‘ประยุทธ เพชรคุณ’ ชำแหละ รอยต่อกฎหมายปลดล็อกกัญชา 9 มิ.ย.ปลูกเสรี-ทุกคดีหลุดหมด

‘ประยุทธ เพชรคุณ’ชำแหละ รอยต่อ กม.ปลดล็อกกัญชา 9 มิ.ย.ปลูกเสรี-ทุกคดีหลุดหมด
ประยุทธ เพชรคุณ

หมายเหตุนายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นทางวิชาการ ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัว การปลดล็อกกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ ไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานอัยการสูงสุดเเต่อย่างใด

ทันทีที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมาถือว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งในส่วนเนื้อหาของกฎหมายรวมถึงบริบทการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานทั้งหลายในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนหน่วยงานทางการแพทย์และการสาธารณสุข

โดยเฉพาะประเด็นการปลดล็อกกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ หากย้อนไปดูกฎหมายเดิมตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งผู้ใดมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กฎหมายระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มาตรา 76) และผู้ใดผลิต (ปลูกกัญชา) เพื่อจำหน่ายกฎหมายระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 15 ปี และหรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท (มาตรา 75 วรรคสอง) เป็นต้น

ต้องยอมรับว่าทันทีที่มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ดังกล่าว ได้มีการตื่นตัวควบคู่กับการสับสนในแนวทางปฏิบัติในภาคประชาสังคมพอสมควร เช่นเมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดบังคับแล้วกัญชาถูกปลดล็อกออกจากชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ทันทีหรือไม่ หรือประชาชนและผู้สนใจสามารถปลูกกัญชาได้ทันทีหรือไม่ รวมทั้งมีกัญชาไว้ในครอบครองหรือจำหน่ายกัญชาผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นต้นเพื่อความกระจ่างในประเด็นต่างๆ ดังกล่าวจะขอไล่เรียงข้อกฎหมายเรื่องนี้

Advertisement
  • ในประเด็นเเรกที่ว่ากัญชาถูกปลดล็อกออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 หรือไม่

จะเห็นว่า แม้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 4 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดยังคงบัญญัติให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายที่บังคับใช้ใหม่นี้ด้วยมาตรา 29(5) และแม้มาตรา 29(5) จะระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้เพียงพืชฝิ่น โดยไม่ระบุชื่อกัญชาก็ตาม แต่นั่นเป็นเพียงการยกตัวอย่างว่าพืชฝิ่นนั้นจัดอยู่ในรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เท่านั้น เพราะกฎหมายบัญญัติว่า “เช่น” ดังนั้น หากจะดูรายละเอียดว่าอะไรเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 บ้าง ต้องไปดูตามที่ระบุรายละเอียดชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2563 ข้อ 2(1) ซึ่งประกาศดังกล่าวกำหนดให้กัญชา (cannabis) หรือพืชในสกุล cannabis และวัตถุต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง น้ำมัน ให้ถือเป็นพืชกัญชาทั้งสิ้น

หลายท่านอาจสงสัยว่าในเมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำไมกัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่อีก คำตอบง่ายๆ ก็คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปี 2563ที่กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ดังกล่าวไม่ได้ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ด้วย อีกทั้งประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 วรรคสอง ยังบัญญัติให้ การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทใดหรือการเพิกถอนหรือการเปลี่ยนแปลงชื่อยาเสพติดต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. เป็นผู้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้ ต่อมากระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ลงวันที่8 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ปลดกัญชาออกจากชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยประกาศดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และประกาศดังกล่าวได้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนั้น กัญชาจะสิ้นสภาพจากการเป็นยาเสพติดให้โทษนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไปนั่นเอง

ดังนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือแม้ประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับใช้แล้วและขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศปลดล็อกกัญชาออกจากชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันกัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายอยู่ โดยต้องรอให้ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป กัญชาจึงจะถูกปลดชื่อออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อย่างสมบูรณ์ และในเมื่อบทบัญญัติของกฎหมายเป็นเช่นนี้ ประชาชนหรือผู้สนใจคงต้องรอ เเละยังไม่สามารถปลูกกัญชาได้ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความจำนงขอปลูกในครัวเรือนหรือเป็นการขออนุญาตปลูกเพื่อการพาณิชย์หรือการอุตสาหกรรม ทั้งนี้รวมถึงไม่สามารถมีกัญชาไว้ในครอบครองหรือจำหน่ายกัญชา การนำเข้าหรือการส่งออกกัญชาด้วย เพราะทั้งหมดยังถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

Advertisement

จากที่ได้ไล่เรียงมาโดยลำดับจะเห็นได้ว่า เมื่อถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องกัญชาในประเทศไทยเรา และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอีกด้วยเพราะเมื่อมีการปลดล็อกกัญชาโดยสมบูรณ์ กัญชาก็จะไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อีกต่อไป และจะส่งผลทันที ด้านสำนวนคดีต่างๆ ไม่ว่าจะสำนวนคดีที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน หรือชั้นพิจารณาพนักงานอัยการ หรือชั้นพิจารณาของศาลยุติธรรมรวม ทั้งผู้ต้องขังที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำด้วย

กล่าวคือเมื่อมีกฎหมายใหม่ออกมาบัญญัติให้การกระทำเกี่ยวกับกัญชาไม่เป็นความผิดอีกต่อไปต้องถือว่ามีกฎหมายใหม่ออกมายกเลิกความผิดเดิมผู้ต้องหาหรือจำเลยทั้งหมดที่กระทำผิดเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับประโยชน์จากกฎหมายใหม่ดังกล่าว

โดยหากคดีอยู่ในชั้นพิจารณาของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการก็จะมีการสั่งยุติดำเนินคดีหรือในชั้นพิจารณาของศาลก็จะมีการจำหน่ายคดี รวมไปถึงการปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับกัญชา

  • ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ประชาชนหรือผู้สนใจสามารถปลูกกัญชาได้ทันทีหรือไม่

ประเด็นที่ภาคประชาสังคมให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ก็คือตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป หมายความว่าประชาชนหรือผู้สนใจสามารถปลูกกัญชาได้อย่างเสรีใช่หรือไม่

ในประเด็นนี้ถ้าพิจารณาตามประมวลกฎหมายยาเสพติดประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ที่ปลดล็อกกัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้ว ก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไปกฎหมายไม่ถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นข้อนี้เท่าที่ตรวจสอบและสืบค้นพบข้อเท็จจริงว่า เดิมทีเดียวองค์การอาหารและยา (อย.) ได้เตรียมยกร่างพระราชบัญญัติกัญชาและกัญชง พ.ศ. … เพื่อเตรียมเสนอฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาตราเป็นกฎหมายเพื่อให้กัญชาเป็นพืชควบคุมและกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจดแจ้งเพื่อขอปลูกในครัวเรือนหรือการขออนุญาตผลิตนำเข้าส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองกัญชาในเชิงอุตสาหกรรมหรือพาณิชย์ ตลอดจนการกำหนดหลักเกณฑ์การห้ามจำหน่ายกัญชาให้กับบุคคลบางประเภท เช่น บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้ให้นมบุตรหรือสตรีมีครรภ์ ตลอดจนการห้ามใช้กัญชาในเชิงสันทนาการ เว้นแต่ในเขตพื้นที่ที่ได้กำหนด เป็นต้น และล่าสุดทราบว่าฝ่ายนิติบัญญัติโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเองก็ได้เตรียมเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชาและกัญชง พ.ศ. … ในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้สภานิติบัญญัติพิจารณาออกกฎหมายดังกล่าวโดยทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาในสมัยประชุมหน้านี้

แน่นอนว่าหากการพิจารณากฎหมายและออกกฎหมายควบคุมพืชกัญชาของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ทันวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ตรงนี้จะเกิดเป็นประเด็นอย่างแน่นอน เพราะจะไม่มีทั้งหลักเกณฑ์ในเรื่องการจดแจ้งเพื่อที่จะปลูกกัญชาในครัวเรือน หรือการขออนุญาตผลิตนำเข้าส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งกัญชาในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม ประกอบกับสภาพกฎหมายก็ไม่ถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดอีกต่อไป

ดังนั้น ก็เป็นไปได้ที่จะมีประชาชนหรือผู้ที่สนใจในเรื่องกัญชาจะตีความว่าสามารถปลูกกัญชาได้โดยเสรีตามหลักที่ว่า “การปลูกกัญชาสามารถกระทำได้โดยไม่มีความผิดและไม่มีโทษเมื่อไม่มีกฎหมาย” นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image