี่สิบ และเพิ่มเป็นร้อยละห้าสิบสามในปี ค.ศ.2019

ขณะที่อินโดนีเซียนั้นแม้จะเชื่อว่าตอนนี้มีความเป็นประชาธิปไตยที่เปลี่ยนไปในทางก้าวหน้าจากยุคครอบครัวการเมืองตั้งแต่ ซูการ์โน (เมกาวาตีเป็นลูก) และซูฮาร์โต (ลูกชายถูกวางตนเป็นทายาท มีอิทธิพลแต่เมื่อพ่อถูกโค่นล้มก็รักษาอำนาจไม่ได้ ต้องไปอิงกับลูกน้องของพ่อแทน) มาสู่ยุคโจโกวีซึ่งมีภาพลักษณ์ของการเป็นนักธุรกิจขนาดย่อมแล้วเป็นนายกเทศมนตรีจากเมืองเล็กๆ ก่อนจะมาเป็นนายกเทศมนตรีมหานครหลวงจาการ์ตา แล้วก็เป็นประธานาธิบดี ปัจจุบันลูกชายคนกลางที่เคยทำธุรกิจขายแพนเค้กก็ได้รับชัยชนะมาเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Solo ซึ่งเป็นเมืองที่โจโกวีเคยดำรงตำแหน่งมาก่อนจะมาเป็นพ่อเมืองจาการ์ตา

ลูกเขยของโจโกวีเองก็เพิ่งจะได้รับเลือกตั้งในเมืองขนาดใหญ่ชื่อ Medan ซึ่งแปลว่าทั้งสองคนนี้มีแนวโน้มที่จะก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองในระดับชาติเหมือนที่โจโกวีประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่ประชาสังคมก็ออกมาแสดงความกังวลว่าครอบครัวการเมืองจะกลับมามีอิทธิพลในระดับชาติอีกครั้ง

ในประเทศที่ครอบครัวการเมืองมีแนวโน้มว่าจะทำงานนั้น เขาไม่ได้ดูแค่ตัวการส่งทอดอำนาจในระดับชาติ แต่เขาดูความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับระดับชาติด้วย กรณีของอินโดนีเซียมีการศึกษาพบว่าในปี ค.ศ.2013 มีครอบครัวการเมืองที่มีตำแหน่งการเมืองในระดับท้องถิ่นถึงสามสิบเก้าครอบครัวที่ดำรงตำแหน่งระดับเทศบาลชนบท เทศบาลเมือง และจังหวัด ขณะที่ในปี 2018 มีครอบครัวการเมืองถึงหนึ่งร้อยสิบเจ็ดครอบครัวอยู่ในตำแหน่งเหล่านั้น

ในกรณีของกัมพูชา นายกรัฐมนตรีฮุน เซนก็แสดงความจำนงว่าบุตรชายของเขาคือ ฮุน มาเนตจะเป็นทายาททางการเมืองของเขาในระบอบประชาธิปไตยเลือกตั้งที่มีฮุน เซนเป็นผู้มีอำนาจตลอดกาลในประมาณปี ค.ศ.2028 และต้องไม่ลืมว่าในกัมพูชานั้น สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านเองก็มาจากครอบครัวของนักการเมืองมาก่อนเช่นกัน

อีกประการหนึ่งที่เป็นที่สนใจในเรื่องของครอบครัวการเมือง โดยเฉพาะในเอเชียก็คือเรื่องของความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเข้าไปอีกจากเรื่องครอบครัวการเมือง กับการเมืองที่เป็นอยู่ คือลงลึกไปในอีกระดับหนึ่งที่บทบาทของผู้หญิงในทางการเมืองของเอเชียโดยเฉพาะในระดับผู้นำประเทศ ซึ่งมีทั้งที่เป็น ภรรยา ภรรยาหม้าย น้องสาว และลูกสาว ของนักการเมืองชาย ไม่ว่าจะเป็นอินทิรา คานธี ของอินเดีย คอราซอน อาคีโน ของฟิลิปปินส์ เบนาซีร์ บุตโต ของปากีสถาน และออง ซาน ซูจี แห่งเมียนมา

นอกเหนือจากการวิเคราะห์ว่าผู้นำหญิงเหล่านี้ส่วนมากแล้วมักจะมาจากครอบครัวทางการเมือง เว้นไว้แต่ ประธานาธิบดี ไช่ อิง หวิน ของไต้หวัน ผู้นำหญิงเหล่านี้มักจะมาจากประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางเพศมากกว่ามาตรฐานเฉลี่ย ซึ่งในแง่นี้สิ่งที่นำมาสู่ข้อคำถามที่สำคัญก็คือ การที่ผู้หญิงมีตำแหน่งทางการเมืองอาจไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้โดยอัตโนมัติว่าตำแหน่งทางการเมืองนั้นเท่ากับอำนาจทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของผู้หญิงในสังคมนั้น

โดยเฉพาะเมื่อเชื่อมโยงกับพื้นฐานของการมาจากครอบครัวทางการเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งย่อมหมายความพวกเขาล้วนมีตำแหน่งทางสังคมอยู่ในระดับบนอยู่แล้วก่อนเข้าสู่วงการทางการเมือง

ส่วนหนึ่งที่เป็นข้อค้นพบจากการวิเคราะห์ที่ผ่านๆ มาก็คือ การขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของผู้นำทางการเมืองหญิงนั้นมักจะเกิดขึ้นโดยบรรดาผู้สนับสนุนของผู้นำชายที่อาจจะเสื่อมความนิยม ถูกตัดสิทธิ หรือเสียชีวิต บทบาทของผู้นำหญิงเหล่านี้จะมาในภาพของการเป็นผู้ที่ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองมาก่อน

เงื่อนไขสำคัญที่พวกเขาเข้าสู่อำนาจก็เพื่อที่จะสร้างเอกภาพแห่งอำนาจให้กับพรรคการเมือง กลุ่มทางการเมือง หรือขบวนการทางการเมืองที่กลุ่มเหล่านี้อาจจะพังทลายลงได้หากไม่มีตัวตายตัวแทนเข้ามาสืบทอดอำนาจ ความนิยมในบรรดาผู้นำหญิงเหล่านี้จะเกิดขึ้นในลักษณะของการเป็นทายาททางการเมืองของผู้นำชายที่ได้รับความนิยมและมีบุคลิกภาพที่โดดเด่น รวมไปถึงภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ปลดปล่อย หรือกอบกู้ประเทศชาติ และอาจจะสิ้นชีพเพื่อชาติ

ความสลับซับซ้อนของการขึ้นสู่อำนาจในแง่ของการเป็นผู้สืบทอดมรดกทางการเมืองของผู้นำชายนั้นเอาเข้าจริงอาจเกิดขึ้นจากการสนับสนุนช่วยเหลือของความเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่เสียเองในห้วงขณะที่พวกเขาจะขึ้นสู่อำนาจ ในฐานะที่เป็นผู้หญิงพวกเขาจะถูกมองว่าไม่มีความทะยานอยากทางการเมืองเหมือนบรรดาผู้นำชายที่ดูมีความคดโกงร้อยเล่ห์ ผู้นำหญิงจึงดูดีดูไม่มีพฤติกรรมที่ต้องถูกตรวจสอบเท่ากับผู้นำชายที่จะสืบทอดอำนาจซึ่งมักจะต้องถูกเทียบกับบารมีของพ่อตนเอง

ความเป็นผู้หญิงในครอบครัวการเมืองจะมีสถานะที่เป็นแม่ เป็นน้องสาว เป็นป้า ในหมู่ผู้สนับสนุน หรือผู้นำหญิงที่อยู่ในขบวนการต่อต้านรัฐเองที่ถูกปราบปรามก็มักจะได้รับความเห็นใจและสนิทสนมในการเรียกชื่อ และกลายเป็นแต้มต่อทางการเมือง อาทิ ซูจี ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในการต่อต้านรัฐบาลทหารแม้ว่าเธอจะอยู่ในการคุมขังในบ้านเสียเป็นส่วนใหญ่

ในอีกด้านหนึ่งความซับซ้อนในการคงอยู่ของอคติทางสังคมเองก็มีส่วนที่จะทำให้บรรดาผู้นำหญิงที่มาจากครอบครัวทางการเมืองนั้นต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักหน่วงเช่นเดียวกันเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้ว ตั้งแต่ประท้วงบีบให้ลงจนจำคุกอย่างกรณีประธานาธิบดีปาร์คของเกาหลีใต้ และประธานาธิบดีอาร์โรโย่ ของฟิลิปปินส์ หรือไม่ก็ถูกรัฐประหารอย่างซูจี และยิ่งลักษณ์ หรือถูกลอบสังหาร เช่น คานธีของอินเดีย และบุตโตของปากีสถาน

ในการบริหารของผู้นำหญิงเหล่านี้ส่วนหนึ่งพวกเธอถูกคาดหวังให้เป็นสัญลักษณ์มากกว่าทำงานจริง และยังมีผู้นำระดับรองๆ หรือคนรอบตัวที่เป็นผู้ชายมากมายพยายามเข้ามามีอำนาจ ในบางกรณีเมื่อผู้นำหญิงจากครอบครัวการเมืองมีอำนาจ ก็อาจมีความนิยมที่ตกต่ำลงและนำไปสู่การกล่าวหาและการชุมนุมประท้วงขับไล่ที่อ้างอิงกับวัฒนธรรมของการดูถูกผู้หญิง กล่าวคือเมื่อเข้าสู่อำนาจโดยการช่วยเหลือผ่านวัฒนธรรมที่มองผู้หญิงเหล่านี้ว่าเป็นข้อยกเว้นทางการเมือง พอเข้าไปในแวดวงทางการเมืองเองก็จะเจอความเป็นผู้ใหญ่แบบที่อิงกับความเป็นเพศชาย และโครงสร้างทางการเมืองแบบเดิมๆ ที่พวกเขาจะต้องเจอซึ่งท้ายสุดจะนำไปสู่การตกต่ำและสิ้นสุดทางอำนาจ รวมไปถึงการที่ครอบครัวของตัวเอง อาทิ สามี ก็อาจจะเข้าไปพัวพันคดโกงในตำแหน่งหน้าที่ด้วย อาทิ สามีของบุตโต

อย่างไรก็ตาม ก็มีกรณีที่ผู้นำหญิงจากครอบครัวการเมืองนั้นอาจจะกลายเป็นผู้นำที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจเด็ดขาดและละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ในกรณีของนายกรัฐมนตรีศรีลังกา และตำแหน่งพิเศษทางการเมืองของซูจี และก็อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบในที่สุด

นอกจากนี้ ความคาดหวังในช่วงต้นที่ว่าผู้นำหญิงจากครอบครัวทางการเมืองนั้นจะไปยกระดับความเสมอภาคทางเพศอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย หรือเกิดในแง่ความคาดหวังมากกว่าการปฏิบัติ และสุดท้ายเมื่อลงจากอำนาจแล้วสถานะของผู้หญิงในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของผู้หญิงในสังคมนั้นๆ ก็อาจจะไม่เปลี่ยน ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีความมุ่งมั่นจริงใจ แต่สิ่งที่มีการวิเคราะห์กันมาก็คือ โครงสร้างของสังคมนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปมาก ผู้นำหญิงจากครอบครัวการเมืองนั้นเข้ามาด้วยเงื่อนไขเฉพาะที่อาศัยช่องโหว่ของโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมทางเพศนั้นแหละที่เอื้อให้เข้ามาได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรไป และกลายเป็นว่าในระยะยาวพวกเขาเองก็ถูกต่อต้านและบีบให้ออกจากวงอำนาจไปในที่สุด

หมายเหตุ : รวบรวมจาก M.R.Thompson. Dynasties’ Daughters and Martyrs’ Widows: Female Leaders and Gender Inequality in Asia. The Diplomat. 24 Febuary 2022., D.Hutt. Southeast Asia’s Princelings: From Indonesia to Cambodia and beyond. The children of politicians are keeping the family business going-for netter or for worse. The Diplomat. 29 April 2020. J.Emont. In Southeast Asia, Politics are increasingly a family affair. WSJ.com. 30 December 2021.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image